xs
xsm
sm
md
lg

ตรังเปิดโครงการ “ยิ้มสวย เสียงใส” เทิดพระเกียรติ “พระเทพฯ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง – “ผวจ.ตรัง” แถลงข่าวเปิดโครงการ “ยิ้มสวย เสียงใส” เทิดพระเกียรติ “พระเทพฯ” หวังช่วยเด็กปากแหว่ง เพดานโหว่ ให้ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ

วันนี้ (21 ม.ค.) ที่โรงพยาบาลตรัง นายอานนท์ มนัสวานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในการแถลงข่าวเปิดโครงการ “ยิ้มสวย เสียงใส จังหวัดตรัง” พร้อมด้วย นางจรูญศรี มนัสวานิช นายกเหล่ากาชาดจังหวัดตรัง และ นายแพทย์ศุภชัย ศุภฤกศ์สกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง

ทั้งนี้ โครงการยิ้มสวย เสียงใส ดำเนินการขึ้นโดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสภากาชาดไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติ 50 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2548 จนถึงปัจจุบัน

นายอานนท์ มนัสวานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ปัจจุบันในสังคมไทยพบผู้ป่วยโรคปากแหว่ง เพดานโหว่ ซึ่งถือเป็นความพิการของใบหน้าแต่กำเนิดที่พบมากที่สุด โดยมีอัตราการเกิดความพิการปากแหว่ง ประมาณ 1 ต่อ 650 ของทารกเกิดมีชีพ และความพิการเพดานโหว่ ประมาณ 1 ต่อ 2,500 ของทารกเกิดมีชีพ

โดยความพิการเหล่านี้ส่งผลให้ทารกดูดนม และรับประทานอาหารอย่างยากลำบาก เพราะจะทำให้เกิดการสำลักอาหารและเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย รวมทั้งยังเกิดความพิการอย่างอื่น ที่ก่อให้เกิดปัญหาในการดำรงชีวิตในสังคม

ทั้งนี้ ในส่วนของจังหวัดตรัง ได้เริ่มต้นโครงการเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2548 ด้วยการค้นหา และลงทะเบียนระบบรายงาน โดยมีผู้ป่วยที่ลงทะเบียนเข้ารับการบริการผ่าตัด ทั้งหมด 43 ราย แยกออกเป็นผู้ป่วยปากแหว่ง 11 ราย เพดานโหว่ 14 ราย ปากแหว่งและเพดานโหว่ 18 ราย โดยล่าสุด มีผู้ป่วยที่ได้รับบริการผ่าตัดตกแต่ง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2550 จำนวน 32 ราย รอการผ่าตัด 5 ราย ย้ายที่อยู่ 3 ราย และเสียชีวิตแล้ว 3 ราย

ดังนั้น ในปี 2551 ทางสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ จึงร่วมกับสภากาชาดไทย จัดทำโครงการศัลยกรรมตกแต่งแก้ไข ปากแหว่ง เพดานโหว่ และความพิการอื่น เช่น นิ้วติดกัน โดยกำหนดดำเนินการระหว่างวันที่ 21-25 มกราคม 2551 ซึ่งจังหวัดตรัง ให้บริการที่โรงพยาบาลตรัง ซึ่งหากผู้ป่วยรายใดต้องการเข้ารับการรักษาตกแต่งแก้ไข สามารถเข้าแจ้งความจำนง และรอเข้ารับการผ่าตัดแก้ไขในระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ทั้งผู้ป่วยและญาติให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนเป็นการพัฒนาปรับปรุงแนวทางการรักษาผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และผู้พิการอื่นๆ ต่อไปด้วย ส่วนในปี 2551 มีผู้ป่วยเข้าแจ้งความจำนงเข้ารับบริการผ่าตัดตามโครงการแล้ว 96 ราย


กำลังโหลดความคิดเห็น