xs
xsm
sm
md
lg

ชี้คงกฎอัยการศึกต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำชายแดนใต้เสียภาพพจน์การลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพจน์ ไพบูลย์เกษมสุทธิ
ยะลา - อดีตประธานหอการค้า ชี้ การคงไว้กฎอัยการศึก และต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้นักลงทุนมองว่าสถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่ดีขึ้น ในขณะที่กรรมการที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ยันการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่กระทำการต่อประชาชนเกินอำนาจหน้าที่ได้ แนะใช้กฎหมายอาญาอย่างเดียวก็ได้ผล

นายพจน์ ไพบูลย์เกษมสุทธิ อดีตประธานหอการค้าและนักธุรกิจจังหวัดยะลา กล่าวถึงการคงไว้ในกฎอัยการศึกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ในแง่ของนักธุรกิจในพื้นที่ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลายาวนานกว่า 4 ปี แล้ว มีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึกมาเป็นเวลาหลายครั้งแล้ว จึงมั่นใจว่าคนในพื้นที่คงไม่เกิดผลกระทบอะไรมากนัก ยังคงดำเนินชีวิตตามปกติ

“ถ้าพูดถึงในแง่ของนักลงทุนต่างพื้นที่ คิดว่าเขาคงมองว่า ที่คงกฎอัยการศึกไว้ นั้น แสดงว่าในพื้นที่ยังมีความล่อแหลมต่อการลงทุนของเขา การลงทุนใหม่ๆ ก็คงไม่เกิดขึ้น แต่ถ้ามองในข้อดีนั้น คงจะเป็นข้อดีของส่วนราชการมากกว่า เนื่องจากการปฏิบัติในการตรวจค้นต่างๆ จะกระทำการได้คล่องตัวมากกว่า”

นายพจน์ กล่าวอีกว่า จริงๆ แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้น ทุกคนต้องการให้ปัญหาดังกล่าวจบไปโดยเร็ว เพราะผลกระทบในแง่ของการลงทุน ค่อนข้างจะสาหัสมาก โดยเฉพาะ การทำธุรกิจที่ต้องใช้เงินสด ในการจัดซื้อสินค้าเข้ามา ค่อนข้างจะวิกฤต เพราะว่านอกจากน้ำมันแพงขึ้นแล้ว คนต่างพื้นที่ไม่ยอมปล่อยเครดิตในการลงทุนให้กับคนในพื้นที่ จึงขอให้รัฐบาล ทำอย่างไรก็ได้ ที่จะให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยุติลงโดยเร็ว

ด้าน นายอับดุลอาซิส ตาเดอินทร์ กรรมการที่ปรึกษา สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น ซึ่งถ้ามองในผลกระทบของการใช้ พ.ร.ก.หรือการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาก็ดี ผลกระทบที่เป็นมายาวนานของชาวบ้าน คือ การไม่ได้รับความยุติธรรมและ ด้านศาสนา ในเรื่องของการประกอบศาสนกิจ การชุมนุมในการทำกิจกรรมทางศาสนา ซึ่งที่ผ่านมาทาง ครม.ได้ประกาศยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ ยกเว้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้กับ 5 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งมองแล้ว รัฐบาลยังคงคาดหวังในกฎหมายนี้ ว่าจะแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะการปราบปราม การตรวจค้นเป้าหมาย

“คิดว่าในพื้นที่ควรที่ใช้กฎหมายเพียงฉบับเดียว คือกฎหมาย ป.วิอาญา ดีกว่า เพราะที่ผ่านมารัฐบาลใช้กฎอัยการศึก 3 ปีกว่านั้นผลที่ได้รับไม่คุ้มกับการใช้งบประมาณที่ใช้กันอย่างมหาศาล แต่สถานการณ์ไม่ดีขึ้นกลับกันความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้น ด้วยการตอบโต้จากฝ่ายก่อความไม่สงบรุนแรงขึ้น อาทิ การใช้รถจักรยานยนต์บอมบ์ คาร์บอมบ์ เป็นต้น อย่างนี้รัฐบาลควรที่จะนำมาพิจารณาให้ดี”

นายอับดุลอาซีส กล่าวอีกว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จับกุมตัวผู้ต้องสงสัยเพื่อไปสอบสวน ยังเป็นข้อครหาของประชาชน ว่า จับกุมตัวแล้ว นำไปซ้อมบ้าง ทรมานบ้าง และบางครั้งนำไปควบคุมตัวยังสถานที่ที่ไม่ใช่ที่คุมขัง อย่างกรณีของโต๊ะอิหม่าม อ.รือเสาะ จับแล้วนำไปควบคุมตัวในรถ ซึ่งไม่ใช่เป็นที่สำหรับควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย จนเกิดการเสียชีวิตเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้น ในขณะเดียวกันเมื่อเจ้าหน้าที่ทำผิด ก็ไม่ได้รับการสอบสวนดำเนินการในการกระทำความผิด เพียงแต่ได้ย้ายออกจากพื้นที่เท่านั้น

“การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่มากเกินความจำเป็น น่าจะยกเลิก แล้วมาใช้กฎหมายธรรมดา ในข้อเท็จจริง นั้น การใช้กฎอัยการศึกก็น่าจะเพียงพอในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่แต่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น เจ้าหน้าที่ยังใช้อำนาจหน้าที่เกินกว่าที่ พ.ร.ก.กำหนด ทำให้เกิดการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เกินที่ประชาชนจะรับได้” นายอับดุลอาซิส กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น