xs
xsm
sm
md
lg

สถิติไฟใต้ชี้ “พื้นที่สีแดง” โยงประวัติศาสตร์ปัตตานี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - วงประชาสังคมถกสถิติไฟใต้สามสำนักระบุเหตุปี 50 ลดลงช่วงปลาย แต่พุ่งขึ้นในช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ระบุสมรภูมิยังยึดถนนเป็นหลัก ในขณะที่สิบอำเภอสีแดงล้วนเกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ แต่เมืองยะล่ายังครองแชมป์ศูนย์กลางความรุนแรง

วันนี้ (25 ก.พ.) ที่ห้องประชุมคณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้จัดเวทีวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนายสมัชชา นิลปัทม์ เจ้าหน้าที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นำเสนอรายงานสรุปสรุปรายงานสถานการณ์การเฝ้าระวังการบาดเจ็บ (VIS) จากความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2550 พบว่า ตลอดปีที่ผ่านมา มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของ จ.สงขลา จำนวน 1,228 ครั้ง คิดเป็นค่าเฉลี่ย 3.4 ครั้งต่อวัน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 2,362 ราย เฉลี่ยแล้วมีผู้ประสบเหตุไม่สงบ 6.5 รายต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตจำนวนทั้งสิ้น 628 ราย หรือเฉลี่ย 1.7 รายต่อวัน

อย่างไรก็ดีจากสถิติที่รวบรวมได้ พบว่า ตั้งแต่เดือน ก.ย.-ธ.ค.2550 เหตุรุนแรงลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับในแง่พื้นที่นั้น พบว่า ตลอดปี 2550 จ.นราธิวาส มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นมากที่สุด รวมทั้งสิ้น 440 เหตุการณ์ มีผู้ประสบเหตุสูงสุดคือ 891 คน รองลงมา คือ จ.ยะลา มีผู้ประสบเหตุ 743 คน ปัตตานี 630 คน และสงขลา 147 คน

นายสมัชชา กล่าวต่อว่า หากพิจารณาในระดับอำเภอด้วยข้อมูลทางสถิติยังพบว่า อ.เมือง จ.ยะลาคือศูนย์กลางของการก่อเหตุรุนแรง เนื่องจากมีเหตุร้ายเกิดขึ้นถึง 118 เหตุการณ์ หรือโดยเฉลี่ยแล้วทุกๆ 3 วันจะเกิดเหตุรุนแรงในเขต อ.เมืองยะลา 1 ครั้ง ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งสิ้น 290 ราย นั่นหมายถึงว่าทุกๆ 10 วันจะมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในเขต อ.เมืองยะลา มากถึง 8 คน ด้วยเหตุนี้ คลื่นแห่งความรุนแรงนั้น มี อ.เมืองยะลาเป็นศูนย์กลาง และจะขยายสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อ.รามัน (จ.ยะลา) อ.รือเสาะ อ.ระแงะ (จ.นราธิวาส) ทิศใต้สู่ อ.ยะหา อ.บันนังสตา (จ.ยะลา) และทิศตะวันออกสู่ อ.ยะรัง อ.เมืองปัตตานี และ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

“ความเข้มข้นของสถานการณ์ความรุนแรงลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนสมรภูมิหลักของความรุนแรงยังคงอยู่บนท้องถนน และช่วงครึ่งปีแรก ทหารคือผู้สูญเสียมากที่สุด แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง เป้าของความสูญเสียย้ายไปอยู่ที่ชาวบ้าน”

ด้าน น.ส.สุภาภรณ์ พนัสนาชี เจ้าหน้าที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) กล่าวถึงข้อมูลสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบว่าจะมีอำเภอสีแดงที่เกิดเหตุบ่อยครั้งที่สุด 10 อำเภอแรก ได้แก่ เมืองยะลา ระแงะ รามัน บันนังสตา รือเสาะ ยะรัง สุไหงปาดี เมืองปัตตานี หนองจิก สายบุรี และ บาเจาะ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่ดังกล่าวล้วนเกี่ยวโยงกับหัวเมืองประวัติศาสตร์ในอดีตของอาณาจักรปัตตานีในอดีต

