xs
xsm
sm
md
lg

ม.ทักษิณร่วมมือ สสส.ผลักดันสู่องค์กรสร้างเสริมสุขภาพแห่งแรกภาคใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – ม.ทักษิณ ร่วมมือ สสส.ผลักดันมหาวิทยาลัยสู่องค์กรสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็น 1 ใน 7 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวของภาคใต้ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ซึ่งพบ 7 ประเด็นปัญหาที่คุกคามสุขภาพและศักยภาพของนิสิต โดยสร้างผลกระทบต่อการเรียนของนิสิต และการปฏิบัติงานของบุคลากรในปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาการเพิ่มขีดความสามารถสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ และได้จัดพิธีลงนามข้อตกลงร่วมกัน (Memorandum of Understanding) กับตัวแทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อร่วมแสดงเจตจำนงสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ โดยมุ่งหวังให้บุคลากร นิสิต มีสุขภาวะที่ดีเป็นพื้นฐาน พร้อมทั้งยกระดับสุขภาวะของคนในองค์กรให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

โดยพิธีลงนามความร่วมมือดังกล่าวจัดทำขึ้นระหว่างตัวแทนของ 2 องค์กร คือ รองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ สายธนู อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ และนายสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ณ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้แทนจากมหาวิทยาลัยทักษิณเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน 3 ท่าน คือ ดร.เรวดี กระโหมวงศ์ รองคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพและวิจัย คณะศึกษาศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑารัตน์ สถิรปัญญา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพและประเมินผล นางจรวยพร กาญจนโชติ ผู้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้างานพัฒนานิสิต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑารัตน์ สถิรปัญญา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพและประเมินผล กล่าวว่า “โครงการพัฒนาการเพิ่มขีดความสามารถสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ เป็นหนึ่งในชุดโครงการใหญ่คือ โครงการพัฒนาการเพิ่มขีดความสามารถสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ โดยมีรองศาสตราจารย์นิโลบล นิ่มกิ่งรัตน์ เป็นผู้บริหารชุดโครงการดังกล่าว

โดยดูศักยภาพของมหาวิทยาลัยที่จะสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งทั้งประเทศจะมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมทั้งหมด 7 แห่ง มหาวิทยาลัยทักษิณเป็นมหาวิทยาลัยในภาคใต้เพียงแห่งเดียวที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะดูแนวทางและแนวโน้มของการเพิ่มขีดความสามารถสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ และศักยภาพของมหาวิทยาลัยประกอบเพิ่มเติม ทั้ง 7 มหาวิทยาลัยจะดำเนินโครงการในลักษณะที่เหมือนกันโดยรับเงินสนับสนุนจาก สสส.

โดยเฉพาะขั้นตอนการดำเนินงาน 7 ขั้นตอน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยจะจัดทำคำสั่งให้มีผู้รับผิดชอบโครงการ อธิการบดีเข้าร่วมประชุมเพื่อลงนามความร่วมมือกับ สสส. ผู้ดูแลรับผิดชอบโครงการขอรับสนับสนุนงบประมาณ ดำเนินเรื่องเข้าสู่สภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเพื่อให้รับทราบและเห็นชอบพร้อมข้อเสนอแนะ หลังจากนั้นก็จะจัดตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือคณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการดำเนินการ เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตลอดระยะเวลา 1 ปี หลังจากลงนามความร่วมมือ

จากการศึกษาประเด็นปัญหาต่างๆ พบว่า 7 ประเด็นปัญหาในมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้แก่ เรื่องอุบัติเหตุ เรื่องความปลอดภัยของอาหาร เรื่องการออกกำลังกาย เรื่องบุหรี่ เรื่องของแอลกอฮอล์ เรื่องสุขภาพจิต เรื่องของเพศสัมพันธ์ ซึ่งทั้ง 7 ประเด็นปัญหา เป็นเรื่องที่คุกคามสุขภาพ และศักยภาพของนิสิต โดยสร้างผลกระทบต่อการเรียนของนิสิตและการปฏิบัติงานของบุคลากรในปัจจุบัน ซึ่งในปีแรกจะมุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างความตระหนักและสร้างความตื่นตัวให้บุคลากร นิสิต ได้เห็นความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพ

โครงการดังกล่าวจะต้องมีการระดมจัดทำแผนและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจังในมหาวิทยาลัยซึ่งในขณะนี้ก็ได้เริ่มดำเนินการในขั้นของการจัดทำแผนปฏิบัติการ 7 ปัญหาเรียบร้อยแล้ว ในส่วนของวิธีการที่จะมุ่งเน้นและสร้างความตระหนักและความเข้าใจให้เกิดขึ้นแก่บุคลากร นิสิต ทุกคนในมหาวิทาลัย ถึงวิธีการและลดปัญหาทั้ง 7 ประเด็นปัญหาที่กล่าวมา จำเป็นต้องเร่งทำประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงวิธีการในการดำเนินการสู่มหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพอย่างแท้จริง

สำหรับรายละเอียดและข้อตกลงเจตจำนงสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพเพื่อการยกระดับสุขภาวะของคนในองค์กรให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน มีดังนี้
 
1.ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการมุ่งมั่นผลักดันให้การสร้างเสริมสุขภาพของคนในองค์กรเป็นนโยบายที่สำคัญของมหาวิทยาลัย โดยมีโครงสร้างการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการตอบสนองต่อนโยบาย
 
2.ส่งเสริมและพัฒนาการออกระเบียบ ข้อบังคับหรือประกาศ ของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทางสังคมและวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีของคนในองค์กร
 
3.มหาวิทยาลัยจะสร้างเสริมทักษะในการดำเนินชีวิตหรือประกอบกิจใดๆ ในลักษณะที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีให้แก่คนในมหาวิทยาลัย

4.มหาวิทยาลัยและ สสส. จะร่วมกันสังเคราะห์ ประสบการณ์ที่ได้จากการดำเนินการทั้งหลายให้เป็นองค์ความรู้ที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับมหาวิทยาลัยหรือองค์กรอื่นๆ

 
5.สำนักงานกองทุน สสส. โดยคณะกรรมการบริหารแผนสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรจะให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยในส่วนของการพัฒนากระบวนการการจัดการที่มหาวิทยาลัยกล่าวไว้ข้างต้นตามขอบเขตของพันธกิจ ข้อบังคับ และกฎหมายที่กำหนดให้กองทุน สสส.สามารถทำได้
 
6.การดำเนินการทั้งหลายระหว่าง สสส.กับมหาวิทยาลัยจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และเป็นกัลยาณมิตรโครงการดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อสังคม โดยคณะทำงานทุกคนมุ่งหวังให้ทุกคนมีสุขภาวะที่ดีเพื่อชีวิตที่ยั่งยืนตลอดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น