xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มค้านท่อก๊าซสงขลาจวก “สผ.” สุดมั่วอนุมัติEIAสร้างมลพิษ สวล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ยื่นหนังสือจี้ต่อมสำนึก สผ.ในเรื่องการอนุมัติ EIA โครงการขนาดใหญ่ โรงไฟฟ้าจะนะก็เร่งเดินหน้าระบบใช้คลองสาธารณะทำระบบน้ำหล่อเย็น ทั้งที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกำลังเดินหน้าตรวจสอบการละเมิดสิทธิชุมชนอยู่
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กลุ่มตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายค้านท่อและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียสุดทนพฤติกรรม “สผ.” อนุมัติมั่ว EIA โครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสร้างมลพิษให้ตกแก่ประชาชน ร่อนหนังสือระบายความในใจว่าถูกยัดเยียดการพัฒนาแบบไม่เคยมีส่วนร่วม ทั้งที่ชุมชนต้องการอยู่อย่างพอเพียง ยกอุตสาหกรรมพิษมาบตาพุดเป็นตัวอย่าง ด้านโรงไฟฟ้าจะนะยังเดินหน้าระบบใช้คลองสาธารณะทำน้ำหล่อ ทั้งที่ชาวบ้านเพิ่งร้องกรรมการสิทธิฯไปหมาดๆ

นางสุไรด๊ะ โต๊ะหลี แกนนำชาวบ้านเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย อ.จะนะ จ.สงขลา เปิดเผยว่า กลุ่มตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ได้ส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อคัดค้านการพิจารณาอนุมัติรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ของแนวท่อก๊าซเส้นใหม่ ที่เชื่อมต่อระหว่างโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียไปยังโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เนื้อหาในจดหมายที่ส่งถึง สผ.ระบุว่า เราต้องการจะบอกท่านที่มีอำนาจหน้าที่ในการอนุมัติรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมว่า ที่ผ่านมาพวกเราไม่เคยต้องการพัฒนาจากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเราไม่ได้มีส่วนร่วมในการวางแผนด้วยเลย เพราะที่ผ่านมาการกำหนดนโยบายการพัฒนาและการลงมาก่อสร้างโครงการต่างๆ ของรัฐบาลเป็นเสมือนการ “ยัดเยียด” คำว่า “พัฒนา” ให้แก่ชุมชน โดยที่ไม่ได้สอบถามความคิดเห็นของเจ้าของพื้นที่อย่างแท้จริงใดๆ เลย

พวกเราก็ไม่ได้ต้องการการพัฒนาที่มากับโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ แต่เราต้องการมีชีวิตที่พอเพียงตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ที่พวกเราดำรงอยู่กันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ดังเช่นการก่อสร้างโครงการท่อก๊าซฯที่มีความไม่ชอบธรรมในการก่อสร้างมาตั้งแต่ต้น เพราะไม่สามารถตอบข้อสงสัยของนักวิชาการและสังคมโดยรวม ถึงความจำเป็นของการก่อสร้างโครงการได้

ในขณะที่มีเสียงการคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่ บริษัทผู้เป็นเจ้าของโครงการกลับทำการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาบีบบังคับให้พวกเราต้องจำยอมในการก่อสร้างโครงการ ขณะที่สังคมยังคาใจแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะก็ตามมา ด้วยเหตุผลเดียวกันกับการก่อสร้างโรงแยกก๊าซว่า พื้นที่ชุมชนนี้ต้องการ “การพัฒนา”

เราขอบอกต่อท่านว่า ที่ท่านได้อนุมัติรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ทางบริษัทอ้างต่อท่านว่าได้ทำอย่างดีเยี่ยมไปกับทั้งสองโครงการนั้น ณ วันนี้แม้โครงการจะเพิ่งเริ่มดำเนินการ แต่ผลกระทบต่อพวกเราได้บังเกิดขึ้นแล้ว ทั้งเรื่องที่โครงการท่อก๊าซฯส่งเสียงดังรบกวนชาวบ้าน เรื่องกลิ่นของการเผาไหม้ก๊าซที่มีชาวบ้านบางคนต้องย้ายครอบครัวหนี หรือการถมคลองของโรงไฟฟ้าจะนะ ที่ทำให้เกิดตะกอนมหาศาล และอาจจะส่งผลต่อทางเดินระบายน้ำตามธรรมชาติได้

“เราขอถามท่านว่า สิ่งที่ท่านได้ลงนามลงไปนั้นสามารถรับรองคุณภาพชีวิตของพวกเราได้หรือไม่ ชีวิตของเราไม่อาจจะเยียวยาได้เพียงแค่เม็ดเงินเพียงเล็กน้อยที่ทางบริษัทได้อ้างต่อท่านว่า นั่นคือการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือท่านสามารถที่จะรับผิดชอบต่อการแตกแยกของคนในชุมชนเราได้หรือไม่” หนังสือที่ยื่นถึง สผ.ระบุ และกล่าวต่อว่า

เราไม่ทราบว่าท่านได้ใช้หลักมาตรฐานของเมืองนอกอันไหน ที่นำมาเป็นบรรทัดฐานในการเปลี่ยนชีวิตของพวกเรา แต่เราขอยืนยันว่า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคมที่เกิดขึ้นในบ้านของเรานั้น ไม่ใช่เพียงแค่เจ้าของที่ดิน อบต. หรือหน่วยงานราชการ ที่ไม่เคยลงมาให้เราได้เห็นหน้าสักครั้งเลย แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นมันเกิดเป็นวงกว้างต่อชุมชนโดยรอบพื้นที่โครงการทั้งหมด ซึ่งมีชาวบ้านจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ

