xs
xsm
sm
md
lg

พังงาจัดทำประชาคมถนนสายวัฒนาธรรมตะกั่วป่าพรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พังงา - สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพังงาร่วมกับเทศบาลเมืองตะกั่วป่า จัดทำประชาคม “ถนนสายวัฒนธรรม อำเภอตะกั่วป่า” พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมจังหวัดพังงาพรุ่งนี้

นางอุทัย พัฒนพิชัย หัวหน้าวัฒนธรรมจังหวัดพังงา เปิดเผยว่า สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพังงาร่วมกับเทศบาลเมืองตะกั่วป่า กำหนดจัดทำประชาคมเรื่อง ”ถนนสายวัฒนธรรม อำเภอตะกั่วป่า” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องประชาชนในพื้นที่ผู้นำท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ศิลปิน ช่างฝีมือ ผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ จำนวนทั้งสิ้นกว่า 300 คน เพื่อได้เข้ามามีส่วนในการแสดงความคิดเห็นร่วมกัน

โดยพื้นที่หลักในการจัดทำถนนสายวัฒนธรรมดังกล่าวจะเริ่มจากถนนอุดมธารา ตำบลตลาดใหญ่ เขตเทศบาลเมืองตะกั่วป่า ตรงบริเวณกำแพงเมืองเก่า และศาลเจ้าพ่อกวนอู ไปจนถึงตึกเก่าสไตล์ชิโนโปตุกีส ถนนศรีตะกั่วป่า ถ้าหากผลจากการทำประชาคมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่แล้ว ก็จะได้รวบรวมข้อมูลทุกอย่างเข้าประชุมอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะมีการกำหนดจัดกิจกรรมนำร่อง โดยคาดว่าจะให้ทันกับช่วงฤดูการท่องเที่ยวไฮซีซั่นที่จะมาถึงประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมศกนี้

โดยขณะนี้จังหวัดได้รับงบประมาณมาจากกระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานคณะกรรม การวัฒนธรรมแห่งชาติสนับสนุนนำร่องเป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท ทั้งนี้ เวทีประชาคม “ถนนสายวัฒนธรรม อำเภอตะกั่วป่า” กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 5 สิงหาคม 2551 เวลา 10.00 น.เป็นต้นไปที่อาคารโรงเรียนเทศบาลบ้านเสนารังสรรค์ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา โดยมีนายวิชัย ไพรสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นประธาน

ปัจจุบัน ”ตะกั่วป่า” มีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น ค่ายกำแพงค่ายเมืองเก่า สร้างใน พ.ศ.2386 ตั้งอยู่ที่ถนนอุดมธารา สมัยรัชกาลที่ 2 ได้มอบหมายให้พระยาเสนานุชิต (นุช) มารักษาการเมืองตะกั่วป่า โดยสร้างล้อมรอบที่พักเป็นกำแพงค่ายป้องกันศัตรู ความสูงประมาณ 3 เมตร, วัดเสนานุชรังสรรค์ ส่วนใหญ่จะเรียกว่า วัดกำแพงใหม่ โดยพระยาเสนานุชิต (นุช) เป็นผู้สร้าง มีโบราณที่สำคัญคือ พระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน สมัยรัชกาลที่ 3-5, อุทยานพระนารายณ์ อยู่ตรงข้ามสำนักเทศบาล เป็นที่ประดิษฐ์ฐานองค์เทวรูปพระนารายณ์พร้อมเทพบริวาร, สะพานเหล็ก ตั้ง อยู่ตำบลตลาดใหญ่ เยื้องวัดบางมรา สร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้น

สำหรับ “เมืองตะกั่วป่า” ในสมัยโบราณ คือ เมืองตะโกลา เป็นเมืองที่สำคัญเมืองหนึ่งทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของภาคใต้ มีความเจริญรุ่งเรืองมาพร้อมๆ กับเมืองนครศรีธรรมราช และเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ที่ชนต่างชาติทางตะวันตกรู้จักเป็นอย่างดี เหตุผลที่ใช้ชื่อนี้น่าจะสืบเนื่องมาจากเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยเครื่องเทศ โดยปรากฏตามจดหมายเหตุของโตเลมี เรียกเมืองนี้ว่า ตะโกลา อาหรับเรียกว่า กะกุละหรือกะโกละ นอกจากนี้ ยังมีชาวจีนได้นำเอาเครื่องกระเบื้องเข้ามาค้าขายยังถิ่นฐานนี้ตั้งแต่ 1,600 ปีมาแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น