xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางนัดชุมนุมใหญ่ที่ สกย.สงขลา - ถกมาตรการจี้รัฐแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวสวนยางทั่วประเทศ ระดมพลพบกันที่ สกย.สงขลา “ถกปัญหาวิกฤตยางพาราไทย” ไตรภาคี 3 ฝ่าย ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นำเสนอรัฐบาล แก้ปัญหา ระบุ ยางพาราไทย ขณะนี้ยางล้นโกดัง โรงงานอุตสาหกรรมยางบางแห่งปิดรับซื้อยางแล้ว ต่างประเทศเบี้ยวสัญญา ระงับสัญญา ยืดสัญญาซื้อยาง

นายเพิก เลิศวางพงศ์ ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้( 17 ต.ค.) แกนนำ ชสยท.จากทั่วประเทศ ประมาณ 600 แห่ง จะร่วมประชุมกันที่ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยางเขต 1 จังหวัดสงขลา (สกย.) เพื่อหามาตรการนำเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือชาวสวนยางพารา ที่กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำ ในขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมยางพารา ก็ประสบปัญหาหนักเช่นกัน โดยให้รัฐบาลทำการเรียกประชุม 3 ฝ่าย อย่างเร่งด่วนที่สุด คือ เกษตรกรชาวสวนยาง โรงงานรับซื้อยางพารา และผลิตภัณฑ์ที่ใช้จากยางพารา และกลุ่มผู้ส่งออก เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

“เท่าที่ได้คุยกับโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศไทย ขณะนี้ปรากฏว่า แบกภาระหนักมาก ยางพาราล้นตลาดล้นโกดังเก็บ เนื่องจากไม่สามารถส่งออกยางพาราไปยัง ตลาดต่างประเทศตามสัญญาที่ตกลงกับผู้ผลิตต่างประเทศได้ ที่สำคัญคู่ค้าเบี้ยวสัญญา ระงับสัญญา และยืดสัญญาออกไป เพราะปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรป เพราะการส่งออกยางพารา 90 เปอร์เซ็นต์ จากกว่า 3 ล้านตัน / ปี อยู่ในตลาดจีน อเมริกา และญี่ปุ่น”

นายเพิก ยังกล่าวว่า มาตรการเบื้องต้นที่ได้มีการหารือกัน เพื่อเตรียมนำเสนอต่อรัฐบาลคือ 1. ปิดตลาดกลางยางพาราทั่วประเทศ ขอเงินกู้จาก สกย. รายละ 30,000 บาท และมาตรการสุดท้าย รัฐบาลจะต้องสนับสนุนเงินให้แก่สหกรณ์ชาวสวนยางเพื่อนำไปซื้อยางพาราในราคา 30 บาท / กก. ทั้งนี้ดีกว่ารัฐบาลใช้มาตรการแทรกแซงรับซื้อยางพาราจากชาวสวน เพราะมาตรการดังกล่าวรัฐบาลจะต้องหาเช่าโกดัง

ทั้งนี้เพราะทางสหกรณ์ประมาณ 600 แห่ง พร้อมกับโรงยางอัดก้อน 146 แห่ง สามารถจัดเก็บยางพาราไว้เอง ได้ถึงวันละ 600 ตัน เดือนละประมาณ 18,000 ตัน เป็นเงิน 540,000 บาท / เดือน มาตรการนี้ เพื่อป้องกันมิให้ยางพาราออกสู่ตลาดและล้นตลาด จนราคาดิ่งเหว และเมื่อยางพาราราคาเข้าสู่ภาวะปกติ สหกรณ์ก็จะขายยางคืนเงินให้แก่รัฐบาลต่อไป

นายเพิก ยังกล่าวอีกว่า สถานการณ์ยางพาราในขณะนี้ชาวสวนจำเป็นต้องรับสภาพไปอีกระยะหนึ่ง ชาวสวนยาง จะต้องชะลอการกรีดยางลง พักการกรีดยางเป็นช่วงๆ ตามความเหมาะสม เพราะโรงงานอุตสาหกรรมยางพาราบางแห่งหยุดซื้อยางพารา แต่อีกไม่นานราคายางพาราก็จะฟื้นตัว เพราะในต่างประเทศกำลังออกมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอยู่

ส่วนมาตรการอื่นๆ ชสยท.และผู้ที่เกี่ยวข้อง จะเสนอรัฐบาลให้มีการสนับสนุนการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ จากที่ใช้อยู่แล้วประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์


กำลังโหลดความคิดเห็น