ศูนย์ข่าวภูเก็ต -ผู้ว่าฯภูเก็ต ลงพื้นที่ไม้ขาว อ.ถลาง ตรวจสภาพต้นสนชายหาดขนาดใหญ่ถูกตัดโค่น สั่งดำเนินคดีทุกคนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตรวจสอบการทำเอ็มโอยู ยกที่อุทยานให้เอกชนดูแล เจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการหรือไม่
จากกรณีที่มีการลักลอบตัดโค่นต้นสนจำนวน 8 ต้น ที่บริเวณอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ม.4 ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จนทำให้ชาวบ้านเกิดความไม่พอใจได้รวมตัวกันเรียกร้องเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถหากระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย เนื่องจากต้นสนดังกล่าวมีอายุกว่า 100 ปี
ล่าสุด วันนี้ (2 ธ.ค.) นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายไชยวัฒน์ เทพี ปลัดจังหวัดภูเก็ต นายองอาจ ชนะชาญมงคล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม จ.ภูเก็ต นายวิชาติ พันธ์คง นักวิชาการชำนาญงานป่าไม้ อุทยานแห่งชาติสิรินาถ เดินทางไปพบกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลไม้ขาว ที่กำลังปิดถนนปิดถนนสายสนามบิน-สวนมะพร้าว เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ก่อเหตุตัดต้นสนริมชายหาด
ทั้งนี้ มี นายมาโนช สายทอง ผู้ใหญ่บ้าน ม.4 ต.ไม้ขาว นายธรรมนูญ เพชรไทย ประธานกลุ่มชาวบ้าน ม.4 ต.ไม้ขาว นายประวัติ พิมานพรหม นายสมพร อโนพันธ์ นายไพศาลแซ่อิ๋ว นายประเสริฐ แซ่หลี นายนิคม ปานมี กรรมการหมู่บ้าน ม.4 ต.ไม้ขาว เป็นกลุ่มตัวแทนชาวบ้านเพื่อเข้าเจรา ซึ่งในการเจรจาครั้งนี้มีตัวแทนโครงการดังกล่าว เข้าร่วมเจรจาด้วย
ชาวบ้านได้ยื่นข้อเสนอจำนวน 5 ข้อ คือ 1.ให้ยกเลิกบันทึกข้อตกลงระหว่างโครงการ และอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ที่บันทึกไว้เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2552 เรื่องการขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และใช้พื้นที่อุทยาน ความยาว 500 เมตร เป็นระยะเวลา 30 ปี 2.หากทางโครงการดังกล่าวและทางอุทยานจะดำเนินงานในที่ดินสาธารณะใดๆของหาดไม้ขาว ต้องทำประชาคม ต่อชาวบ้านในพื้นที่ก่อน
3.อุทยานแห่งชาติ ต้องดำเนินเนินคดีต่อบุคคลที่ทำลายโค่นต้นสนทั้ง 8 ต้น มาดำเนินคดี 4.ให้อุทยานดำเนินการสำรวจรังวัดแนวเขตพร้อมทั้งและปักแนวเขตอุทยานให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการบุกรุก และ 5.ให้ติดตามความคืบหน้า การตรวจสอบแนวเขตที่ดินของโรงแรม WEST SAND
หลังจากรับข้อร้องเรียนทั้ง 5 ข้อแล้ว นายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านในพื้นที่ได้เดินทางลงตรวจสอบพื้นที่ ที่มีการตัดโค่นต้นสนจำนวน 8 ต้น ซึ่งพบต้นสนที่ถูกโค่น เป็นต้นสนขนาดใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ และอยู่บริเวณด้านของโรงแรมที่กำลังมีการก่อสร้าง
