ตรัง – ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เยี่ยมชมสวนยางพาราของชาวบ้าน ตามโครงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสวนยางพารา ภายใต้สโลแกนที่ว่า “จากกะลาสู่ตะกง คือลมหายใจของชาวตรัง” พร้อมร่วมเต้นลีลาศบนแผ่นน้ำยางสด โดยมีครูสอนลีลาศจากชมรมลีลาศจังหวัดตรัง
วันนี้ (11 ก.พ.) นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เดินทางลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนชาวบ้าน หมู่บ้านเขาแก้ว ตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ตามโครงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสวนยางพารา ภายใต้สโลแกนที่ว่า จากกะลาสู่ตะกง คือลมหายใจของชาวตรัง เพื่อดูวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้าน พร้อมพบปะพูดคุยซักถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ชมการแสดงกิจกรรมลีลาศบนแผ่นน้ำยางสด และได้ลงมือทำยางพาราด้วย ตั้งแต่การนวด รีด ไปจนถึงตากยางพารา
สำหรับขั้นตอนการทำยางพารานั้น มีทั้งหมด 14 ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การผสมน้ำยาง นวดยาง รีดยาง ทั้งรีดเรียบ และรีดดอก จนไปถึงวิธีการกรีดยางพารา สำหรับการนวดยางนั้น เมื่อทำการผสมน้ำยางเสร็จแล้ว นำน้ำยางใส่ตะกงไว้เพื่อรอให้ยางอยู่ตัวสักพักหนึ่ง จากนั้น ก็นำยางในตะกงออกมาเพื่อทำการนวด โดยขั้นตอนแรกใช้ไม้ในการนวดเพื่อให้ยางมีความแบนก่อน แล้วจึงใช้การเหยียบ เพื่อให้แผ่นยางมีความแบน ใช้เวลาในการเหยียบต่อแผ่นประมาณ 3 นาที เพราะถ้าเหยียบนานเกินไป จะทำให้ยางมีความเหนียวเกินความต้องการ
หลังจากนั้น จึงนำไปรีดด้วยเครื่องจักรเพื่อลดความบางลงอีก โดยแผ่นยางสด 1 แผ่น จะรีดประมาณ 3 ครั้ง เพื่อให้ได้ความบางของแผ่นยางตามที่ต้องการ แล้วนำไปเข้าเครื่องรีดดอก ก่อนที่จะนำไปตาก และถ้าทำลายดอกบนแผ่นยาง จะเป็นการเพิ่มเนื้อที่บนผิวแผ่นยาง ทำให้แห้งเร็วขึ้น จากนั้น จึงนำไปตากแดดแบบอ่อนรำไร ซึ่งจะทำให้แผ่นยางมีความแห้งเท่ากันหมด อีกทั้งแผ่นผิวหน้าแผ่นยางก็จะไม่แห้งกร้าน ทำให้ได้แผ่นยางที่สวยงาม ที่สำคัญไม่ควรตากแดดที่แรงจัด เพราะจะทำให้ผิวหน้ายางแห้งเกินไปไม่สวยงาม และยังทำให้แผ่นยางมีความชื้นด้วย เนื่องจากยางแห้งไม่เสมอกัน
สำหรับจุดเด่นในการจัดงานในครั้งนี้ อยู่ที่การแสดงกิจกรรมลีลาศบนแผ่นน้ำยางสด โดยได้รับเชิญ อาจารย์สถาพร อ่อนสนิท และอาจารย์ชไมพร วรรณสิงห์ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนลีลาศ จากชมรมกีฬาลีลาศจังหวัดตรัง มาร่วมเต้นสาธิตในกิจกรรมดังกล่าวด้วย สร้างความสนใจให้กับประชาชนที่เข้ามาร่วมงานเป็นอย่างมากทั้งนี้ เมื่อคู่เต้นสาธิตได้เต้นเสร็จแล้วนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ก็ได้ลงไปเต้นลีลาศบนแผ่นน้ำยางสด คู่กับ นางสาวปิยนันท์ ธิติชัย ขนส่งจังหวัดตรัง ด้วยความสนุกสนาน
ในระหว่างนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้กล่าวว่า ต่อไปอาจจะมีการจัดงานแต่งงานใต้ร่มยางพารา หรือต้นยางพาราเกิดขึ้นในจังหวัดตรังก็ได้ โดยให้คู่บ่าวสาวมาร่วมกันทำยางพาราแผ่นด้วยกัน ตั้งแต่การนวดยาง รีดยาง ไปจนถึงการตากยาง เพื่อแสดงให้คู่บ่าวสาวเห็นว่า การใช้ชีวิตคู่ต้องมีความกลมเกลียว เหนียวแน่น อดทน และนิ่มนวล จึงจะทำให้ให้ชีวิตคู่ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่นและมีความสุข สำหรับคู่บ่าวสาวคู่ใดที่มีความสนใจจะจัดการแต่งงานใต้ร่มยางพารา หรือต้นยางพารา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ยินดีจะรับเป็นเจ้าภาพให้