xs
xsm
sm
md
lg

3 จชต.เสนอ กอ.รมน.ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเดือนถือศีลอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – สภาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ เสนอให้ กอ.รมน.ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ชั่วคราวในช่วงเดือนรอมฎอน เพื่อให้ผู้นับถือศาสนาอิสลาม ได้ปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างสบายใจ

มีรายงานว่า สภาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีมติเสนอให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประสานกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นการชั่วคราว ในช่วงของเดือนรอมฎอน เพื่อให้ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ได้ปฏิบัติศาสนกิจในเดือนแห่งความดีงาม ด้วยความสบายใจ

ทั้งนี้ เนื่องจากในระหว่างวันที่ 1-30 กันยายน 2551 ซึ่งเป็นเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอด และทำความดีของพี่น้องชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัด และมีกิจกรรมที่คาบเกี่ยวในห้วงเวลากลางคืน ซึ่งต้องออกจากบ้านเพื่อใปยังศาสนสถานในหมู่บ้าน การมี พ.ร.ก.ฉุนเฉิน จึงดูเหมือนว่าจะเป็นการขัดแย้งกับวิถีปฏิบัติของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คงจะเห็นถึงความสำคัญของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการชั่วคราว ซึ่งจะได้ผลในเรื่องของจิตวิทยามวลชน ที่รัฐไทยเห็นความสำคัญของเดือนรอมฎอน ซึ่งจะเป็นการได้ใจของประชาชนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดเหตุความไม่สงบขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กองทัพภาคที่ 4 โดย กอ.รมน.ส่วนหน้า ได้มี พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน บังคับใช้กับพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ง่ายต่อการ ปิดล้อม จับกุม ควบคุมพื้นที่ จำกัดความเคลื่อนไหวของแนวร่วม ในการปฏิบัติการสร้างความไม่สงบให้เกิดขึ้น

การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าถูกบุคคล และกลุ่มองค์กรเอกชนหลายหน่วยงานด้วยกันที่ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ฝ่ายก่อความไม่สงบหยิบขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือปลุกระดม โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชน ว่า รัฐบาลใช้กฎหมาย เพื่อกดขี่ข่มเหงชาวมุสลิมในพื้นที่

ในระยะหลังๆ ประเด็นของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อใช้โจมตีเจ้าหน้าที่รัฐค่อยๆ จางหายไป แต่ก็ไม่หมดเสียทีเดียว สาเหตุอาจจะมาจากการที่ แม้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ แต่ก็ใช้อย่างระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบที่เป็นวงกว้างกับประชาชนส่วนใหญ่ จะใช้อย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อต้องการปิดล้อม ตรวจค้น อย่างต่อเนื่อง หรือมีเหตุร้ายใหญ่ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความเด็ดขาดเข้าคลี่คลายสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้ง ก็เป็นเสมือนหนามที่ตำใจคนในพื้นที่อยู่ตลอดเวลา เพราะหากเกิดพลาดพลั้งในการปฏิบัติหน้าที่เกิดขึ้น และมีผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อ เจ้าหน้าที่รัฐก็สามารถใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ในการคุ้มครองตนเองให้พ้นผิด
กำลังโหลดความคิดเห็น