ตรัง – ชาวบ้าน อ.ห้วยยอด กว่า 200 คน รวมตัวประท้วงหน้าอำเภอห้วยยอด หลังจากเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด บ้านปากแจ่ม ได้เข้าไปจับกุมพร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และโค่นล้มต้นยางพาราของชาวบ้าน จำนวนกว่า 66 ไร่
วันนี้ (16 ก.พ.) บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอห้วยยอด ชาวบ้านหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 7 ตำบลท่างิ้ว อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง จำนวนกว่า 200 คน ได้รวมตัวกันมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ นายวิสูตร จันทรศิริกาญจน์ นายอำเภอห้วยยอด จากกรณีที่เจ้าหน้าที่เขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด บ้านปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 200 นาย
นำโดย นายเกรียงศักดิ์ ดีกล่อม หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด บ้านปากแจ่ม หลังจากได้เข้าไปจับกุมพร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และโค่นล้มต้นยางพาราของชาวบ้าน ในพื้นที่หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 7 ตำบลท่างิ้ว อำเภอห้วยยอด จำนวนกว่า 66 ไร่ เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเสียหายและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก
สำหรับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน และที่ถูกรื้อถอนและโค่นต้นยางพารา ซึ่งต้นยางพาราใหญ่ที่มีอายุกว่า 5 ปีแล้ว มีทั้งสิ้น 6 ราย ประกอบด้วย นางนิรมล สุดจิต อายุ 45 ปี มีพื้นที่สวนยางพาราถูกทำลาย 5 ไร่ นายเรรวน ไทยกลาง อายุ 50 ปี มีพื้นที่สวนยางพาราถูกทำลาย 10 ไร่ นางกันยารัตน์ ศิริรัตน์ อ่ายุ 43 ปี มีพื้นที่สวนยางพาราถูกทำลาย 20 ไร่ นายไพรวัณฑ์ คงฤทธิ์ อายุ 28 ปี มีพื้นที่สวนยางพาราถูกทำลาย 5 ไร่ นายเผดื่อง เมืองทวี อายุ 60 ปี มีพื้นที่สวนยางพาราถูกทำลาย 11 ไร่ และ นายแสง ไชยทอง อายุ 52 ปี มีพื้นที่สวนยางพาราถูกทำลาย 15 ไร่
สำหรับใจความหนังสือร้องขอความเป็นธรรมฉบับดังกล่าว ระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เกินขอบเขต เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้มีการนำหนังสือ ที่ ทส.0916.61/984 ลงวันที่ 30 เมษายน 2551 มาการเจรจาเพื่อรื้อถอนพื้นที่สวนยางพารา 2 แปลง แต่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการทำลายและโค่นต้นยางพาราของชาวบ้าน นอกเหนือจากเอกสารดังกล่าว อีก 4 แปลง ซึ่งพื้นที่สวนยางพาราทั้งหมดถูกทำลายนั้น ได้มีการครอบครองมาแล้วตั้งแต่สมัยรุ่นปู่-ย่า จึงถือเป็นการกระทำที่ละเมิดลิทธิ์ และใช้อำนวจเกินขอบเขต เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทั้งหมดไม่ได้มีการพูดคุย หรือแจ้งให้ชาวบ้านในพื้นที่รับทราบถึงการทำลายดังกล่าว
ทั้งนี้ ชาวบ้านได้ยื่นข้อเสนอในการเจรจาทั้งหมด 4 ข้อ คือ กรณีที่เป็นสวนยางพารามาก่อนให้ประชาชนสามารถโค่นและปลูกทดแทนได้ กรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำเกินขอบเขต โดยการโค่นต้นยางพาราของชาวบ้านให้สามารถปลูกต่อไปได้ ชาวบ้านที่มีสวนยางพารามาก่อน และกำลังปลูกทดแทนนั้น ไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำลายอีกต่อไป และขอให้มีการย้ายหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด บ้านปากแจ่ม ออกจากพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ชาวบ้านได้มีการรวมตัวกัน นายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า พร้อมด้วย นายเกรียงศักดิ์ ดีกล่อม หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด บ้านปากแจ่ม ได้เดินทางมารับหนังสือฉบับดังกล่าวจากชาวบ้านด้วยตัวเอง และได้มีการให้ตัวแทนของชาวบ้านเข้าเจรจาพูดคุย เพื่อหาข้อยุติ
แต่จนกระทั่งเวลา 12.00 น.การเจรจาพูดคุยก็ยังไม่ยุติ ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่าหากไม่เป็นไปตามคำร้องขอ จะมีการประชุมยืดเยื้อต่อไป โดยได้มีการกางเต็นท์แล้ว บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอห้วยยอด และทราบว่าได้มีชาวบ้านส่วนที่เหลือได้เดินทางมาสมทบอีกจำนวนมากแล้วเช่นกัน
นอกจากนั้น สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นระหว่างชาวบ้าน กับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ในครั้งนี้ เป็นกรณีที่สืบเนื่องมาจากพื้นที่ที่เป็นปัญหาดังกล่าว ก่อนวันที่ 29 ธันวาคม 2529 ถือเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่ชาวบ้านสามารถเข้าไปทำกินได้ แต่หลังจากนั้นมาได้มีประกาศเป็นเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่ชาวบ้านอาศัยอยู่เดิม ไม่สามารถล้มโค่นต้นยางพาราแล้วปลูกทดแทนใหม่ได้ จึงกลายเป็นกรณีพิพาทระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐเรื่อยมา