ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ตไถกลบตอซังแทนการเผา ภายใต้ “โครงการรณรงค์การไถกลบตอซังเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อนด้านการเกษตร” หวังลดโลกร้อนและปรับโครงสร้างดิน พร้อมรับนโยบายพ่อเมืองทำนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว
วันนี้ (15 ม.ค.) เวลา 14.00 น.ที่โรงสีข้าว หมู่4 ต.ไม้ชาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายไชยวัฒน์ เทพี นายอำเภอถลาง เป็นประธานเปิด “โครงการรณรงค์การไถกลบตอซังเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อนด้านการเกษตร” พร้อมด้วยนางศิริวรรณ ยอดไกล หัวหน้าสถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ต เพื่อลดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน โดยใช้มาตรการเร่งด่วนที่ต้องทำในระยะสั้น ภายในโครงการมีนักเรียนและชาวบ้านร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำปุ๋ยอินทรีย์น้ำเพื่อใช้รดตอซังก่อนการไถกลบ โดยการนำพืชผักที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ในครัวเรือนมาเป็นวัตถุดิบ
นางศิริวรรณ ยอดไกล หัวหน้าสถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ต กล่าวว่า การรณรงค์ลดเผาตอซังพืช มีด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และอ้อย ซึ่งถือเป็นพืชหลักที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศไทย ที่มีผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน สำหรับการไถกลบตอซังข้าวหรือพืชไร่ที่มีอยู่ในไร่นาภายหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วลงไปในดินระหว่างการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ขณะที่ดินมีความชื้น และปล่อยทิ้งไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้เกิดการย่อยสลายในดิน ด้วยการนำเทคโนโลยีชีวภาพของปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ได้จากการหมักซากพืชผัก ผลไม้ มาใช้ประโยชน์ในการหมักตอซัง
ส่วนข้อดีจากการไถกลบตอซังแทนการเผานั้นถือเป็นการเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้กับดิน ซึ่งจะช่วยทุ่นค่าใช้จ่ายของเกษตรกรด้านการใช้ปุ๋ยเคมีลดน้อยลง อีกทั้งยังช่วยปรับโครงสร้างของดินให้ร่วนซุยมากขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ยังลดมลภาวะในอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน
สำหรับผลจากการจัดทำโครงการ เห็นได้ว่าชาวบ้านให้ความสนใจ ที่จะสานต่อโครงการดังกล่าวเนื่องจากให้ประโยชน์หลายด้านต่อเกษตรกร และทางสถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ตจะให้การสนับสนุนด้านวัสดุอุปกรณ์แก่ชาวบ้านที่สนใจอีกด้วย นอกจากนี้ในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายปรีชา เรืองจันทร์ มีนโยบายที่จะพัฒนาที่นาดังกล่าวให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นแหล่งเรียนรู้การเกษตรในอนาคต ซึ่งขณะนี้พื้นที่ทุ่งนาในจังหวัดภูเก็ตมีจำนวนกว่า 200 ไร่ ส่วนในตำบลไม้ขาวมีด้วยกัน 139 ไร่ เป็นไร่สาธิตจำนวน 60 ไร่ จากทั้งหมด