พัทลุง - เลือกตั้ง 50 “สุพัฒน์ ธรรมเพชร” อดีต ส.ส.5 สมัยพัทลุงถอยให้ “สุพัชรีไ บุตรสาวลงในนาม ปชป. ในขณะที่กลุ่มมุสลิมคึกคักส่งผู้สมัครยกทีมถึง 3 พรรค หวังคะแนนช่องว่างของ “นริศ” แชมป์เก่าเขต 3
จังหวัดพัทลุง ถือเป็นเขตเลือกตั้งเขตใหญ่ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 3 คน จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 369,736 คน แบ่งหน่วยเลือกตั้งใน 11 อำเภอ เป็น 736 หน่วยเลือกตั้ง และตั้งเป้าให้มีผู้มาใช้สิทธิ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 บัตรเสีย ไม่เกินร้อยละ 5 หลังปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง ปรากฏว่ามีผู้เดินทางมาสมัครรวม 10 พรรคการเมือง 30 คนซึ่งทุกพรรคจะต้องส่งผู้สมัครให้ครบทั้ง 3 คน
โดยพื้นที่แล้ว จังหวัดพัทลุง มีธงพรรคประชาธิปัตย์ปักยึดเหนียวแน่นมาเป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง แม้ว่าบางสมัย จะเสียที่นั่งบางที่นั่งให้กับพรรคอื่นไปบ้าง แต่ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ที่นั่งทั้ง 3 ที่ของจังหวัดพัทลุง ได้ตกเป็นของพรรคประชาธิปัตย์รวด ติดต่อกันจนถึงปัจจุบันรวม 15 ปีเต็ม โดยไม่นับการเลือกตั้งเมื่อครั้งวันที่ 23 เมษายน 2549 ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้งที่มีความวุ่นวายมีการบอยคอตการเลือกตั้ง
โดยครั้งนั้น ประวัติศาสตร์พัทลุงได้พลิกให้ นายเปลื้อง บัวศรี จากพรรคคนขอปลดหนี้ ชนะการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 3 ด้วยคะแนน 20,697 คะแนน แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ทำงานในสภา เพราะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นเสียก่อน แต่ก็มิอาจมองข้ามการชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ไปได้ ส่วนนายคณนาถ หมื่นหนู จากพรรคไทยรักไทยในสมัยนั้น ลงสมัครเพียงคนเดียว ในพื้นที่เขต 2 ได้คะแนน 22,667 คะแนน แต่ก็ไม่ผ่านเกณฑ์
หากเริ่มต้นจากการดูพรรคใหญ่ก่อนในการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ที่จะถึงนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ส่งอดีต ส.ส.พัทลุงรุ่นเดอะ คือนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และนายนริศ ขำนุรักษ์ ลงสนามพร้อมดอกไม้ช่อใหม่ น.ส.สุพัชรี ธรรมเพชร บุตรสาวของนายสุพัฒน์ ธรรมเพชร ซึ่งผู้เป็นพ่อประกาศถอยออกจากสนามเลือกตั้ง ส.ส.พัทลุงครั้งนี้ เพื่อเตรียมสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.พัทลุง ที่ใกล้จะหมดวาระเต็มที
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัตินั้น เป็นอดีตทนายความ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2535 และยังไม่เคยแพ้เลือกตั้งจนถึงปัจจุบัน ได้ชื่อว่าเป็น ส.ส.ฝีปากกล้าแห่งสภาหินอ่อน จบการศึกษาเนติบัณฑิตไทย และปริญญาโท ส่วนนายนริศ ขำนุรักษ์ รับราชการกรมป่าไม้ ทำงานในสายอนุรักษ์มา 2 ทศวรรษ อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ระหว่างเตรียมสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ในด้านสิ่งแวดล้อม และนางสุพัชรี ธรรมเพชร ถือเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.พัทลุงที่อายุน้อยที่สุดในครั้งนี้ ด้วยอายุ 29 ปี ดีกรี ปริญญาโท สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยวูลองกอง ประเทศออสเตรเลีย
