xs
xsm
sm
md
lg

กก.สิทธิมนุษยชนฯ เลือกภูเก็ตนำร่องดึงชุมชนมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดโครงการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมและสิทธิในการพัฒนาในพื้นที่นำร่องชายฝั่งทะเลอันดามัน เลือกภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่องจากที่มีความหลากหลายของชุมชน

เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (27 ต.ค.) ที่ห้องพรหมเทพ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต คุณหญิงอัมพร มีศุข กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อจัดทำโครงการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และสิทธิในการพัฒนาในพื้นที่นำร่องชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยมีนายสมิทธิ์ ปาลวัฒน์วิไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวต้อนรับและเข้าร่วมพร้อมด้วย รศ.ดร.ชิรวัฒน์ นิจเนตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต พัฒนาการจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตัวแทนเครือข่ายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม จากภาครัฐ เอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรชุมชนในท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะชุมชนเกาะสิเหร่ ราไวย์ สะปำ หินลูกเดียว และแหลมหลา

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของประชาชน การจัดกิจกรรมโดยชุมชน โดยใช้แนวคิดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และสิทธิในการพัฒนาอย่างสันติ มีดุลยภาพในพื้นที่นำร่องชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งประสบกับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม เนื่องจากโครงการพัฒนาของรัฐ ทบทวนบทเรียนจากประสบการณ์สร้างเครือข่ายสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมบนฐานองค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรชุมชน เชื่อมโยงกับกลไกสภาองค์กรชุมชนที่มีอยู่ เพื่อให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล และภาคส่วนต่างๆ ในการนำมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนไปใช้ในการปฏิบัติงานรวบรวมและเผยแพร่ประสบการเกี่ยวกับกรณีศึกษาด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งพัฒนาทักษะ และทัศนคติของเจ้าหน้าที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย และสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 3 ประเทศสมาชิกอาเซียน คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

คุณหญิงอัมพร มีศุข กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในประเทศไทยมีบุคคลและชุมชนหลายแห่ง โดยเฉพาะที่อยู่ห่างไกลต้องประสบภาวะที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนหรือถูกละเมิดสิทธิในบางกรณี รวมถึงสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และสิทธิในการพัฒนา คณะกรรมการสิทธิฯซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ จากประสบการณ์ส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเรื่องสิทธิข้างต้น ในระหว่างปี พ.ศ.2546-2551 พบว่าการพัฒนาในมุมมองของรัฐต่างจากมุมมองของประชาชนและชุมชน ทำให้โครงการพัฒนาหลายโครงการไม่สอดคล้องกับวิถีความเป็นชุมชน ยิ่งกว่านั้นบางโครงการมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของบุคคลและชุมชนด้วย

“การที่ผู้ด้อยโอกาสซึ่งอยู่ในท้องถิ่นห่างไกลจำนวนมาก ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ จึงควรผสานสิทธิมนุษยชนให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบคุณธรรมจริยธรรม ขณะเดียวกันก็ต้องสัมพันธ์กับการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ปัจจัยทางการเมือง และปัจจัยภายนอกประเทศด้วย” คุณหญิงอัมพรกล่าว และว่า

การที่เลือกชุมชนในภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากมีความหลากหลายของชุมชน และการดำเนินการขององค์กรชุมชนส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จ ซึ่งสามารถสรุปและนำเป็นแบบอย่างให้กับองค์กรในชุมชนอื่นๆ ได้ โดยมีระเวลาในการดำเนินโครงการ 1 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 - กันยายน 2552
กำลังโหลดความคิดเห็น