xs
xsm
sm
md
lg

พสกนิกรชาวนครศรีฯ ร่วมบวงสรวงพระนารายณ์ทรงสุบรรณหน้าพระตำหนักลุ่มน้ำปากพนัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - พสกนิกรชาวนครศรีธรรมราช นับพันแห่ร่วมบวงสรวง พระนารายณ์ทรงสุบรรณ ศักดิ์สิทธิ์ หน้าพระตำหนักลุ่มน้ำปากพนัง ก่อนร่วมกันปล่อยพันธ์ปลานับล้านตัว ลงแม่น้ำปากพนังถวายเป็นพระราชกุศล ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหายจากพระอาการประชวร

วันนี้ (19 ต.ค.) ที่บริเวณลานหน้าพระนารายณ์ทรงสุบรรณ หน้าองค์พระตำหนักประทับแรมโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งในวันนี้ เป็นวันครบรอบ 2 ปีในการถวายพระตำหนักประทับแรม อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโครงการพระราชดำริ ให้แก่พสกนิกรชาวนครศรีธรรมราช

ในการประกอบพิธีนั้นได้จัดให้มีการพิธีบวงสรวงองค์พระนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่ประดิษฐ์อยู่บริเวณลานหน้าองค์พระตำหนัก โดยมีนายรัตนาวุธ วัชโรทัย ที่ปรึกษาสำนักพระราชวังฝ่ายกิจการพิเศษ และ ว่าที่ ร.ต.ฐิตวัฒน์ เชาวลิต เป็นประธานในการประกอบพิธี และมีอาจารย์ฉัตรชัย ปิ่นเงิน หัวหน้างานโหรพราหมณ์ สำนักพระราชวัง ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองพระราชพิธี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่โหรพราหมณ์จากกองพิธี จำนวน 7 ท่าน

พราหมณ์หลวง สำนักพระราชวังเป็นผู้อ่านโองการประกอบพิธีการบวงสรวงตามพิธีหลวง เพื่อความเป็นสิริมงคลทั้งปวง โดยมีเครื่องบวงสรวงครบครันตามโบราณราชประเพณี ท่ามกลางข้าราชการจำนวนมาก ประชาชนจากองค์กรต่างๆ และประชาชนในพื้นที่ปากพนัง

หลังจากนั้น นายรัตนาวุธ วัชโรทัย ที่ปรึกษาสำนักพระราชวังฝ่ายกิจการพิเศษ ได้เป็นประธานในการปล่อยพันธ์สัตว์น้ำนับล้านตัวที่บริเวณท่าน้ำริมประตูระบายน้ำอุทกวิภาชน์ประสิทธิ์ ที่ก่อสร้างขึ้นตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล รวมทั้งร่วมกันตั้งจิตอธิษฐานให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหายจากอาการประชวรโดยเร็ว

สำหรับองค์พระนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่ประดิษฐานอยู่บริเวณลานหน้าพระตำหนักประทับแรมปากพนังนั้น ชาวบ้านในอำเภอปากพนัง และข้าราชการในพระองค์ ร่วมทั้งข้าราชการพลเรือนต่างเคารพในความศักดิ์สิทธิ์ ที่มีกฤษฎาอภินิหารตั้งแต่เมื่อครั้งหล่อและบวงสรวงครั้งแรก ทั้งปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลดขณะประกอบพิธีกรรม และปรากฏการณ์อื่นๆ ต่อหน้าผู้เข้าร่วมพิธีเมื่อครั้งนั้น ซึ่ง อาจารย์ภิญโญ สุวรรณคีรี สถาปนิกผู้ออกแบบพระตำหนักดังกล่าวได้มีการบันทึกไว้อย่างละเอียด



กำลังโหลดความคิดเห็น