xs
xsm
sm
md
lg

อบจ.ตรังค้านจังหวัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - นายก อบจ.ตรัง ประธานสภา และ ส.อบจ. คัดค้านผู้ว่าฯ ตรัง ที่จะก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระปิยมหาราช ที่หน้าศาลากลางหลังเก่า เนื่องจากสถานที่คับแคบและไม่สมพระเกียรติ

วันนี้ (13 ส.ค.) ว่าที่ร้อยตรี ชาญยุทธ เกื้ออรุณ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง ได้ยื่นหนังสือถึงนายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อขอให้ชะลอการทำสัญญาก่อสร้างแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 หรือสมเด็จพระปิยมหาราช ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดตรัง หลังเก่า หลังจากทราบว่าทางจังหวัดได้ใช้งบประมาณเหลือจ่ายประจำปี 2552 จำนวน 9.8 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง

โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นราชานุสรณ์ และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีต่อประเทศชาติ และปวงชนชาวไทย เพื่อให้ประชาชนชาวตรังได้สักการะบูชา และเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะในวันปิยมหาราช โดยจะดำเนินการในห้วงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552 ถึง 30 กันยายน 2552

สำหรับการคัดค้านในครั้งนี้ ทางประธานสภา อบจ.ตรัง ให้เหตุผลว่า เนื่องจากบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดตรังหลังเก่าเป็นสถานที่คับแคบ มีสิ่งปลูกสร้างล้อมรอบเกือบทุกด้าน เป็นสถานที่จอดรถของข้าราชการ และประชาชนที่ไปติดต่อราชการ เป็นสถานที่จัดกิจกรรมชุมชนตลอดเวลา ซึ่งเป็นการไม่เหมาะสม และไม่สมพระเกียรติอย่างยิ่ง ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงปลูกต้นศรีตรังไว้ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ขณะนี้ถูกขุดไปแล้วทั้ง 2 ต้น

ส่วนเสาธงหน้าศาลากลางจังหวัดตรังหลังเก่าก็เป็นเสาธงพระราชทาน ซึ่งการจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาติ จึงขอให้ทางจังหวัดชะลอโครงการไว้ก่อน ที่สำคัญในการดำเนินโครงการ ณ สถานที่ดังกล่าว ควรที่จะทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ และถามความเห็นของประชาชนก่อน

ว่าที่ร้อยตรี ชาญยุทธ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยอย่างยิ่งในหลักการ เหตุผล และวัตถุประสงค์ของการก่อสร้าง แต่จุดก่อสร้างบริเวณเกาะกลางหน้าเสาธง หน้าศาลากลางจังหวัดตรังหลังเก่า ซึ่งมีความกว้างประมาณ 8 เมตร ยาวประมาณ 20 เมตร ถือว่าคับแคบอย่างมาก เพราะเป็นที่จอดรถของประชาชนที่ไปติดต่อราชการ เมื่อพื้นที่คับแคบพระบรมราชานุสาวรีย์ที่ออกมาจะต้องเล็กกว่าอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ อดีตเจ้าเมืองตรัง และบิดาแห่งยางพาราไทย ซึ่งตั้งอยู่บนถนนพัทลุง ในเขตเทศบาลนครตรังอย่างแน่นอน จึงไม่สมพระเกียรติอย่างยิ่ง

นอกจากนั้น บริเวณดังกล่าวยังมีคุณค่าทางจิตใจต่อชาวตรังอย่างยิ่ง เพราะสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงปลูกต้นศรีตรังไว้จำนวน 2 ต้น รวมทั้งเสาธงก็เป็นเสาธงพระราชทานเดิมมีขนาดเล็ก และภายหลังมามีการติดตั้งใหม่ให้ใหญ่ขึ้นอย่างที่ปรากฎ แต่คงไว้ที่หลุมเดิม ดังนั้น การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการโครงการดังกล่าวได้ขอพระบรมราชานุญาตหรือยัง และขณะนี้ต้นศรีตรังบริเวณดังกล่าวก็มีการขุดไปแล้ว ซึ่งไม่ทราบว่ารวม 2 ต้นที่ทั้ง 2 พระองค์ได้ทรงปลูกไว้ด้วยหรือไม่

นายชาญยุทธกล่าวอีกว่า ที่สำคัญทางจังหวัดได้มีการประชาสัมพันธ์ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ หรือยังที่ต้องรื้อพื้นที่ดังกล่าว โดยความเห็นส่วนตัวมี 3 ที่เหมาะสมคือ 1.ที่บริเวณลานวัฒนธรรม สนามกีฬาเทศบาลนครตรัง 2 ทุ่งแจ้ง ถนนสายตรัง-สิเกา ที่ขณะนี้อยู่ในความดูแลของสำนักงานจังหวัดตรัง 2.ที่บริเวณเรือนจำเก่าจังหวัดตรัง บนถนนพัทลุง ตรงข้ามจวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และที่บริเวณศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งเดิมเป็นโรงเรียนวิเชียรมาตุ ซึ่งเป็นโรงเรียนพระราชทานของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมรานีนาถ ในสมเด็จพระปิยมหาราช พร้อมกันนี้ ทางสภา อบจ.ตรัง ยังได้ยื่นเรื่องข้อสอบถามไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้เข้าชี้แจงในที่ประชุมสภา อบจ.ตรัง ในวันที่ 14 สิงหาคมนี้


นายกิจ หลีกภัย นายก อบจ.ตรัง ก็กล่าวว่า เรื่องนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้เคยนำเข้าที่ประชุมประจำเดือนหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดตรังมาแล้ว โดยผู้ว่าฯ ได้ถามความเห็นหัวหน้าส่วนราชการอื่นๆ โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้ใครแสดงความคิดเห็น และหัวหน้าส่วนเกือบทั้งหมดก็ยกมือเห็นด้วย แต่ตนเองยกมือโต้แย้ง พร้อมให้เหตุผลว่า บริเวณดังกล่าวไม่สมพระเกียรติ สถานที่คับแคบ และจะมีสิ่งก่อสร้างที่สูงกว่าพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ได้ เป็นสิ่งที่มิบังควร

โดยส่วนตัวก็เสนอที่ตำบลบ้านควน อำเภอเมืองตรัง ซึ่งมีเนื้อที่กว้างขวาง เพราะมองว่าบริเวณพื้นที่โดยรอบพระบรมราชานุสาวรีย์ จะต้องเป็นทำเป็นสวนสาธารณะ รวมทั้งยังเสนอที่บริเวณลานวัฒนธรรม ทุ่งแจ้ง และที่บริเวณเรือนจำเก่าจังหวัดตรัง เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้าง แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่เห็นด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น