นอกจากนี้ น.ส.สุภาภรณ์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ระยะหลังจำนวนผู้เสียชีวิตจะมากกว่าจำนวนครั้งที่ก่อเหตุโดยเฉลี่ย กล่าวคือ เหตุการณ์ในแต่ละครั้งจะมีผู้เสียชีวิต 2-3 คน โดยเฉลี่ย นอกจากนี้ วิธีการก่อเหตุยังเน้นการใช้ระเบิดมากกว่าการยิงซึ่งแตกต่างกับช่วงเวลาที่ผ่านมา

ส่วนนางเมตตา กูนิง นักวิชาการศูนย์ประสานงานวิชาการและให้ความช่วยเหลือผู้สูญเสียที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) เปิดเผยข้อมูลของ ศวชต.ว่า ข้อมูลสถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วงปลายปีที่แล้วลดลงแต่กลับกระโดดสูงขึ้นในช่วงเดือน ม.ค.เป็นต้นมา ซึ่งข้อมูลที่ทำการแยกแยะแล้วว่าเป็นเหตุที่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบมีสูงถึง 233 ครั้ง ซึ่งจากข้อมูลระบุว่าเหตุการณ์แม้จะน้อยแต่ก็ตายและเจ็บสูงขึ้น

นักวิชาการผู้นี้ระบุว่า ศวชต.ได้เริ่มทำงานเก็บข้อมูลที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อเป็นฐานข้อมูลการเยียวยาของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยการตรวจสอบกับฐานข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนหน้า (ศปก.ตร.) และแหล่งข่าวต่างๆ เพื่อตรวจสอบว่าผู้ได้รับผลกระทบเป็นผลมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ไม่ได้เป็นเหตุขัดแย้งส่วนตัวเพื่อจะใช้เป็นฐานในการเยียวยา

อย่างไรก็ตาม มีคำถามจากชาวบ้านบางส่วนว่าเป็นการเก็บข้อมูลให้ภาครัฐ จึงต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่า ศวชต.ทำข้อมูลเพื่อรองรับการช่วยเหลือเยียวยา เช่น เด็กที่ถูกลูกหลงจากเหตุฯ ครอบครัวที่สูญเสียทั้งพ่อและแม่ ซึ่งท้ายที่สุดก็ได้ประสานงานไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้ ด้วยฐานข้อมูลที่เป็นระบบจึงได้รับการนำไปใช้ของหน่วยงานต่างๆ

น.ส.อลิสา หะสาเมาะ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ระบุว่า นอกจากข้อมูลความรุนแรงดังกล่าวแล้ว มีข้อสังเกตว่าบางพื้นที่ก็ไม่ได้มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเลย ดังเช่นพื้นที่ ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส ที่เคยมีเหตุการณ์เพียงเผาหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งชาวบ้านระบุว่าเป็นฝีมือของคนนอกพื้นที่ จึงน่าสนใจว่าในบางพื้นที่ก็ไม่ได้มีเหตุรุนแรงด้วยเช่นกัน

ขณะที่ น.ส.ละม้าย มานะการ ผู้ประสานงานด้านการเยียวยาเหยื่อความรุนแรง ระบุว่า สถานการณ์ทุกวันนี้ตอกย้ำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนพุทธกับมุสลิม ห่างมากขึ้น บางครั้งเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐเอง เช่น โครงการฝึกอาวุธให้ราษฎรอาสารักษาหมู่บ้าน (อรบ.) เฉพาะชาวไทยพุทธ ซึ่งจะเห็นปัญหาในหมู่บ้านที่มีชาวบ้านทั้ง 2 ศาสนา นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตุด้วยว่าบางเหตุการ์เองก็เป็นเพียงเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ของความขัดแย้งไทยพุทธเหมือนกัน ชาวไทยพุทธเป็นเหยื่อซ้อนเหยื่อ เพื่อชี้ให้เจ้าหน้าที่เบี่ยงเบน อาทิ มีการตัดไม้สูงในรามัน และรือเสาะ
กำลังโหลดความคิดเห็น