xs
xsm
sm
md
lg

วัดทุ่งยาวเมืองตรังโชว์เรือพระงานปูนปั้นซีเมนต์แห่งแรกในภาคใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - วัดทุ่งยาว อำเภอปะเหลียน สร้างสรรค์เรือพระด้วยงานปั้นปูนซิเมนต์ เพื่อเข้าร่วมประกวดในงานประเพณีลากพระฯ จังหวัดตรัง ปี 2552 จนถือเป็นเรือพระที่แปลกที่สุดใน 14 จังหวัดภาคใต้ ก่อนจะจอดโชว์ในงานเทศกาลไหว้พระจันทร์ และจะส่งส่งเรือพระเข้าร่วมในงานประเพณีลากพระ และมหกรรมวัฒนธรรมสัมพันธ์จังหวัดตรังครั้งที่ 9

วันนี้ (3 ต.ค.) พระสงฆ์ สามเณร ศิษย์ยานุศิษย์ และประชาชนชาวตำบลทุ่งยาว อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ได้ร่วมกันขนย้ายเรือพระที่ชาวบ้านได้ช่วยกันสรรค์สร้างขึ้นมาในรูปแบบงานศิลปะปูนปั้นเพชรบุรี มาจอดไว้ยังบริเวณหน้าสมาคมชาวทุ่งยาว ถนนสายตรัง-ปะเหลียน เขตเทศบาลตำบลทุ่งยาว เพื่อจอดโชว์ในงานเทศกาลไหว้พระจันทร์ ประจำปี 2552 ที่เทศบาลตำบลทุ่งยาว จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้กำหนดจัดงานในระหว่างวันที่ 1-3 ตุลาคม 2552

สำหรับวัดทุ่งยาว ถือเป็นปีแรกที่ทางวัดและชาวบ้านในพื้นที่ มีแนวคิดจะส่งเรือพระเข้าร่วมในงานประเพณีลากพระ และมหกรรมวัฒนธรรมสัมพันธ์ จังหวัดตรัง ครั้งที่ 9 ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 5-9 ตุลาคม 2552 ณ ลานวัฒนธรรมทุ่งแจ้ง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง แต่แนวความคิดในการสรรค์สร้างประดิษฐ์เรือพระในปีแรกนั้น กลับมีความแตกต่างไปจากเรือพระของทุกๆ วัด ที่เคยเข้าร่วมงานประเพณีลากพระ และมหกรรมวัฒนธรรมสัมพันธ์ ที่ทางจังหวัดตรังได้จัดขึ้นมาในทุกปีคือ เรือพระของวัดอื่นๆ จะทำมาจากเบ้าพิมพ์ แต่เรือพระของวัดทุ่งยาวจะใช้คนปั้นตามแบบแปลนที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันจินตนาการขึ้นมา

นายมนตรี หงษ์ยิ้ม หรือที่รู้จักกันในนามนายช่างมนตรี เพชรบุรี ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมในการประดิษฐ์เรือพระวัดทุ่งยาว กล่าวว่า ทางวัดโดยพระอาจารย์วัชรชัย อภิชาโต เจ้าอาวาสวัดทุ่งยาว และเจ้าคณะตำบลท่าพญาต้องการจะให้เรือพระของวัดทุ่งยาว มีความแตกต่างจากวัดอื่นๆ ด้วยการประดิษฐ์ให้ออกมาตรงกับพุทธประวัติ และตามหลักเกณฑ์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงได้ระดมความคิดร่วมกัน ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า เรือพระควรจะสร้างสรรค์ หรือประยุกต์มาจากรูปแบบ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือประจำรัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ทั้งนี้ รูปเรือจะมีซุ้มจตุรมุข ส่วนตรงกลางตั้งพระพุทธรูป และมีพญานาค 3 ตัว รวมทั้งยังมีการจำลององค์พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากชั้นดาวดึงส์ เพื่อมาประทับหน้าจตุรมุข โดยใกล้ๆ กันจะมีรูปกวาง ซึ่งตรงกับสัตว์ตามพุทธประวัติ สำหรับโครงสร้างของเรือพระวัดทุ่งยาว จะใช้แกนเหล็กผสมกับปูนซีเมนต์ และยังมีการใช้ภูมิความรู้งานด้านสถาปัตยกรรมปูนปั้นแบบเพชรบุรี โดยฝีมือของมนุษย์ทั้งหมด ซึ่งเป็นศิลปะภาคกลาง ที่ตนเองมีความรู้ความชำนาญอยู่แล้ว

ส่วนปูนที่ใช้ปั้น ก็เป็นส่วนผสมของปูนขาว กระดาษ ทราย น้ำอ้อย แล้วติดด้วยกาวหนังควาย แต่จะไม่มีการทาสี เพราะต้องการจะโชว์เนื้อปูนแท้ๆ จากนั้น เคลือบด้วยเบเยอร์ ผสมกากเพชร แล้วปิดกระจกด้วยอีบอกซี่ (กาวสมัยใหม่) ซึ่งเรือพระลำนี้เชื่อว่ามีเพียงลำเดียวใน 14 จังหวัดภาคใต้ และงบประมาณในการจัดสร้างประมาณ 200,000 บาทเศษ แต่ถ้าคิดคุณค่าของงานทั้งหมดจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท

ทั้งนี้ ชาวตำบลทุ่งยาวมีความตั้งใจที่อยากจะโชว์ศิลปะแบบภาคกลาง ที่มีความแตกต่างจากเรือพระลำอื่นๆ ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนได้ศึกษางานสถาปัตยกรรมแบบปูนปั้นขนานแท้



กำลังโหลดความคิดเห็น