xs
xsm
sm
md
lg

ปศุสัตว์พัทลุงบูมสวนกระแสเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พัทลุง - ปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง วางแนวโน้มสวนกระแสเศรษฐกิจ เผยขยายสร้างโครงการโรงเชือดไก่ ส่งไปขายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แนวโน้มวงการธุรกิจไก่เนื้อ จะล้ำหน้ากว่าธุรกิจโคส่งออก

วันนี้ (8 ก.ย.) นายไพโรจน์ อินทรศรี ปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า วงการปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง ขยายตัวเติบโตกว่าปี 2551 มาก โดยยอดส่งออกปศุสัตว์กว่า 2,000 ล้านบาท และบริโภคภายในจังหวัดเกือบ 600 ล้าน รวมแล้วมีมูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท มียอดส่งออกสุกร ยังเป็นอันดับ 1 และวัว เป็นอันดับ 2 กำลังขยายตัวเติบโตไล่เทียบเคียงกันมาแล้วคือ การส่งออกไก่เนื้อ จากเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกประมาณกว่า 100 ล้าน แต่มาในขณะนี้ ยอดส่งออกเติบโตมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท

ปัจจัย เพราะฐานการผลิตไก่เนื้อ ได้โยกย้ายฐานการผลิตมาอยู่ที่พัทลุงตลอดจนภาคใต้ตอนบน แล้วเชือดส่งไปขายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เดิมส่งออกไก่เนื้อประมาณ 200,000 ตัว แต่มาในปีนี้การส่งออก กว่า 1 ล้านตัว และแนวโน้มวงการธุรกิจไก่เนื้อ จะล้ำหน้ากว่าธุรกิจโคส่งออก

นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ทางจังหวัดพัทลุงมีโครงการสร้างโรงเชือดไก่ที่มาตรฐาน และพัฒนาสนับสนุนโรงงานการแปรรูปไก่เนื้อ ซึ่งได้เสนอโครงการไปแล้ว ใช้งบประมาณ ประมาณ 8 ล้านบาท คาดว่าในปี 53 หรือ 54 จะแล้วเสร็จ โรงเชือดและแปรรูปไก่ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเนื้อไก่ สำหรับโรงงานแปรรูปสุกรที่ผ่านแล้ว จะมีการแปรรูปสุกรเป็นไส้กรอก หมูแผ่น ลูกชิ้น เป็นต้น

ปัจจุบันฟาร์มเลี้ยงไก่ที่ได้รับมาตรฐานมีประมาณ 100 ฟาร์ม จากฟาร์ม ประมาณ 400 ฟาร์ม นอกนั้นมีการเลี้ยงไก่บ้านรายย่อยเป็นจำนวนมาก และการเลี้ยงรายย่อยมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะมีการสร้างรายได้ที่ดี ในการเลี้ยงส่วนนี้จะพยายามปรับให้เป็นมาตรฐาน

นายไพโรจน์ ยังกล่าวอีกว่า สัตว์เลี้ยงที่ยังมีความต้องการอยู่มากในขณะนี้เช่นกัน คือแพะ โดยเฉพาะจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส อีกทั้งความต้องการที่จะนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลอีกจำนวนมาก แต่ปริมาณการเลี้ยงยังน้อยอยู่ สุกรและวัวราคาตกตัวละประมาณ 20,000 บาท

โดยมีพ่อค้าวัวเข้าไปกว้านซื้อถึงบ้าน อาชีพการเลี้ยงสัตว์เป็นวิถีชีวิตของชาวพัทลุง ที่เป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งรายได้ การเลี้ยงสัตว์ให้ผลตอบแทนเร็ว สามารถนำวัตถุดิบทางการเกษตรอื่น มาเป็นอาหารสัตว์ได้ เป็นการช่วยกำจัดวัชพืช อีกทั้งมูลสัตว์ยังเป็นวัสดุ ผลิตปุ๋ยนำไปใช้ในการเกษตร หรือจำหน่ายเป็นรายได้อีกทางหนึ่งด้วย นับเป็นโอกาสของเกษตรกรชาวพัทลุง ที่จะขยายการผลิต สัตว์ให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาดได้

นายไพโรจน์ ยังกล่าวต่อว่า ในส่วนการชำแหละเนื้อบริโภค ได้ดำเนินการสร้างความเข้าใจกับกับผู้ประกอบการให้ชำแหละเนื้อสัตว์ที่ให้ได้ได้มาตรฐาน เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคเนื้อที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ เพราะขณะนี้พัทลุงมีโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน จำนวน 13 แห่ง กระจายตามอำเภอต่างๆ มีโรงชำแหละเนื้อสุกร 11 แห่ง และโรงชำแหละเนื้อโค 2 แห่ง

กำลังโหลดความคิดเห็น