ยะลา - กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัย 4 จังหวัดภาคใต้ พร้อมเร่งสำรวจความเสียหาย และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยแล้ว ขณะที่ยะลาสวนยางพาราจมน้ำกว่า 8 พันไร่
วันนี้ (25 พ.ย.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานฝนที่ตกหนักจากอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยในช่วงวันที่ 20-22 พ.ย.2552 ส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย 4 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 35 อำเภอ 170 ตำบล 936 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดสงขลา พัทลุง นราธิวาส และ ยะลา โดย จังหวัดสงขลา น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 อำเภอ 67 ตำบล 415 หมู่บ้าน
จังหวัดพัทลุง น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 6 อำเภอ 28 ตำบล 240 หมู่บ้าน จังหวัดนราธิวาส เกิดฝนตกหนักบริเวณพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำบางนรา แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำโก-ลก ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำใน 13 อำเภอ 2 เทศบาล 65 ตำบล 265 หมู่บ้าน จังหวัดยะลา น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ 10 ตำบล 16 หมู่บ้าน
ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและเร่งสำรวจความเสียหายพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยสามารถติต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายประสิทธิ์ หมีดเส็น ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดยะลา(ผอ.สกย.ยะลา) เปิดเผยว่า จากสภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่ของจังหวัดยะลา พื้นที่การเกษตรเสียหายทั้งหมด จำนวน 278 ไร่ สำหรับสวนยางพาราที่ประสบภัยน้ำท่วม
สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดยะลา ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบ
พบว่าสวนยางพาราที่จมน้ำ และ ชาวบ้านไม่สามารถกรีดยางได้ พื้นที่ อ.เมืองยะลา จำนวน 3,863 ไร่ อ.กรงปินัง จำนวน 1,730 ไร่ อ.ยะหา จำนวน 1,780 ไร่ อ.กาบัง จำนวน 280 ไร่ และ อ.รามัน จำนวน 1,110 ไร่ รวมทั้งจังหวัดยะลา รวม 8,763 ไร่ การตรวจสอบความเสียหายที่ชัดเจน ต้องรอให้น้ำลดลงหมด และเส้นทางเข้าไปตรวจสอบสามารถเข้าไปได้
อย่างไรก็ดี ชาวสวนยางในพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำสายบุรี และ แม่น้ำปัตตานี ต้องใช้เวลากว่า 1 เดือน จึงจะสามารถเข้าไปกรีดยางได้ตามปกติ ส่วนสวนยางในพื้นที่บนเขาและเนินเขา เมื่อฝนหยุดตก ชาวสวนสามารถเข้าไปกรีดยางได้ทันที