xs
xsm
sm
md
lg

ยะลาจัดวันต่อต้านยาเสพติด “เท่...ดี..ไม่ต้องมียาเสพติด” ประชาชนเข้าร่วมกว่า 2,000 คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - จังหวัดยะลา ผนึกกำลังทุกฝ่าย จัดกิจกรรม วันต่อต้านยาเสพติด “เท่..ดี..ไม่ต้องมียาเสพติด” อย่างยิ่งใหญ่ มีนักเรียน-นักศึกษา มาร่วมงานกว่า 2,000 คน

ตามที่องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกๆ ปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติด ทั้งนี้ เพื่อจัดกิจกรรมป้องกันและรณรงค์ให้ประชาชนได้รับทราบ และรอดพ้นจากปัญหายาเสพติด รวมทั้งช่วยให้ผู้ที่ตกเป็นทาสยาเสพติดได้มีโอกาสกลับเข้ามาอยู่ร่วมในสังคมอย่างปกติ ดังนั้น ทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐบาล หรือเอกชนควรจะร่วมมือกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่บริเวณสนามศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันต่อต้านยาเสพติด ประจำปี 2552 จังหวัดยะลา โดยมี นายกฤษฎา บุญราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา (ฝ่ายความมั่นคง) นายเดชรัฐ สิมสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา (ฝ่ายประเพณีวัฒนธรรม) หัวหน้าส่วนราชการ กลุ่มพลังมวลชน ผู้นำศาสนา พ่อค้า ประชาชน นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมงาน กว่า 2,000 คน

ในการนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้นำกลุ่มพลังมวลชนกล่าวคำปฎิญาณ ตนไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และเป็นประธานในการเทเหล้า เผาบุหรี่ พลังมวลชนเดินรณรงค์วันต่อต้านยาเสพติด นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมการแสดงกระโดดร่มของกองกำลังเสริมสร้างสันติสุข การแสดงเครื่องบินเล็ก การแข่งกีฬาเปตอง และการแข่งขันกีฬาฟุตซอล และการแสดงบนเวที จากชมรม To Be Number One จังหวัดยะลา

นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า ในปีนี้ จังหวัดยะลาได้จัดกิจกรรมวันต่อต้านยาเสพติด เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “5 รั้วป้อง พ้นภัยยาเสพติด” เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันภัยยาเสพติด ซึ่งประกอบด้วย รั้วชายแดน รั้วชุมชน รั้วสังคม รั้วโรงเรียน และรั้วครอบครัว ทั้งนี้ เพื่อให้เยาวชนตระหนักถึงมหันตภัยยาเสพติด สามารถสร้างภูมิคุ้มกัน และเข้ามามีส่วนร่วมเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด

ขณะนี้ปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดยะลา เริ่มเบาบางอย่างลงแล้ว โดยสามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะยาเสพติดได้ทะลักเข้าในเขตชายแดนในพื้นที่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา สิ่งที่สำคัญในเรื่องของยาเสพติดที่กำลังระบาดอย่างหนัก คือใบกระท่อม ทาง จ.ยะลา ได้สกัด ไม่ว่าจะเป็นจุดตรวจจุดสกัดที่มีอยู่มากมาย มาตรการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การสร้างรั่วในเขตชุมชน

โดยเฉพาะมาตรการทางสังคม คือ กฎกติกาหมู่บ้าน หรือ กฎฮูกมปากะห์ ในการที่จะกำหนดห้ามให้ยาเสพติดเข้าไปในหมู่บ้าน คือ การนำเอาศาสนามาแก้ปัญหายาเสพติดได้อย่างชัดเจน สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ภาครัฐได้คาดโทษทางวินัยอย่างถึงที่สุด ทางหน่วยงานทางราชการได้มีกรรมการสืบสวน-สอบสวนอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางจังหวัดยะลา ต้องการลงโทษผู้ที่กระทำความผิดในส่วนของผู้ค้ายาเสพติดอย่างถึงที่สุด โดยไม่มีข้อยกเว้น






กำลังโหลดความคิดเห็น