xs
xsm
sm
md
lg

พ่อเมืองยะลาจี้ จนท.ลงคลุกคลีชาวบ้าน หวังดับไฟใต้ง่ายขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - ผวจ.ยะลา จี้ปลัดอำเภอและ จนท.ฝ่ายปกครองให้ทำงานถึงลูกถึงคน ลงพื้นที่ แก้ปัญหาชาวบ้านอย่างตั้งใจ และทำตัวให้ประชาชนรัก เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบได้ง่ายขึ้น

ที่ห้องประชุมศรียะลา อาคาร 3 ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดยะลา นายกฤษฏา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้มอบนโยบายแนวทางการทำงานให้กับ นายอำเภอ ปลัดอำเภอและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ใน 8 อำเภอของจังหวัดยะลา จำนวน 220 คน ตามโครงการประชุมสัมมนาปลัดอำเภอและข้าราชการฝ่ายปกครอง ประจำปี 2553 เพื่อให้การปฏิบัติบรรลุผลที่เป็นรูปธรรม และเป็นที่ยอมรับของประชาชน ประชาชนมีความรักต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนให้ความร่วมมือกับรัฐมากขึ้น

โดยเน้นให้ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำตำบล เป็นผู้ที่ลงไปคลุกคลีประชาชนในพื้นที่ มีบทบาทสำคัญในการทำความเข้าใจระหว่างราชการกับประชาชน เพื่อน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และสนองยุทธศาสตร์จังหวัดยะลา ยะลาเมืองน่าอยู่ คู่สันติสุข โดยกำหนดเป้าหมายการปฏิบัติราชการ คือ งานสัมฤทธิ์ผล ประชาชนพอใจ โดยข้าราชการฝ่ายปกครองเป็นผู้ประสานหลักการบูรณาการทำงานจากทุกภาคส่วนให้มีความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติงานในพื้นที่

นายกฤษฏา กล่าวว่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ตำบล นอกจากนี้ยังปลัดอำเภอเป็นผู้ทำหน้าที่ประสานงานในระดับตำบล จังหวัดยะลา การทำงานในระดับตำบลทำให้การบริการของรัฐจะถึงมือชาวบ้านโดยชาวบ้านไม่ต้องลำบากมาถึงอำเภอ ดังนั้น ตนต้องมาย้ำถึงแนวทางการทำงานในระดับตำบล โดยเฉพาะปลัดอำเภอและเจ้าหน้าที่ปกครองประจำตำบล ให้สนใจถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน อาทิ การเกิดอุทกภัยน้ำท่วม หรือการเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ดูแลประชาชนให้ถึงประชาชนกันจริงๆ ตามยุทธศาสตร์พระราชทานของในหลวง

ประเด็นที่ 2 คือ การทำงานแบบถึงลูกถึงคน เมื่อประชาชนประสบกับปัญหา มีความเดือดร้อน ปลัดอำเภอจะต้องเข้าแก้ปัญหาทันที สุดท้ายปลัดอำเภอต้องแม่นยำในกฎระเบียบของทางราชการ เมื่อประชาชนมาติดต่อต้องให้คำตอบและดำเนินการให้ตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

ในขณะเดียวกัน ยังได้กล่าวย้ำในที่ประชุมด้วยว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่นั้น ตัวข้าราชการต้องทำตัวให้ประชาชนศรัทธา ประชาชนรัก ซึ่งการที่จะให้ประชาชนรักนั้น ตัวปลัดอำเภอจะต้องไปหาประชาชน ให้การช่วยเหลือเขาเมื่อเขาได้รับความเดือดร้อน การให้โอกาสพื้นที่ในการวางกรอบกฎกติกาหมู่บ้านกันเองระหว่างผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น อบต.และผู้นำตารมธรรามชาติ การตรวจสอบการทำงานของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ด้วยการกำหนดตัวชี้วัดต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการปฏิบัติของราชการ เพราะในปัจจุบัน ทางราชการต้องจ่ายเงินเดือนให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อส. รวม 24 ล้านบาทต่อเดือน

ดังนั้น เวลามีเหตุการณ์เกิดขึ้น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าของพื้นที่ จะต้องเข้าไปยังเกิดเหตุก่อนเจ้าหน้าที่ และทำการแก้ไขปัญหาในระดับเบื้องต้นกันก่อน อาทิ การเก็บกวาดเมื่อมีการโปรยตาปูเรือใบหรือตัดต้นไม้ขวางทางของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ



กำลังโหลดความคิดเห็น