กระบี่ - กรมศิลปากร เผย นักโบราณคดีสำรวจพบเครื่องมือหิน-เขี้ยวสัตว์โบราณในถ้ำเขาหน้าวังหมี คาดอายุมากกว่า 3 หมื่นปี ฝังใต้พื้นดิน หวั่นการทำเหมืองหินของเอกชนทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทำหนังสือถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องสั่งระงับชั่วคราว
นายอาณัติ บำรุงรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต กรมศิลปากร เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ชุดสำรวจขุดพบซากโบราณวัตถุอายุกว่า 30,000 ปี ในถ้ำเขาหน้าวังหมี ต.ทับปริก อ.เมือง จ.กระบี่ จำพวกเศษภาชนะดินเผา เครื่องถ้วยโบราณติดอยู่กับพื้นดินในถ้ำจำนวนหนึ่ง
จากการวิเคราะห์ทางวิชาการโบราณคดีถ้ำ เบื้องต้นพบว่า ถ้ำเขาวังหมีเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ มีมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์อาศัยอยู่ ซึ่งภูเขาถ้ำดังกล่าวยังเป็นกลุ่มภูเขาเดียวกับถ้ำเขานาไฟไหม้ ถ้ำเขาหลังโรงเรียน ที่อยู่บริเวณหลังโรงเรียนบ้านทับปริก ซึ่ง ศ.ดร.ดักลาส แอนเดอร์สัน นักโบราณคดี ได้กำหนดไว้ว่า มีอายุราว 27,000-37,000 ปี และ ศ.ดร.ไมด์ มอร์วูด จากมหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เดินทางเข้าไปสำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมา โดยพบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากอยู่สูงจากพื้นดินเชิงเขาประมาณ 10-12 เมตร มีเปลือกหอยเกาะติดตามเพิงผาเป็นแผงยาว กระดูกสัตว์ใหญ่โบราณฝังอยู่ใต้พื้นดินในถ้ำ
โดยนักโบราณคดีชาวออสเตรเลียอธิบายลักษณะของกลุ่มถ้ำหลังโรงเรียน ว่า เดิมเคยเป็นถ้ำ ต่อมาเพดานถ้ำถล่มลงมา ลักษณะนี้จะพบแหล่งโบราณคดีที่มีอายุเก่าแก่มาก ซึ่งในถ้ำหลังโรงเรียนพบร่องรอยหลุมฝังศพ โครงกระดูกมนุษย์ และสัตว์ เศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ เครื่องมือทำจากเขี้ยว และเขาสัตว์ของกระดูกขนาดใหญ่ เปลือกหอย
รวมทั้งเครื่องมือหินกะเทาะ ใช้ในการดำรงชีวิตล่าสัตว์ในสมัยยุคหินกลาง ซึ่งเดิมเป็นแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแผ่นดินติดต่อกันกับหมู่เกาะพิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เป็นยุคของการอพยพครั้งแรกลงไปทางใต้ ไปสู่นิวกินี และออสเตรเลีย นับเป็นแหล่งโบราณคดีที่ควรศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เป็นกุญแจสำคัญในการไขปริศนา และการศึกษาพัฒนาการของมนุษย์ในทวีปเอเชีย และเป็นข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์โลกยุคแรกๆ ของทวีปเอเชียได้เป็นอย่างดี
ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันบริเวณกลุ่มภูเขาถ้ำดังกล่าวต้องมีการศึกษาทางโบราณคดี โดยเฉพาะเขาหน้าวังหมี จะมีการทำเหมืองหินของบริษัทเอกชน ตนและนักโบราณคดีกับชาวบ้านเกรงว่า แรงระเบิดหินจะทำลาย และสร้างความเสียหายหลักฐานทางโบราณคดีกับภูเขาถ้ำลูกอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้กัน
จึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกระบี่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ขอให้มีคำสั่งระงับการทำสัมปทานเหมืองหินเป็นการชั่วคราวก่อน เพื่อให้นักโบราณคดีเข้าไปสำรวจเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่า จะยังมีโบราณวัตถุอยู่ในถ้ำมากกว่านี้อย่างแน่นอน