ในขณะที่พรรคพลังประชาชน ส่งอดีตผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยลงสนาม 2 คน คือ นายคณนาถ หมื่นหนู อดีตกำนันตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน เป็นกำนันแหนบทองคำประจำปี 2543 ที่อยู่ในร่มเงาพรรคไทยรักไทยมาอย่างเหนียวแน่น และนายสุพัฒน์ แก้วจันทร์ ซึ่งหลังจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งเมื่อกุมภาพันธ์ 2548 ในเสื้อของพรรคไทยรักไทย ก็หันหน้าไปทำการเมืองท้องถิ่น สุดท้ายพึ่งจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลป่าบอนมาหมาดๆ
ส่วนหน้าใหม่ในสนามเลือกตั้งปี 2550 ที่พรรคพลังประชาชนส่งร่วมแข่งขันครั้งนี้ คือ นายเจริญ ชูเรือง ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพัทลุง ที่ทำงานอยู่กับกลุ่มภาคประชาชน ในการประชุมทำแผนแม่บทชุมชน เดินสายมาแล้วทั่วจังหวัดพัทลุง ยอมลาออกทิ้งอายุราชการที่เหลืออยู่ 15 ปี ลงสนามการเมือง
แม้การเลือกตั้งพัทลุงจะเหลือเพียงเขตเดียวรวมทั้งจังหวัด แต่หากจับสองพรรคนี้มาดูกันตัวต่อตัว นายคณนาถ หมื่นหนู- นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เคยสู้กันในสนามเลือกตั้งเขต 2 ในฐานะพรรคใหญ่ที่อยู่ตรงข้ามกันอย่างชัดเจน นายคณนาถ ยังไม่เคยได้ประกาศชัยชนะเหนือพื้นที่เขต 2 ในฐานะ ส.ส. แม้การเลือกตั้ง 23 เมษายน 2549 ที่ผ่านมา ลงสมัครเพียงคนเดียว แต่ก็ยังได้คะแนนเสียงไม่พอที่จะเข้าสภา ในขณะที่นายนิพิฏฐ์ เป็นแชมป์ 15 ปี และเลือกตั้งครั้งนี้ รวมเขตทั้งจังหวัดพัทลุง สนามเลือกตั้งครั้งนี้ จึงยังหนักหน่วงสำหรับนายคณนาถ
นายสุพัฒน์ แก้วจันทร์ –นายนริศ ขำนุรักษ์ เคยสู้กันแบบสูสี ในสนามเลือกตั้งเขต 3 นายสุพัฒน์ ทำได้แค่เพียงเกือบชนะเลือกตั้งในเสื้อพรรคราษฎร
นายสุพัฒน์ แก้วจันทร์ เป็นอดีตผู้ช่วย ส.ส.ของนายสุพัฒน์ ธรรมเพชร เป็นอดีตกรรมการอำนวยการเลือกตั้ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เคยประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง เขต อำเภอป่าบอน แต่มาพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง ส.ส.สมัยการเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 โดยครั้งนั้น ได้ถอดเสื้อประชาธิปัตย์ออกและลงสนามในนามพรรคราษฎร มีคะแนน 12,021 คะแนน ตามหลังนายนริศ ขำนุรักษ์ ที่มีคะแนน 32,853 คะแนน และตั้งแต่นั้นมา ยังไม่เคยชนะการเลือกตั้งทุกระดับในพื้นที่
สุดท้าย ดอกไม้ช่อใหม่ นายเจริญ ชูเรือง- นางสุพัชรี ธรรมเพชร ยังไม่เคยลงสนามเลือกตั้งทั้งคู่ แต่งานของนายเจริญ คงต้องหนักกว่า ในการเดินเก็บคะแนน โดยเป็นคนพื้นเพอำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ทำงานในสายภาคประชาชน ทำแผนแม่บทชุมชน ในขณะที่นางสุพัชรี อาจถือได้ว่าเดินไปตามทางลัด ที่นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร ปูทางไว้ให้ เรียกได้ว่าออกแรงน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่เรียกคะแนนคนดูได้ดีกว่า เมื่อไปดูพรรคอื่นๆ ที่เหลือ มีขาประจำที่ลงสมัครรับเลือกตั้งแทบทุกครั้ง และอกหักเป็นอาชีพ
