xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ-WWF เลือกกระบี่ศึกษาต้นแบบการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศต่อทรัพยากรฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระบี่ - จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ WWF เลือกจังหวัดกระบี่ เป็นพื้นที่ศึกษาต้นแบบ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่อทรัพยากร ระบบเศรษฐกิจ และชุมชนชายฝั่ง จากผลกระทบภาวะโลกร้อน

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในอนาคตต่อทรัพยากรระบบเศรษฐกิจ และชุมชนชายฝั่งทะเลจังหวัดกระบี่ ณ ห้องประชุมปกาสัย ศาลากลางจังหวัดกระบี่ โดยมีนายธันวาคม เขมะศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ หน่วยงานราชการ ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมเข้าฟังการประชุม 100 คน ว่า

ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ WWF ประเทศไทย ได้เลือกจังหวัดกระบี่เป็นพื้นที่ศึกษาต้นแบบ เนื่องจากจังหวัดกระบี่ เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของทรัพยากรทั้งบนบกทางทะเลและชายฝั่ง และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชายฝั่งที่มีความหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยว การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน การเพราะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง รวมถึงชุมชนชายฝั่งที่มีวิถีชีวิตผูกติดอยู่กับทะเล

ดร.อานนท์ กล่าวต่อว่า จากภาวะโลกร้อนมีผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค โดยประเทศไทยตกอยู่ในข่ายที่จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนนั้น ผลที่เกิดขึ้นสืบเนื่องเป็นลูกโซ่

เริ่มจากผลกระทบต่อระบบชีวภาพกายภาพ และจะก่อให้เกิดผลกระทบสืบเนื่องต่อไปถึงด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศ จะส่งผลกระทบคุกคามต่อสภาพแวดล้อม และมีผลกระทบสืบเนื่องไปถึงการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน และการศึกษาเพื่อหาวิธีการประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อที่จะนำไปสู่การวางแผนนโยบายรับมือ และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว เพื่อให้ได้รับผลกระน้อยที่สุด

สำหรับจังหวัดกระบี่ พื้นที่ชายฝั่งทะเลมีความเสี่ยงสูง ที่จะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งนอกเหนือจากการที่พื้นที่ชายทะเลบางส่วน อาจถูกน้ำทะเลท่วมอย่างถาวรแล้วความแปรปรวนของระดับน้ำหลายฤดูกาลที่น่าจะมีมากขึ้น รวมทั้งจำนวนพายุไต้ฝุ่นที่อาจจะมีเพิ่มมากขึ้น จะทำให้โอกาสการเพิ่มสูงของน้ำทะเลอาจมีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ การเกษตรกรรม การเพาะเลี้ยง การหาเลี้ยงชีพของชุมชนชายฝั่งทะเล ตลอดจนความยั่งยืนของระบบนิเวศชายฝั่ง

ดังนั้น โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อการพัฒนาวิธีการประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตต่อชายฝั่งทะเลของประเทศไทย ทั้งในแง่ของผลกระทบโดยตรงต่อตัวทรัพยากร และระบบเศรษฐกิจ บนฐานทรัพยากรชายฝั่ง

นอกจากนี้ ยังเป็นการหาแนวทางที่เหมาะสม ในการสื่อสารข้อมูลความเสี่ยงต่างๆต่อแต่ละกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งข้อจำกัดและข้อควรระวัง เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปในแบบสองทาง และครบตามวัตถุประสงค์
กำลังโหลดความคิดเห็น