สุราษฎร์ธานี - จังหวัดสุราษฎร์ธานี สรุปสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วง 7 วันอันตรายอันตรายเทศกาลปีใหม่ ตาย 11 ศพ เจ็บ 87 ราย ครองสถิติยอดเท่าเดิม 3 ปีซ้อน
วันนี้ (6 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ห้องประชุมชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายบุญส่ง เตชะมณีสถิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดแถลงสรุปผลการดำเนินงานป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนน ทางน้ำ และอากาศ ช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ 2552 ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2551-5 มกราคม 2552 พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ประกอบด้วย สำนักงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดสุราษฎร์ธานี,กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี,ตำรวจทางหลวง 5 กองกำกับการ 2,สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี,แขวงการทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี,สำนักงานขนส่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี,สำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปฏิบัติงานด้านอำนวยการ ประสานการปฏิบัติ และรายงานผลการปฏิบัติงาน
ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2551-5 มกราคม 2552 รวม 7 วัน และตั้งศูนย์ฯ ประจำอำเภอ 19 อำเภอ โดยบูรณาการเจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วน ตั้งจุดตรวจรวมทั้งหมด 68 จุด และจุดตรวจชุมชน 123 จุด และจุดบริการอำนวยความสะดวกจากหน่วยงานต่าง ๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำจุดตรวจ ด่านตรวจ จุดบริการ เฉลี่ยวันละ 1,253 คน ซึ่งสรุปผลการปฏิบัติงานได้ดังนี้
มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นในจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวม 70 ครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2551 ซึ่งเกิดขึ้น 77 ครั้ง ลดลง 7 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 9.09 มีผู้เสียชีวิตรวม 11 คน เป็น 9 คน หญิง 2 คน เท่ากับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2551 ที่มีผู้เสียชีวิต 11 คน ได้รับบาดเจ็บ (Admit) รวม 87 คน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2551 มีผู้บาดเจ็บ 101 คน ลดลง 14 คน คิดเป็นร้อยละ 13.86
สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเปรียบเทียบปีที่ผ่านมา มีผู้บาดเจ็บ 101 ราย ลดลง 14 ราย คิดเป็นร้อยละ 13.86 ส่วนสถิติผู้เสียชีวิตยอด 11 ราย เท่ากันมา 3 ปีซ้อน อุบัติเหตุเกิดขึ้นบนถนนสายหลักและสายรองมีอัตราเฉลี่ยเกือบจะเท่ากัน ส่วนใหญ่เกิดจากการเมาแล้วขับ และขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด การกวดขันตามมาตรการ 3 ม 2 ข 1 ร เรียกตรวจ 26702 ราย ถูกดำเนินคดี1527 ราย
สำนักงาน ปภ.สุราษฎร์ธานี สรุปสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้มีผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เกิดจากรถจักรยานยนต์ มีพฤติกรรมเสี่ยง เมาแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด เกิดบนถนนอบต. ถนนในหมู่บ้าน และทางหลวงแผ่นดิน ซึ่งเป็นทางตรง และทางโค้ง เกิดกับกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุอยู่ระหว่างเวลา 16.00-24.00 น.
พร้อมนำเสนอข้อแนะนำให้มีการเน้น การบังคับใช้กฎหมาย ตามมาตรการ 3ม 2ข 1ร อย่างเข้มงวด และจริงจังให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด โดยเฉพาะสถานที่ราชการ สถานศึกษา และสถานประกอบการ เป็นต้น ให้ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ในการรักษาวินัยจราจรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจัง เนื่องจากอุบัติเหตุเกิดกับคนในพื้นที่ที่เกิดเหตุเป็นส่วนใหญ่
โดยการจัดตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจัดทำแผนป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมจัดงบประมาณรองรับ ที่จะเตรียมนำไปปรับปรุงแก้ไขในช่วงเทศกาลตรุษจีนปลายเดือนนี้