ระนอง - รองเลขานุการคณะกรรมาธิการทหาร เชื่อมั่นทหารไทยไม่ทารุณกรรมชาวโรฮิงยาหนีเข้าเมือง
เมื่อวานนี้ (21 ม.ค.) นายประสงค์ นุรักษ์ รองเลขานุการคณะกรรมาธิการทหาร วุฒิสภา และคณะได้เดินทางไปยังกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนแยก 1 ค่ายรัตนรังสรรค์จังหวัดระนอง เพื่อรับฟังบรรยายสรุปและติดตามข้อเท็จจริงกรณีทหารของไทยกระทำทารุณกรรมชาวโรฮิงญาจาก พล.ร.ต.เรืองวิทย์ เทียนทอง เสนาธิการกองเรือภาคที่ 3 และ พ.อ.สงบ นาคถนอม รอง ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนแยก 1
จากนั้น นายประสงค์และคณะพร้อมสื่อมวลชนลงเรือตำรวจน้ำระนองไปยังเกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง ซึ่งอยู่ในทะเลอันดามัน เพื่อพบปะพูดคุยกับประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะเนื่องจากฝ่ายทหารระบุว่าเป็นเป็นกองกำลังประชาชนที่ทางการฝึกไว้ช่วยเหลือ ทางราชการ และเป็นผู้ให้การช่วยเหลือและควบคุมชาวโรฮิงญาก่อนที่จะมีการผลักดันออกไปทางทะเล พร้อมทั้งได้เดินทางไปดูเรือที่เป็นพาหนะในการเดินทางของชาวเรือฮิงญาที่เกยตื้นอยู่ชายหาดของเกาะพยาม จำนวน 1 ลำ
นายประสงค์ กล่าวว่า จากการที่ได้รับฟังการชี้แจงทั้งจากฝ่ายทหารบก ทหารเรือ และประชาชนบนเกาะ ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกัน พร้อมยืนยันว่าไม่มีการทารุณกรรมชาวโรฮิงญาแต่อย่างใด แต่ในทางกลับกันได้ให้การดูแลในเรื่องของอาหารและน้ำดื่มเป็นอย่างดี ขณะที่ควบคุมอยู่บนเกาะทรายแดงโดยไม่มีการมัดมือมัดท้าตามที่เป็นข่าว และเมื่อมีการส่งกลับออกไปทางทะเลก็มีการซ่อมแซมเรือให้ พร้อมรวบรวมเงินซื้อเสบียงอาหาร น้ำดื่ม ให้ติดตัวกลับไปด้วยคาดว่าสามารถกินได้นับอาทิตย์
“ผมมั่นใจว่าทหารของไทยไม่ได้กระทำการทารุณกรรมชาวโรฮิงญาอย่างแน่นอน ข่าวของ บีบีซีที่นำเสนอออกไปสู่สายตาชาวโลกนั้นเกินความเป็นจริง เป็นการนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว ซึ่งผมจะได้นำข้อมูลที่ได้รับทั้งหมดในพื้นที่ไปเสนอต่อประธานวุฒิสภาให้รับทราบต่อไป” นายประสงค์ กล่าว
นายยุทธนา รักษ์เมืองไทย สารวัตรกำนันตำบลเกาะพยาม กล่าวว่า ส่วนใหญ่พวกโรฮิงญาจะเดินทางขึ้นฝั่งที่เกาะพยาม เมื่อเดินทางมาถึงจะมีการทุบทำลายเครื่องยนต์เรือ และเรือให้พังเสียหาย เพื่อไม่ให้ใช้การได้เพราะไม่อยากเดินทางกลับ เมื่อพวกตนเห็นชาวโรฮิงญาขึ้นฝั่ง ในฐานะที่เป็นไทยอาสาป้องกันชาติ หรือ ทสปช. และชุดรักษาความเรียบร้อยหมู่บ้าน หรือ ชรบ.ก็จะเข้าไปควบคุมตัวชาวโรฮิงญาไว้
จากนั้นก็จะแจ้งให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาดูแลต่อไป ส่วนชาวบ้านที่อยู่บนเกาะก็จะช่วยเหลือหาอาหารและน้ำมาให้ พร้อมทั้งมีการซ่อมแซมเรือก่อนที่จะมีการผลักดันออกไปด้วย โดยไม่มีการกระทำทารุณกรรมแต่อย่างใด
แต่ยอมรับว่าบางครั้งเรือที่ให้ชาวโรฮิงญาใช้เดินทางต่อไปนั้นไม่มีเครื่องยนต์จริง เพราะชาวโรฮิงญาได้ทุบทำลายเครื่องเรือไปแล้ว และชาวบ้านไม่มีเงินพอที่จะไปซื้อเครื่องเรือให้ใหม่ แต่จะมีการทำใบเรือให้แทน พร้อมทั้งจัดหาเสบียงอาหาร นำดื่มใส่เรือไปให้เต็มที่สามารถกินได้นานนับสัปดาห์ไม่ใช่สองวันตามที่เป็นข่าว