เช่น นายกู้ชาติ ชายเกตุ อดีต ส.จ.ที่อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย เมื่อปี 2538 ผันตัวเองมาลงสนามเลือกตั้ง ส.ส.ตั้งแต่ปี 2539 ในนามพรรคความหวังใหม่ ทำได้เพียงเกือบชนะเลือกตั้ง กระทั่งการเลือกตั้งปี 2544 สวมเสื้อพรรคเสรีธรรมลงสนาม ก็ยังพลาดการเป็น ส.ส.จนถึงการเลือกตั้ง ปี 2548 เปลี่ยนมาสวมเสื้อพรรคชาติไทย ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ มาครั้งนี้ลงสมัครในนามพรรคมัชฌิมาธิปไตย สรุปว่า เป็นที่รู้จักของคนพัทลุงเป็นอย่างดี และหวังว่าความรู้จักนี้ จะส่งผลต่อคะแนนเก็บเพื่อไปต่อสู้กับพรรคใหญ่
นายเขมาวุฒิ สุวรรณ์ นายหนังตะลุงหนุ่มเจ้าสำอาง เป็นรองแชมป์นายหนังตะลุงระดับภาคใต้ หันมาลงการเมืองตั้งแต่ปี 2545 ในสนาม ส.จ.และปี 2548 ในสนาม ส.ส.ในนามพรรคความหวังใหม่ยังไม่เคยชนะการเลือกตั้ง มาครั้งนี้ สวมเสื้อพรรคพลังแผ่นดิน เคยเปิดใจตั้งความหวังหากคนเบื่อพรรคใหญ่ ก็อาจจะเก็บคะแนนได้พอสมควร
นายเปลื้อง บัวศรี อดีตว่าที่ ส.ส.พัทลุงเขต 3 พรรคคนขอปลดหนี้ ลงสนามในนามพรรค พลังเกษตรกร เคยได้ใจคนเขต 3 พัทลุง ชนะการเลือกตั้งเมื่อ 23 เมษายน 2549 เป็นที่รู้จักกันดี ในฐานะแกนนำเครือข่ายหนี้สินชาวนา ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ โดยหวังคะแนนจากกลุ่มเกษตรกร บุคคลกลุ่มนี้ บอกว่า ชัยชนะเหนือการเลือกตั้ง อาจไม่ได้นับแต่เพียงคะแนนจากประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่การได้ใช้สิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง และประกาศ นโยบายตนเอง ทำการเมืองในรูปแบบที่แตกต่าง ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว
นอกจากนี้แล้ว สังเกตได้ว่า การสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ มีการส่งผู้สมัครที่เป็นมุสลิมเป็นจำนวนมาก โดยพรรคที่ส่งผู้สมัครมุสลิมแบบยกทีม ประกอบด้วย พรรครวมใจไทยพัฒนา ส่ง นายหมัด สันชูรักษ์ ,นายไพศาล สันอี , นายยะมีล มูสิโก พรรคเพื่อแผ่นดิน ส่งนายมะณี นุ้ยผอม นายสนั่น สันติยา นายอุหมาด สาระณะ และพรรคไทยร่ำรวย ส่งนางสาวนุชรี ทองนุ่น นายศานติ มีจิตเกษม และนายอะหมัด อิสัน ซึ่งผู้สมัครส่วนใหญ่มาจากพื้นที่อำเภอป่าบอน ตะโหมด และปากพะยูน
ผู้สมัครกลุ่มนี้ดูเหมือนว่า ลงสนามเพื่อเก็บช่องว่างคะแนนมุสลิมที่ไม่เลือกนายนริศ ขำนุรักษ์ มุสลิมหนึ่งเดียวจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่ทุกการเลือกตั้งที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ปัจจัยศาสนา ไม่มีผลต่อคะแนนเลือกตั้งในจังหวัดพัทลุง และเลือกตั้งครั้งนี้ ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่บ่งบอกว่า ฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์สั่นคลอน!