ตรัง – ชาวบ้านตะลึงพบต้นไม้บุกพันธุ์คางคกขนาดยักษ์ คาดหน่อของมันมีอายุนาน 4-5 ปี และได้รับธาตุอาหารที่สมบูรณ์ ประกอบกับอยู่ในที่โล่งแจ้ง ได้รับแสงแดดที่เพียงพอ จึงทำให้ลำต้นและดอกใหญ่มาก ซึ่งหากไม่มีการขุดหน่อออกหน้าฝนปีต่อๆ ไปต้นบุกก็จะงอกหน่อขึ้นมาใหม่ได้อีก
วันนี้ (14 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น.ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดตรัง ได้รับแจ้งจากชาวบ้านหมู่ที่ 3 ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมืองตรัง ว่า พบต้นไม้ประหลาดคล้ายเห็ดยักษ์โผล่ขึ้นมาเหนือผิวดินบริเวณหลังบ้านของ นายสันต์ และ นางบุญชุก ไทรงาม อยู่บ้านเลขที่ 73/1 หมู่ที่ 3 ตำบลนาตาล่วง ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบพบว่า ต้นไม้ดังกล่าวนั้น ได้งอกขึ้นมาเหนือผิวดินสูงกว่า 2 ฟุต โดยอยู่ห่างไปบริเวณด้านหลังบ้านประมาณ 50 เมตร ซึ่งอยู่ติดกับริมกำแพงฟาร์มเพาะพันธุ์กุ้งกุลาดำ และริมสวนยางพารา
โดยต้นไม้ต้นนี้ มีบริเวณลำต้นขนาดใหญ่ และมีสีเขียวจุดขาว ส่วนดอกมีสีน้ำตาลเข้ม และมีกลีบดอกซ้อนกันหลายชั้น เป็นสีแดง-น้ำตาลจุดขาว สำหรับปลายกลีบดอกชั้นนอก ซึ่งหุ้มห่อดอกชั้นใน จะมีลักษณะเป็นหยักๆ สีเขียว ดูสวยงาม ในขณะที่ดอกใหญ่ชั้นในสุด จะมีสีน้ำตาลเข้ม นอกจากนั้น ยังพบหน่อของต้นไม้กำลังโผล่ขึ้นมาอีก 1 ต้นด้วย เมื่อชาวบ้านนำสายวัดมาวัดดูพบว่า บริเวณลำต้นมีขนาดเส้นรอบวง 20 เซนติเมตร ส่วนดอกมีขนาดเส้นรอบวง 78 เซนติเมตร และมีส่วนสูงวัดจากผิวดินได้ 63 เซนติเมตร
อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวบ้านและผู้สื่อข่าว ได้สังเกตบริเวณชั้นในของดอก ก็พบว่า เหนือลำต้นขึ้นไปจะมีรังไข่ขนาดใหญ่สีขาว ดังนั้น ทุกๆ คนจึงลงความเห็นว่า ต้นไม้ดังกล่าวน่าจะเป็นต้นบุก ซึ่งเป็นพันธุ์พืชล้มลุกท้องถิ่นของภาคใต้ ซึ่งจะขึ้นทั่วไปในช่วงฤดูฝน โดยปกติลำต้นจะสูงชะลูด มีดอกลักษณะเรียวรี และมีใบสีเขียวห่อหุ้ม แต่สำหรับต้นไม้ที่พบในครั้งนี้จะมีขนาดใหญ่ และดอกก็ยังมีขนาดใหญ่มากจนผิดธรรมชาติ จึงทำให้ชาวบ้านแตกตื่นมามุงดูกันเป็นจำนวนมาก
นางบุญชุก อายุ 50 ปี เจ้าของบ้านหลังดังกล่าว กล่าวว่า บุตรชายเป็นคนที่เดินมาพบ ซึ่งตนเองรวมทั้งญาติๆ ที่มีอายุมากแล้ว ต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ตั้งแต่เกิดมาไม่เคย เห็นต้นไม้อะไรประหลาดขนาดนี้ ซึ่งตอนแรกนึกว่าจะเป็นเห็ดยักษ์ แต่เมื่อมาดูอย่างละเอียดแล้ว น่าจะเป็นต้นบุกมากกว่า และเชื่อว่าเมื่องอกขึ้นมาแล้วคงจะนำความโชคดีมาให้
ด้าน นายวันชัย มุกดารัศมี ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตรัง (ศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) กล่าวว่า ต้นไม้ดังกล่าวเป็นต้นบุกพันธุ์คางคก เป็นพืชล้มลุกประจำท้องถิ่นภาคใต้ของไทย โดยเป็นพืชชั้นสูง และมีรังไข่สีขาว ขยายพันธุ์โดยเมล็ดและหน่อ โดยหน่อจะอยู่ใต้ดิน ซึ่งจะแตกหน่อ และออกดอกในฤดูฝนของทุกปี แต่ถ้าเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มีจะอีกสายพันธุ์หนึ่งชื่อว่า บุกไข่ ซึ่งสามารถนำแป้งมาใช้ทำสมุนไพรลดความอ้วนได้ แต่ถ้าเป็นในภาคใต้จะใช้ทำประโยชน์อะไรไม่ได้
ส่วนการที่ต้นบุกที่ชาวบ้านพบในครั้งนี้ มีขนาดต้นและดอกที่ใหญ่มาก ก็น่าจะมีสาเหตุที่หน่อของมันมีอายุนาน 4-5 ปี และได้รับธาตุอาหารที่สมบูรณ์ ประกอบกับอยู่ในที่โล่งแจ้ง ได้รับแสงแดดที่เพียงพอ จึงทำให้ลำต้นและดอกใหญ่มาก โดยหลังจากนี้อีกไม่นาน ก็จะมีแมลงวันมาตอมดอก เพราะพืชชนิดนี้จะมีกลิ่นแรงคล้ายซากศพ ซึ่งธรรมชาติจะสร้างให้ล่อแมลงวันมาตอม เพื่อช่วยในการผสมเกสร โดยต้นและดอกดังกล่าวจะมีอายุประมาณ 3-4 สัปดาห์ ทั้งนี้ เมื่อกระบวนการสร้างเมล็ดเสร็จสมบูรณ์แล้ว ลำต้นและดอกของมันก็จะเน่า จากนั้นก็จะย่อยสลายไปในที่สุด
นายวันชัย กล่าวอีกว่า ด้วยลำต้นและดอกของต้นบุกที่ใหญ่ขนาดนี้ หากขุดลงไปใต้ดิน เชื่อว่า หน่อจะต้องมีขนาดใหญ่เท่าขนาดหม้อหุงข้าว และถ้าชาวบ้านไม่ขุดหน่อทิ้ง ในฤดูฝนปีหน้ามันก็จะแตกหน่อ และออกดอกใหญ่กว่าที่พบในปีนี้แน่นอน อย่างไรก็ตาม สำหรับต้นบุกนั้นมีหลายสายพันธุ์ และไม่ใช่จะพบมากเฉพาะในภาคใต้ของไทยเท่านั้น แต่ยังพบได้ในประเทศอินโดนีเซียด้วย ซึ่งที่นั่นจะมีลำต้นและดอกที่ใหญ่กว่าในประเทศไทย และกว่าที่มันจะย่อยสลายไป ก็ส่งกลิ่นเหม็นเน่าอย่างรุนแรงมากกว่า