xs
xsm
sm
md
lg

คลื่นถล่มชายฝั่งนครศรีอ่วม-หมู่บ้านชาวประมงทะเลท่วม-หมู่บ้านแหลมตะลุมพุกวิกฤตซ้ำอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช – คลื่นทะเลชายฝั่งนครศรีธรรมราช พัดโหมกระหน่ำระดับความสูงของคลื่นสูงกว่า 2-4 เมตร ทำให้ส่งผลกระทบกับหลายชุมชนริมทะเล โดยเฉพาะในอำเภอปากพนัง และอำเภอหัวไทร เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักจากภาวะคลื่นพัดกระหน่ำในช่วงนี้อย่างรุนแรง แหลมตะลุมพุกวิกฤตส่อทะเลกลืน

วันนี้ (15 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงกรณีกระแสคลื่นลมแรงภายในอ่าวไทย โดยเฉพาะแนวชายฝั่งนครศรีธรรมราช ตั้งแต่อำเภอท่าศาลา อ.เมืองบางส่วน อ.ปากพนัง อ.หัวไทร พบว่ากระแสคลื่นได้พัดโหมกระหน่ำระดับความสูงของคลื่นสูงกว่า 2-4 เมตร ทำให้ส่งผลกระทบกับหลายชุมชนริมทะเล โดยเฉพาะในอำเภอปากพนัง และอำเภอหัวไทร เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักจากภาวะคลื่นพัดกระหน่ำในช่วงนี้อย่างรุนแรง โดยเฉพาะในตำบลแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง และตำบลหน้าสตน อ.หัวไทร

สำหรับในพื้นที่ตำบลแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง นั้น เป็นพื้นที่เสี่ยง และเป็นพื้นที่ที่เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง โดยเฉพาะแถบหมู่บ้านชาวประมงพื้นบ้านใน ม.2 ม.3 ซึ่งเป็นชุมราว 200 หลังคาเรือน ที่อยู่ริมทะเลถูกน้ำทะเลซัดเข้าท่วมเป็นเวลากว่า 6 ชม.

ขณะที่พื้นที่ชายทะเลแถบบ้านหน้าโกฏ ต.ขนาบนาค อ.ปากพนัง คลื่นได้กัดเซาชายฝั่งอย่างรุนแรง บ้านหลายหลังของประชาชนต้องถูกเจ้าของบ้านรื้อถอนไปสร้างใหม่ก่อนที่จะถูกกัดเซาะจนพังทลายไป และที่สร้างเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากพบว่า ตุ่ม และโอ่งน้ำขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านรองรับน้ำฝนไว้ดื่มนั้นถูกกระแสน้ำทะเลพัด และเข้าท่วมโอ่งจนน้ำดื่มกลายเป็นน้ำเค็มไม่สามารถบริโภคได้ ส่วนทรายนั้นถูกซัดเข้ามาจนมีระดับความสูงกว่าครึ่งโอ่งหรือประมาณ 70 ซม.

นายแพรก สังข์แก้ว อายุ 78 ปี อยู่ 47 ม.10 ต.ท่าพญา อ.ปากพนัง เปิดเผยว่า บนบ้านพักที่น้ำทะเลกำลังกัดเซาะพื้นที่บริเวณบ้านจนมาถึงใต้ถุนบ้านอย่างรุนแรง ว่าเดิมนั้นบริเวณนี้เป็นสวนมะพร้าวมีมะพร้าวกว่า 600 ต้น เนื้อที่ยาวกว่า 120 เมตร ปัจจุบันนั้นถูกน้ำทะเลกลืนไปหมดมะพร้าวเหลือเพียง 4 ต้น บ้านหลังเดิมหายไปในทะเลแล้ว และขณะนี้เหลือเนื้อที่เพียงไม่ถึง 10 เมตร ทะเลกำลังกลืนซ้ำอีกครั้ง ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะอพยพไปที่ไหน

ขณะที่ นายสุนีย์ ทองแก้ว ผู้ใหญ่บ้าน ม.2 ต.แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่าน้ำทะเลได้ซัดเข้าท่วมหมู่บ้านชาวประมงจนเต็มพื้นที่ และได้ลดระดับลงไปในอีกไม่กี่ ชม.ต่อมาที่สร้างความเสียหายคือ บ่อปลากะพง และบ่อปลาดุกทะเลที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ หายไปกับกระแสน้ำทะเลจำนวนมากต้องขอความช่วยเหลือ

ส่วนชาวประมงนั้นไม่สามารถออกทะเลได้เป็นเวลายาวนานกว่า 2 เดือนแล้ว เนื่องจากคลื่นลมแรงได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เบื้องต้นในเรื่องของการกัดเซาะนั้น ได้จัดหากระสอบทรายมาป้องกันแนวกัดเซาะชั่วคราวซึ่งไม่รู้ว่าจะทนแรงคลื่นได้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น