นายวิชัย กล่าวภายหลังเดินทางไปตรวจสอบพื้นที่ ว่า การตัดต้นสนริมทะเลในเขตอุทยานถือเป็นเขตหวงห้าม โดยทางจังหวัดภูเก็ตเองมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะต้องรักษาต้นไม้และร่วมกันปลูกให้มากขึ้น แต่กรณีนี้ถือว่า เป็นการดำเนินการที่สวนทางกับนโยบายของจังหวัด ที่มีการตัดต้นสนที่มีขนาดใหญ่และมีอายุมากและเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า โรงแรมมีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับอุทยานแห่งชาติสิรินาถโดยอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติที่ย้ายออกไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ตนจะต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าทางอุทยานฯมีอำนาจหรือไม่อย่างไร ในการอนุญาตหรือทำเอ็มโอยูกับเอกชน
ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงที่ทำไว้ ก็ระบุไว้สวยหรูว่าจะต้องช่วยกันดูแลทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และต้นไม้ก็ถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมที่เราต้องช่วยกันอนุรักษ์และปลูกเพิ่ม ตามพระราชเสาวนีย์ แต่การกระทำในครั้งนี้ขัดกับเอ็มโอยูที่ทำไว้อย่างชัดเจน
นายวิชัย กล่าวต่อไปว่า การตัดต้นสนที่มีอายุร่วม 100 ปี ริมชายหาดในครั้งนี้ มีการใช้อุปกรณ์และเครื่องจักรเป็นเครื่องทุ่นแรง ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า เจ้าหน้าที่อุทยานซึ่งมีที่ตั้งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 1 กม.มัวทำอะไรกันอยู่ อย่างไรก็ตามตนยืนยันว่าจะต้องดำเนินการสอบสวนเอาคนที่ตัดต้นสน คนสั่งการ มาดำเนินคดีให้ได้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ยอมกันไม่ได้
รวมถึงต้องสอบสวนทางเจ้าหน้าด้วยว่า มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดหรือไม่อย่างไร มีใครเกี่ยวข้องต้องดำเนินการทั้งหมด เรื่องนี้ตนได้กำชับไปยังตำรวจแล้วให้ เร่งดำเนินการตรวจสอบ สอบสวนหาความจริงให้ได้ว่าต้นไม้ ที่ถูกตัดใครเป็นคนตัดและตัดเอาไปหน และใครเป็นคนสั่งการให้ตัด รวมถึงให้ตรวจสอบเครื่องไม้เครื่องจำพวกเลื่อยไฟฟ้า รถยนต์ รถแม็คโคร ว่าเป็นของผู้ใด และให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด
นายวิชัย กล่าวต่อไปว่า หากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องมีความสนใจไม่ปล่อยปละละเลยเรื่องเช่นนี้คงจะไม่เกิดขึ้น เพราะเมื่อต้นไม้ถูกตัดไปแล้วไม่สามารถที่จะนำมาต่อให้กลับมาเป็นต้นไม้เหมือนเดิมได้ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือเรื่องของการป้องกัน
ส่วนกรณีที่มีการตัดต้นไม้ในครั้งนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ของอุทยานรู้เห็นเป็นใจหรือไม่ เรื่องนี้ต้องสอบสวนหาข้อเท็จจริงกันต่อไป ส่วนที่ชาวบ้านเรียกร้องให้มีการยกเลิกเอ็มโอยูนั้น เรื่องนี้ตนสนใจเป็นพิเศษและจะเข้าไปตรวจสอบว่า กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมก็ดี อุทยานแห่งชาติก็ดีมีอำนาจในทำเอ็มโอยูยกที่ดินให้ทางเอกชนหรือโรงแรมเป็นเวลาถึง 30 ปีหรือไม่ และขั้นตอนระเบียบข้อกฎหมาย เราสามารถจะดำเนินการกับเรื่องนี้ได้แค่ไหนอย่างไร
อย่างไรก้ตาม ยืนยันว่า ตนจะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด เรื่องนี้จบง่ายๆไม่ได้เด็ดขาด ไม่เช่นนั้นต่อไปเราก็ทำเอ็มโอยูยกให้ชาวบ้านมาดูแลเราก็ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ หรือเจ้าหน้าที่อุทยานให้เปลืองเงินภาษีของรัฐ