xs
xsm
sm
md
lg

มอ.มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่นักต่อสู้และนักพัฒนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อปีที่ผ่านมา
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาและมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่ผู้นำชุมชน นักต่อสู้ และนักพัฒนาหลายสาขา

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะเสด็จฯ แทนพระองค์ เพื่อพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในวันศุกร์ที่ 21 และ วันเสาร์ที่ 22 กันยายน 2550 นี้ โดยมีบัณทิตเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวน 6,230 คน แยกเป็นระดับปริญญาตรี 5,117 คน ปริญญาโท 1,070 คน และปริญญาเอก 43 คน

ประกอบด้วยผู้สำเร็จการศึกษา จากวิทยาเขตหาดใหญ่ 3,439 คน วิทยาเขตปัตตานี 1,670 คน เขตการศึกษาภูเก็ต 439 คน เขตการศึกษาตรัง 433 คน และ เขตการศึกษาสุราษฎร์ธานี 249 คน

โดยวันที่ 21 กันยายน 2550 มีบัณฑิตจากคณะต่างๆ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ดังนี้วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการสื่อสาร มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ อุตสาหกรรมบริการ อิสลามศึกษา พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์

วันที่ 22 กันยายน 2550 มีบัณฑิตจากคณะต่างๆ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ดังนี้เศรษฐศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อุตสาหกรรมเกษตร ศึกษาศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ พาณิชยศาสตร์และการจัดการ วิทยาการจัดการ นิติศาสตร์ เทคโนโลยีและการจัดการ

รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีมติ มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2550 แก่นายประยงค์ รณรงค์ ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เกษตรศาสตร์) นายประยงค์ เป็นชาวนครศรีธรรมราช เริ่มต้นทำงานด้วยการกรีดยาง ได้ทำการปรับปรุงคุณภาพยางแผ่น จัดตั้งโรงรมยาง ขยายผลไปยังชุมชนต่างๆ และริเริ่มร่างแผนฉบับประชาชนชื่อว่า “แผนแม่บทยางไทย” และกลายเป็นต้นแบบในการวางแผนชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อพิสูจน์ว่า ชาวบ้านสามารถวิเคราะห์ข้อมูลและทำแผนแม่บทได้เอง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้นำไปเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศ

ดร.มณทิพย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การจัดการสิ่งแวดล้อม) ดร.มณฑิพย์ เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ให้เป็นกรรมบริหารในภูมิภาคเอเชีย ได้รับรางวัล “Environment Leadership Award” จาก USID ในการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนในทวีปเอเชีย และอุทิศตนเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม

นายวีระพงษ์ หงษ์หยก ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พัฒนาสังคม) เป็นนักธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาให้เกิดความเจริญในท้องถิ่น ปี 2537 นายวีระพงษ์ ได้บริจาคที่ดินบริเวณอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต จำนวน 77 ไร่ ให้แก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อก่อสร้างเขตการศึกษา เป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาที่จังหวัดภูเก็ต ปี 2541 ได้บริจาคที่ดิน 15 ไร่ เพื่อจัดสร้างโรงพยาบาลมิชชั่น และเป็นประธานกรรมการจัดสร้างตึกสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลวชิระ จ.ภูเก็ต

นายสมชาย นิติกาญจนา ได้รับปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ นายสมชาย เป็นผู้ก่อตั้งสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร อำเภอปากท่อ จ.ราชบุรี ได้สร้างระบบบำบัดรวมของฟาร์มรายย่อย แก้ไขปัญหาน้ำเสียกลิ่นเหม็นและแมลงวันได้สำเร็จ จนฟาร์มสุกรต่างๆ นำเป็นแบบอย่าง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานชมรมนักอุตสาหกรรมยุคใหม่ เป็นคณะทำงานแก้ไขปัญหามลภาวะจากฟาร์มปศุสัตว์ที่มีต่อแม่น้ำบางปะกง เป็นคณะทำงานแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคปากและเท้าเปี่อย และอุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี

ศาสตราจารย์เนบิล แซมแมน ได้รับปริญญาทันตแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ศาสตราจารย์เนบิล แซมแมน เป็นชาวออสเตรเลีย ได้ส่งเสริมการศึกษาและการผ่าตัดในผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ การแก้ไขความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด และการซ่อมสร้างเนื้อเยื่อโดยเดินทางไปทำการผ่าตัด ณ ประเทศอินเดีย กัมพูชา อินโดนีเซีย จีนและประเทศไทย ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์ปากแหว่งเพดานโหว่ มหาวิทยาลัยฮ่องกง ประเทศจีน ศาสตราจารย์เนบิล ได้เดินทางมาประชุมร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถึง 23 ครั้ง แต่ละครั้งมีการผ่าตัดแก่ผู้ป่วย ช่วยให้คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความเข้มแข็งทางวิชาการและสามารถทำการผ่าตัดให้บริการรักษาขั้นสูงในระดับมาตรฐานสากล

นายจำนงค์ ประวิทย์ ได้รับรางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ นายจำนงค์ เป็นชาวสุราษฎร์ธานี เป็นผู้จัดตั้งชุมชนนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ลุ่มน้ำคลองยัน จ.สุราษฏร์ธานี เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งกรุง เนื่องจากจะเป็นการทำลายป่าต้นน้ำและทำให้คุณภาพน้ำในลุ่มน้ำคลองยันเสื่อมโทรมลง ต่อมาได้จัดตั้งกลุ่มเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อม จัดตั้งเขตอภัยทานสัตว์น้ำ วังกระท้อนในลำน้ำคลองยัน อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อฟื้นฟูพันธุ์สัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธ์ และจัดตั้งสภาพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อสืบทอดภารกิจและสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยกิจกรรมบวชป่า ทำบุญสืบชะตาแม่น้ำ ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และดำเนินชีวิตแบบวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

นอกจากนี้ ผู้ได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่น กองทุนเอกิ้น เลาเกเซ่น อนุสรณ์ ประจำปี 2550 ได้แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มังกร ประพันธ์วัฒนะ ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรและมหาวิทยาลัยได้คัดเลือกอาจารย์ตัวอย่าง ประจำปี 2550

ด้านการเรียนการสอน ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศา แซ่เตียว ภาควิชาภาษาและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์

ด้านการวิจัย ได้แก่ รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุภมัย สุนทรพันธ์ ภาควิชาอายุรกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์

ด้านบริการวิชาการ ได้แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชิดชนก ราฮิมมูลา คณะรัฐศาสตร์ และรองศาสตราจารย์ ดร.เริงชัย ตันสกุล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์

ด้านทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ได้แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัมพร ศรประสิทธิ์ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์

และอาจารย์ตัวอย่างรุ่นใหม่ ประจำปี 2550 ได้แก่ ดร.สาระ บำรุงศรี ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์

กำลังโหลดความคิดเห็น