ตรัง – ผู้ว่าฯตรังตรวจสอบท่าเทียบเรือต่างประเทศกันตังอำเภอกันตัง เตรียมงบประมาณกว่า 60 ล้านบาท ปรับปรุงให้มีคุณภาพ ปลอดภัย สะอาด สู่ความภูมิใจของชาวตรัง
นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบท่าเทียบเรือต่างประเทศกันตัง อ.กันตัง ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ พร้อมด้วย นายสมเกียรติ ภาษีทวีเกียรติ นายกเทศมนตรีเมืองกันตัง นายนราชัย ชุมศรี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท กันตังคอนเทนเนอร์ เดโพ จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการตู้คอนเทนเนอร์รายใหญ่ในจังหวัดตรัง ซึ่งดำเนินธุรกิจตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเทียบเรือกันตัง และดูแลจัดการความเรียบร้อยของท่าเทียบเรือกันตัง โดยมีบริษัทส่งออกจากหลายจังหวัดทางภาคใต้ มาใช้บริการเพื่อการส่งออกสินค้าเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้ทำการตรวจสอบท่าเทียบเรือกันตัง ใน 3 เรื่อง คือ 1.เรื่องความปลอดภัย และความมั่นคง ที่จะต้องดูแลให้มีคุณภาพเต็ม 100% 2.เรื่องความสะอาด และความเป็นระเบียบของอาคาร สถานที่ และขยะมูลฝอย ที่จะต้องจัดเก็บอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากท่าเทียบเรือระหว่างประเทศ อย่างท่าเทียบเรือกันตังถือเป็นประตูของประเทศและจังหวัดตรัง ดังนั้นจึงเป็นหน้าตาที่ต้องให้ความสำคัญ และ 3.เรื่องรายได้จากการให้บริการที่ท่าเทียบเรือกันตัง ซึ่งสามารถจัดเก็บภาษีได้เป็นจำนวนมากในแต่ละปีโดยเฉพาะในปี 2551 นี้ สามารถจัดเก็บภาษีได้เกือบ 80 ล้านบาท
สำหรับการรองรับการให้บริการที่เพิ่มมากขึ้น ทางกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ได้มีการเตรียมดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมท่าเทียบเรือกันตัง ทั้งในส่วนที่มีความชำรุด และในส่วนที่จะต่อเติมสร้างขึ้นใหม่ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้บริการของบริษัทส่งออกต่างๆ โดยมีการจัดเตรียมงบประมาณไว้ดำเนินการเป็นจำนวนกว่า 60 ล้านบาท พร้อมกันนี้ ยังได้สั่งการให้ทางเทศบาลเมืองกันตัง ดำเนินการขุดลอกร่องน้ำให้มีความลึกตามมาตรฐานสากล เนื่องจากเริ่มมีความตื้นเขินมากแล้ว และยังเป็นการป้องกันการกัดเซาะริมตลิ่ง รวมทั้งเร่งดำเนินการซ่อมแซมขอบร่องสะพาน และผิวสะพานที่มีความชำรุด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายหากมีการขยายตัวของท่าเทียบเรือเพิ่มมากขึ้นในเร็วๆ นี้
โดยสินค้าที่นำเข้าที่ท่าเทียบเรือกันตังมากที่สุดเป็นถ่านหิน รองลงมา คือ เศษไม้ เครื่องมือ อุปกรณ์ และปากระวาง ส่วนสินค้าส่งออก ได้แก่ ยางพาราซึ่งมียอดการส่งออกต่อเดือนประมาณ 2,000 ล้านบาท รองลงมา คือ ไม้ยางพารา ยางผสมสำเร็จ และแร่ยิปซั่ม โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกภายในสิ้นปี 2551 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการประมาณการคาดว่า ในช่วงต้นปี 2552 มูลค่าการส่งออกสินค้าน่าจะลดลงตามสภาพเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัวทั่วโลก แต่ก็ยังมีความหวังว่ายอดจะต่ำกว่าช่วงปีก่อนๆ ที่ผ่านมาไม่มากนัก