xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยชี้ภาษาท้องถิ่นใต้อาจสูญพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุราษฎร์ธานี - นักวิจัย ม.ราชภัฏสุราษฎร์ฯ หวั่นภาษาใต้สูญพันธุ์ เพราะคนใต้รุ่นใหม่ไม่ยอมพูด ถือเป็นเรื่องที่เชยเลยอายที่จะพูด โดยเฉพาะเด็กเล็กพ่อแม่ฝึกให้พูดกลาง เพราะกลัวลูกโตขึ้นมาจะพูดกลางไม่ชัด หรือจำพวกแหลงทองแดง ชี้เมื่อลักษณะวัฒนธรรมเมืองกระจายสู่ชนบท ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือกลืนกินวัฒนธรรมชนบทเป็นธรรมดา ด้านกระทรวงวัฒนธรรม ต้องออกโรงรณรงค์ให้คนใต้หันมาพูดภาษาถิ่นมากขึ้น

ศาสตราจารย์ ชวน เพชรแก้ว เมธีวิจัยอาวุโสสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และศาสตราจารย์ด้านภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เผยว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ออกมาแสดงความเป็นห่วง ว่า ภาษาใต้และการแสดงพื้นบ้านที่ใช้ภาษาใต้ในการขับร้อง เช่น หนังตะลุง มโนราห์ เพลงบอก และเพลงกล่อมเด็ก อาจสูญหาย เนื่องจากคนใต้รุ่นใหม่ไม่ยอม “พูดภาษาใต้”

ส่วนพ่อแม่ก็สอนให้ลูกพูดภาษากลางตั้งแต่ยังเล็ก เพราะกลัวว่าลูกจะพูดกลางไม่ชัด (แหลงทองแดง) ทำให้กระทรวงวัฒนธรรม ต้องออกโรง รณรงค์ให้คนใต้หันมาพูดภาษาถิ่นมากขึ้น ก่อนที่ภาษาใต้ และการแสดงพื้นบ้านเหล่านี้จะสูญพันธุ์

สำหรับในเรื่องนี้นั้นมีความเป็นไปได้สูงที่ภาษาใต้จะสูญพันธุ์ แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเมื่อลักษณะวัฒนธรรมเมืองกระจายสู่ชนบท ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือกลืนกินวัฒนธรรมชนบทเป็นธรรมดา

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ภาษาถิ่นภาคใต้สูญพันธุ์ มีด้วยกัน 3 ปัจจัย คือ 1.โรงเรียน 2.ครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่พ่อแม่รับราชการจะนิยมให้ลูกพูดภาษากลาง 3.หลักสูตรการศึกษา ที่เคยพูดกันว่าจะสร้างหลักสูตรท้องถิ่นร้อยละ 30 นั้น ไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ เมื่อผสมโรงเข้ากับลักษณะสังคมจึงกลายเป็นตัวเร่งให้ภาษาใต้สูญพันธุ์เร็วขึ้น

ขณะนี้คนใต้ส่วนใหญ่มักคิดว่าการพูดใต้เป็นเรื่องที่เชย ก็เลยอายที่จะพูด และพยายามที่จะสื่อสารด้วยภาษากลาง สำหรับทางแก้ในเรื่องนี้นั้นมีด้วยกัน 2 อย่าง คือ 1.คนใต้ต้องตระหนักว่าเราเป็นคนใต้ ต้องภูมิใจในภาษาถิ่น เอกลักษณ์ หรืออัตลักษณ์ ของเรา 2.ระบบการศึกษา ต้องชี้ให้เด็กเห็นความสำคัญของภาษาถิ่น หรืออาจมีลู่ทางอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ทำพจนานุกรมภาษาถิ่น

ศาสตราจารย์ ชวน กล่าวอีกว่า เมื่อ 15 ปีก่อน นักศึกษาปริญญาโทคนหนึ่งทำวิจัยเรื่อง “ภาษาถิ่นใต้ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่จะสูญหาย” เขาเอาคำภาษาใต้เก่าๆ ไปถามคนที่อายุ 60 ปี ปรากฏว่า ส่วนใหญ่ยังรู้จักคำเหล่านี้ แต่เมื่อไปถามคนอายุ 40 พบว่า ไม่รู้จักคำพวกนี้แล้ว ผมเองก็เคยถามคนรุ่นใหม่ว่ารู้ความหมายของภาษาใต้เหล่านี้หรือไม่ เช่น คำว่า “จับนา” (เอาใจใส่) “เสดสา” (สมเพชเวทนา) หรือ “เปรว” (ที่เผาศพ) แต่เด็กบอกว่าไม่เคยได้ยินคำนี้เลย แม้แต่หนังตะลุง มโนราห์ก็ยังเพี้ยนไปด้วย ปกติตัวตลกหนังตะลุงจะต้องพูดใต้ แต่หนังตะลุงบางคณะให้ตัวตลกพูดภาษากลาง

นอกจากนี้ ภาษาถิ่นจะมีความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมสาขาอื่น และวิถีชีวิตอย่างแยกกันไม่ออก เหตุผลหนึ่งที่ภาษาใต้สูญหาย ก็เพราะข้าวของเครื่องใช้ของเราสูญหายไป เช่น “หมุก” ซึ่งเป็นภาชนะที่ทำจากหญ้าตีนกา สำหรับใส่ของเล็กๆ น้อยๆ หรือ “เหวียนหม้อ” ซึ่งเป็นภาชนะจักสานสำหรับใช้รองหม้อ เมื่อของเหล่านี้หายไป คำสรรพนามก็จะหายไปด้วย คนรุ่นใหม่จึงไม่รู้จัก ไม่ใช่แต่คำสรรพนามที่หายไป

ศาสตราจารย์ชวน บอกว่า แม้แต่คำวิเศษณ์บางคำก็หายไปด้วย ตัวอย่างเช่น คนใต้แท้ๆ ต้องใช้คำขยายต่อท้ายสีแดง ว่า “แดงฉูด” แต่เดี๋ยวนี้คนใต้ใช้คำว่า “แดงแจ๊ด” ซึ่งเป็นคำภาษากลาง ใช้คำว่า “เหลืองอ๋อย” แทน “เหลืองฉึ่ม” หรือ “เขียวอี๋” แทน “เขียวหึม” ทำให้คำวิเศษณ์เหล่านี้สูญหายไป
กำลังโหลดความคิดเห็น