เพราะฉะนั้นถ้าท่านอนุมัติ โดยแค่คิดคำนวณแค่เจ้าของที่ดินที่โครงการต้องใช้เท่านั้น ก็ขอให้ท่านคืนใบปริญญาที่ท่านได้อุตส่าห์ไปร่ำเรียนมาด้วยและถ้าท่านไม่สามารถรับรองคุณภาพชีวิตของเราได้ เราก็ขอให้ท่านอย่าได้อนุมัติโครงการใดๆ ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของเราอีกต่อไป

นางสุไรด๊ะ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาไม่ว่าจะโครงการไหนไม่เคยลงมาให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านเลย มีแต่แอบไปทำข้อมูลและแอบไปลงนามอนุมัติแล้วก็ลงมาสร้างกัน และท่อก๊าซที่นี่ก็สร้างพาดผ่านกลางหมู่บ้าน เมื่อพวกเราคัดค้าน นายอำเภอก็ส่ง อส.ลงมาข่มขู่ชาวบ้าน แต่พวกเรายืนยันว่าไม่กลัว อส. แต่เรากลัวนิคมอุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นมากกว่า

“แล้ว สผ.ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนถึงไม่ทราบข่าวเลย และยังจะมีการประชุมเพื่ออนุมัติโครงการกันอีก” นางสุไรด๊ะ กล่าว

ส่วนนายสุไลมาน หมัดยุโส๊ะ แกนนำชาวบ้านเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย อ.จะนะ อีกคน กล่าวว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้เพราะเรารู้ว่าที่ผ่านมาการดำเนินงานของโครงการขนาดใหญ่ต้องมีการศึกษารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะก่อสร้างโครงการ และที่เราต้องทำหนังสือยื่นค้านไปนั้น เพราะเราต้องการให้ สผ.เห็นว่าการที่เขาอนุมัติทั้งโครงการท่อก๊าซฯ และโรงไฟฟ้าไปแล้วก่อนหน้านั้น ตอนนี้ผลกระทบก็เกิดแก่ชาวบ้านแล้ว

นายสุไลมาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการที่ สผ.อนุมัติออกไปก็เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านหลายโครงการ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือที่มาบตาพุด แล้วมีผู้ชำนาญการคนไหนจะออกมารับผิดชอบไหม ในเมื่อพวกคุณก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้าน ถ้ารับผิดชอบไม่ได้ก็อย่าอนุมัติอะไรออกมาอีกเลย

“ผมอยากให้การอนุมัติของ สผ.ควรคิดผลกระทบต่อเรื่องวิถีชีวิตของชาวบ้านให้มากๆ อย่าเอาแต่เพียงข้อมูลของเจ้าของโครงการ แล้วก็นั่งพิจารณากันอยู่แต่เพียงในห้องแอร์ คุณควรเชิญชาวบ้านในพื้นที่มาร่วมให้ข้อมูลด้วย” นายสุไลมานกล่าว

ในวันเดียวกันกับที่กลุ่มชาวบ้านยื่นหนังสือถึง สผ.นั้น ทางโรงไฟฟ้าสงขลาได้เข้าทำการปรับสภาพพื้นที่ตรงจุดเชื่อมต่อระหว่างคลองนาทับกับโรงไฟฟ้า เพื่อสร้างท่อดูดน้ำหล่อเย็นจากคลอง แม้ว่าก่อนหน้านี้ชาวบ้านจะได้มีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปแล้วว่า ทางโรงไฟฟ้าได้มีการถมคลองนาทับออกไป ซึ่งส่งผลกระทบกับระบบนิเวศในคลอง และยังไม่มีการอนุมัติจากกรมเจ้าท่าแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้ทางคณะกรรมการสิทธิฯก็กำลังมีการตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น

ด้านนายประกอบ หลำโส๊ะ แกนนำชาวบ้านเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย อ.จะนะ กล่าวว่า เคยไปฟังข้อมูลที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิฯที่ได้สอบข้อมูลเรื่องโรงฟ้า โดยให้ อ.จารุณี เชี่ยววารีสัจจะ อาจารย์ประจำคณะทรัพยากรธรรมชาติ มอ.เป็นผู้อ่านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าในประเด็นเรื่องการปล่อยน้ำหล่อเย็นลงคลองนาทับ

โดยเมื่อตนได้ฟังแล้วรู้สึกตกใจว่า ต่อไประบบนิเวศในคลองนาทับจะถูกทำลาย เพราะสัตว์น้ำขนาดเล็กจะถูกดูดเข้าไปจำนวนมากในแต่ละวันและระบบการปล่อยน้ำร้อนออกมาก็จะทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก และจำนวนพันธุ์สัตว์น้ำที่โรงไฟฟ้าอ้างก็ต่างกับที่ทาง อ.จารุณี เก็บตัวอย่างข้อมูลถึงกว่าเท่าตัว

“ที่สำคัญ คือ โรงไฟฟ้ามาเก็บข้อมูลเพียง 1 วันเท่านั้น ซึ่งข้อมูลตรงนี้ไม่ทราบว่า สผ.ที่อนุมัติรายงานผลกระทบไปเคยศึกษาตรงนี้ไหมแล้วทำไมถึงปล่อยให้รายงานแบบนี้ออกมาได้” นายประกอบกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น