ตรัง – บรรยากาศการทำบุญประเพณีวันสารทเดือนสิบ ที่ จ.ตรัง ปีนี้เงียบเหงา เนื่องจากตรงกับวันเปิดเรียนของบุตรหลาน
วันนี้ (15 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดตรัง ได้ออกไปสำรวจบรรยากาศการทำบุญประเพณีวันสารทเดือนสิบเล็ก หรือที่เรียกกันว่าวันทำบุญเล็ก หรือวันรับตายาย ของชาวไทยแท้ชาวปักษ์ใต้ หรือพุทธศาสนิกชนชาวปักษ์ใต้ ที่ถือปฏิบัติสืบกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ โดยต่างมีความเชื่อว่า บรรพบุรุษ หรือ ปู่ย่าตายาย ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วจะถูกปล่อยตัวจากยมบาลให้ขึ้นมาพบลูกหลานและญาติพี่น้อง ในช่วงระหว่างวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 ถึงวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 รวม เป็นระยะเวลา 15 วัน
ทั้งนี้ ตามวัดต่างๆ ในจังหวัดตรัง พุทธศาสนิกชนต่างพร้อมใจกันนำอาหารคาวหวานไปร่วมทำบุญเล็กกันอย่างเนืองแน่น เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ให้แก่ปู่ย่าตายาย ผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งถือเป็นการแสดงออกถึงความรักความสามัคคี และความกตัญญูกตเวที อีกทั้งยังถือเป็นการต้อนรับดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ตามความเชื่อที่ว่าจะกลับมาเยี่ยมลูกหลาน ในช่วงวันสาทรเดือนสิบของทุกปี
สำหรับอาหารคาวหวานที่นำไปทำบุญเล็ก โดยเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ก็คือ ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมดีซัม หรือขนมรู และขนมกง เพราะมีความเชื่อที่ว่าขนมทั้ง 5 อย่าง เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งของเครื่องใช้ ซึ่งผู้ที่ล่วงลับไปแล้วสามารถนำไปใช้เป็นยานพาหนะ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ เงินทอง และของเล่นตามประเพณี
อีกทั้งในช่วงระหว่างการทำบุญเล็ก ก็ยังได้มีการนำอาหารอีกส่วนหนึ่ง ไปตั้งบริเวณรอบนอกวัด เพื่อเป็นการตั้งเปรต หรือสัมภเวสี อย่างละเล็กอย่างละน้อย ตามความเชื่อที่เรียกกันว่าตั้งเปรต ก่อนที่จะมีการถวายสังฆทานแก่พระสงฆ์ พร้อมกับกรวดน้ำให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ซึ่งถือเป็นการทำบุญรับตายาย อย่างสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตว่า ในวันทำบุญสารทเดือนสิบเล็ก หรือวันรับตายาย ในปีนี้ มีลูกหลานเด็กเล็กมาร่วมทำบุญน้อยมาก จึงทำให้บรรยากาศของการชิงเปรตตามประเพณีนั้น เป็นไปอย่างเงียบเหงา เนื่องจากวันทำบุญเล็กตรงกับเปิดเรียน แต่คาดว่าในวันทำบุญสารทเดือนสิบใหญ่ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 29 กันยายน ประชาชนพุทธศาสนิกชนชาวตรัง น่าจะพาบุตรหลานมาร่วมทำบุญเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นการทำบุญวันสุดท้ายของประเพณีวันสารทเดือนสิบในปี 2551