ยะลา - “ผบ.ฉก.ยะลา” เชิญ “ผวจ.ยะลา-NGO” ถกปัญหาดับไฟใต้ ยืนหากมีทหารแหกกฎจับส่งศาลแน่ “ไกรศักดิ์” ชี้เป็นนิมิตหมายอันดีหลังได้ร่วมวง หวังช่วยลดระแวงที่ชาวบ้านมีต่อ จนท.
วันนี้ (17 ม.ค.) ที่ห้องประชุม ศตส.ชั้น 3 อาคารศาลากลางจังหวัดยะลา พล.ต.วรรณทิพย์ ว่องไว รองแม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งรับผิดชอบงานด้านความมั่นคงทั้งหมดของ จ.ยะลา ได้เชิญผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาร่วมปรึกษาหารือที่ศาลากลางจังหวัดเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยกล่าวว่าการพบปะในวันนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในพื้นที่ เพื่อลดความหวาดระแวงระหว่างประชาชนและจนท.ให้ลดน้อยลงพร้อมกับชี้แจงแนวทางในการทำงานในพื้นที่ให้รับทราบ
โดยให้คำยืนยันว่า หากกำลังพลในหน่วยขึ้นตรงปฏิบัติขัดนโยบายที่ทางกองทัพบกได้วางไว้ และมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่ามีการใช้ความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุกระทำต่อประชาชนในพื้นที่ จะนำส่งตัวขึ้นศาลทหารเพื่อให้มีการพิจารณาลงโทษ
ทางด้าน นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า การพบปะพูดคุยในวันนี้เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่มีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และผู้นำศาสนาในพื้นที่มาแลกเปลี่ยนความเห็นพร้อมกับเสนอแนะแนวทางในการร่วมมือกันเพื่อให้เกิดสันติสุขขึ้นในพื้นที่
โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้กล่าวทำความเข้าใจว่าทางจังหวัดมีสภาที่ปรึกษาระดับอำเภอๆ ละ 10 คนที่ชาวบ้านสามารถพูดคุย ปรึกษาหารือได้ เป็นองค์กรที่ประชาชนพึ่งและร้องทุกข์ได้ในการขอความเป็นธรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ "ยะลาสันติสุข"
โดยการทำความเข้าใจในภาคประชาชนให้รู้ในสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน ลดความหวาดระแวง สร้างความยุติธรรม และการไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ยอมรับวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่าง รวมถึงการให้ประชาชนได้มีที่พึ่งทางยุติธรรมและไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น
นายธีระ กล่าวว่า การจะทำให้ยะลาเกิดสันติสุขได้นั้นจำเป็นที่ประชาชนต้องเข้ามีส่วนร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น องค์กรศาสนาและผู้นำศาสนาจะมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาด้านจิตวิญญาณ อัตลักษณ์และร่วมช่วยเหลือประชาชนอีกหนทางหนึ่ง
ด้าน นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ที่ปรึกษาเครือข่ายรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน และ ส.ส.สัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวยอมรับว่า รู้สึกแปลกใจมากที่ได้รับการเชื้อเชิญจากทางทหารและผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ให้มาพูดคุยและรับรู้ถึงแนวทางการทำงานในพื้นที่เพื่อสร้างความโปร่งใสในการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีและคาดหวังว่าการพูดคุยในวันนี้จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในพื้นที่ในระยะยาว และลดความหวาดระแวงที่ชาวบ้านในพื้นที่มีต่อเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง