xs
xsm
sm
md
lg

“พิทักษ์ รังษีธรรม” สิ้นตำนานนักสู้ “การเมือง-ธุรกิจ” เมืองตรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมธี เมืองแก้ว
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่... รายงาน


นายพิทักษ์ รังสีธรรม ถือเป็นบุคคลหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่ว ทั้งในจังหวัดตรังและในระดับประเทศ โดยเฉพาะจากบทบาททางด้านการเมือง เพราะเป็นผู้ที่ชิงตำแหน่ง ส.ส.ตรัง ไปครองได้ เมื่อปี 2530 ทั้งๆ ที่ไม่ได้สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนเส้นทางธุรกิจก็พลิกผันเป็นอย่างยิ่ง ทั้งโรงแรม โรงยาง โรงเรียน เคเบิลทีวี ฯลฯ

“พิทักษ์ รังษีธรรม” เป็นชาวจังหวัดตรังโดยกำเนิด ลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2485 ที่โรงพยาบาลตรังชาตะสงเคราะห์ หรือที่เรียกกันว่าโรงพยาบาลแม่จีน โดยบ้านที่เขาอาศัยอยู่ในวัยเด็กนั้น เป็นย่านชุมชนธุรกิจ ใกล้ๆ กับตลาดสดท่ากลาง ในเขตเทศบาลนครตรัง

ครอบครัวของเขาถือว่าเป็นผู้ที่มีฐานะดีครอบครัวหนึ่ง โดยเริ่มตั้งแต่รุ่นคุณปู่คือ “กว้าง ลุ้งไคร” ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น “แซ่ลุ้ง” และ “รังษีธรรม” ในที่สุด ซึ่งได้เดินทางมาจากเมืองจีนเข้ามาค้าขายกาแฟ และเป็นเจ้าแรกที่เข้ามาผลิตและขายขนมเค้กในจังหวัดตรัง พร้อมกับไปติดต่อค้าขายกับเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย

มาถึงรุ่นคุณพ่อก็ยิ่งมีฐานะดีมากขึ้น และสามารถปลูกสร้างสวนยางพาราได้มากมาย เฉพาะแห่งที่ตำบลลำภูรา อำเภอห้วยยอดนั้น ได้นำรายได้มาส่งเสียเขาเรียนหนังสือเพียงคนเดียว จากพี่น้อง 10 คน จนทำให้เขาคือผู้ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในตระกูลรุ่นที่ 3

“พิทักษ์ รังษีธรรม” เข้าเรียนแห่งแรกที่โรงเรียนทับเที่ยงฮั่วเฉียว ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีคนไทยเชื้อสายจีนนิยมเรียนกันมาก เพราะจะเน้นภาษาจีนควบคู่กับวิชาอื่นๆ ด้วย จนเมื่อจบชั้น ป.6 เขาก็ได้มาเรียนต่อที่โรงเรียนตรังวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวกับที่ “ชวน หลีกภัย” เคยร่ำเรียน

ตอนแรกเขาตั้งใจที่จะเป็นนายตำรวจให้ได้ แต่ทางบ้านต้องการให้ทำธุรกิจค้าขายมากกว่า จึงต้องไปเรียนด้านพาณิชย์ที่เมืองปีนัง ซึ่งเป็นสถานที่ที่นักธุรกิจของปักษ์ใต้ส่วนใหญ่ จะนิยมส่งลูกหลานไปเรียนกันที่นั่น ก่อนที่จะไปเรียนต่อที่ประเทศสิงคโปร์อีก 3 ปี

จบออกมาเขาตัดสินใจเก็บกระเป๋า ขึ้นรถไฟไปกรุงเทพฯ เพื่อหางานทำทันที โดยมีเงินที่คุณแม่ให้มาใช้แค่ 700 บาท แต่โชคดีที่สมัครงานไว้ 3 ที่ และรับเข้าทำงานหมด ทั้งที่สถานทูตประเทศสหรัฐอเมริกา ที่บริษัทของประเทศญี่ปุ่นคือ บริษัท มารูเบนิ จำกัด และที่โรงแรมฟูจิ

ต่อมาเขาตัดสินใจไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ยาวนานถึง 19 ปี ก่อนที่จะกลับมาเมืองไทย และได้เจอกับ “จินตนา รังษีธรรม” คู่ชีวิตในปัจจุบัน และลงมาอยู่ที่บ้านเกิดในจังหวัดตรัง ซึ่งคือจุดเริ่มในเส้นทางการเมือง ด้วยการลงสมัคร ส.ส.เมื่อปี 2529 ในนามพรรคก้าวหน้า แต่ก็สอบตก ได้เพียงลำดับที่ 5 ด้วย 54,000 คะแนน จาก ส.ส.ที่ต้องการ 3 คน ซึ่งเขาก็ภูมิใจเพราะมีเวลาหาเสียงแค่ 70 วัน และมีผู้สมัครแข่งด้วยถึง 21 คน

การเลือกตั้งครั้งนั้นเขาได้รับบทเรียนทางการเมืองที่เจ็บปวด ด้วยการถูกกล่าวหาว่าได้รับทุนสนับสนุนมาจากประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น ในปี 2531 เขาจึงลงสมัคร ส.ส.ตรัง อีกครั้ง ในนามพรรคประชาชน และในปีนี้นี่เองที่พรรคประชาธิปัตย์ ต้องเสียเก้าอี้ 1 ตัวให้กับเขาผู้นี้ ซึ่งสอบได้ในลำดับที่ 3 ด้วย 75,000 คะแนน เบียด “วิเชียร คันฉ่อง” อดีต ส.ส.หลายสมัย ให้สอบตก และนั่นก็ทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังไปทั่วทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเมื่อปี 2535 และอีกหลายๆ สมัยหลังจากนั้น “พิทักษ์ รังธีธรรม” จะลงสมัคร ส.ส.ตรัง อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จอีกเลย หรือแม้การเบนเข็มมาสู่เวทีการเมืองท้องถิ่น ด้วยการลงชิงชัยในตำแหน่งนายก อบจ.ตรัง เมื่อปี 2547 แต่ก็สู้กับ “กิจ หลีกภัย” พี่ชายของ “ชวน หลีกภัย” ไม่ได้

ทั้งนี้ ผลพวงจากลงมาเล่นการเมืองระดับชาติ มีส่วนช่วยผลักดันให้เขาเข้าสู่วงการธุรกิจ จนก่อเกิดกิจการต่างๆ มากมายจนแทบนับไม่ถ้วน นับตั้งแต่โครงการแรกคือ บ้านจัดสรร “หมู่บ้านรังษีวิลล่า” ตั้งอยู่บนถนนวัดนิโครธ ในเขตเทศบาลนครตรัง โดยขายดีมากจนต้องขยายออกไปอีกหลายเฟส จากนั้นเขาก็ได้ลงทุนก่อสร้าง “โรงเรียนจินตรังษี” (ปัจจุบันได้ขายกิจการไปแล้ว และเปลี่ยนชื่อมาเป็น โรงเรียนปัญญาวิทย์) ซึ่งตั้งอยู่บนถนนเพลินพิทักษ์ ในเขตเทศบาลนครตรัง ก่อนกันไปลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตยางรัดของ ในนาม บริษัท อาร์เอส รับเบอร์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลบางหมาก อำเภอกันตัง

ขณะเดียวกันเขายังสนใจงานด้านสื่อ จนเป็นที่มาของการก่อตั้งธุรกิจเคเบิ้ลทีวี ที่ทันสมัยและเป็นเจ้าแรกของจังหวัดตรัง แต่ธุรกิจที่เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศก็คือ "โรงแรม เอ็ม.พี.รีสอร์ท" หรือที่เรียกกันว่า "โรงแรมหัวเรือ" เนื่องจากมีการก่อสร้างตัวตึกเป็นเรือขนาดยักษ์ ถือเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย

ส่วนที่ดินที่เขาเป็นเจ้าของก็มีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดตรังหรือภูเก็ต แต่ก็ยังมีอีกหลากหลายธุรกิจที่เขาอยากจะทำแต่ยังไม่ได้ทำ เช่น ธุรกิจพัฒนาบริเวณท่าเทียบเรือหาดปากเมง ธุรกิจก่อสร้างสนามกอล์ฟ 18 หลุมมาตรฐาน ธุรกิจก่อสร้างโรงเรียนนานาชาติ เพื่อต่อยอดจาก "โรงเรียนจินตรังษี"

ผลงานและเกียรติประวัติเด่นๆ ของเขาในช่วงที่ผ่านมา อาทิ เป็นเลขาธิการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมมนตรี เป็นคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ได้รับพระราชทานพ่อตัวอย่าง ประจำปี 2536 ได้รับพระราชทานรางวัล "โล่ห์เสมาธรรมจักร" จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นแปซิฟิค สาขาเศรษฐศาสตร์

สำหรับผู้ที่จะมาสืบทอดธุรกิจในตระกูลนั้น จากบรรดาลูกๆ ทั้ง 4 คน เขาตั้งใจไว้ว่า จะให้ "อธิโชค" บุตรชายคนโตเพียงคนเดียว เป็นแม่ทัพใหญ่ โดยมีน้องชายอย่าง "พิสุทธิ์ รังษีธรรม" คอยช่วยเหลือ ท่ามกลางวิกฤตทางธุรกิจที่รุมเร้าอย่างหนัก จนหลายกิจการต้องยอมขายไปให้กับผู้อื่น แต่เขาก็พยายามหาหนทางประคับประคองจนถึงที่สุด

เขาปิดท้ายเส้นทางการเมืองเมื่อปี 2549 ด้วยการลงสมัคร ส.ว.ตรัง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยได้มาแค่ลำดับที่ 6 ด้วย 17,087 คะแนน ก่อนที่จะเกิดปัญหาด้านสุขภาพด้วยหลายโรค โดยเฉพาะโรคก้อนนิ่วอุดตันที่ลำไส้ ที่ลุกลามเป็นเนื้อร้าย ซึ่งญาติๆ ได้ส่งตัวขึ้นไปรักษาที่กรุงเทพฯ แต่อาการป่วยกลับทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาเพียงแค่ 3-4 เดือน เขาก็ต้องอำลาชีวิตไป เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2550 ด้วยวัยแค่ 65 ปี



กำลังโหลดความคิดเห็น