ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แจงการแปรรูปมหาวิทยาลัยของรัฐไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ระบุ จะยังไม่นำ มอ.ออกนอกระบบ จนกว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ จะมีความชัดเจน และหากไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ก็จะไม่แปรรูป ด้านนักศึกษา มอ.ปัตตานี ยื่นหนังสือคัดค้าน ยันหากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จะทำให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับผลกระทบ
เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (22 ม.ค.) ที่ห้องประชุม 210 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (มอ.หาดใหญ่) จ.สงขลา ได้มีการจัดการประชุมเรื่อง “อธิการบดีกับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” โดย รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานในการประชุมชี้แจงการดำเนินการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และมี ผศ.บุญเรือง มานะสุรการ ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีคณาจารย์ และนักศึกษาเข้าร่วมรับฟังกว่า 100 คน
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ถึงการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะออกนอกระบบไปเป็นมหาวิทยาลัยภายใต้การกำกับของรัฐ โดยประเด็นที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลคือผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับนักศึกษาและประชาชน ทั้งด้านประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาและผลกระทบเรื่องค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนต่างๆ
โดย รศ.ดร.บุญสม ได้กล่าวชี้แจงความเป็นไปได้ในการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่า สังคมยังไม่มีความไว้วางใจในกรณีที่มหาวิทยาลัยต่างๆ จะออกนอกระบบ โดยเฉพาะประเด็นของการขึ้นค่าเล่าเรียน ผลักภาระให้กับผู้ปกครอง ซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ต้องการออกนอกระบบเนื่องจากต้องการหนีระบบราชการที่มีข้อจำกัดเป็นอย่างมากต่อการบริหาร
ข้อดีของการอยู่ในระบบราชการ คือ 1.สามารถของบประมาณจากรัฐบาลได้ดีกว่า เพราะรัฐบาลจะไม่ทอดทิ้ง 2.เมื่อสถานการณ์ภาคใต้ยังไม่สงบ เชื่อว่า การอยู่ในระบบจะมีความมั่นคงกว่า 3.การแสดงออกทางวิชาการจะมีอิสระกว่า 4.การเงินการคลังในระบบราชการทำให้การทุจริตทำได้ยาก 5.สถานะทางสังคมขององค์กรในราชการดีกว่า และ 6.บุคลากรมีความมั่นคง สวัสดิการดี
ส่วนข้อดีหากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจากมหาวิทยาลัยของรัฐ ไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ คือ 1.อำนาจการจัดการจะอยู่ที่มหาวิทยาลัยโดยสภามหาวิทยาลัยจะมีความคล่องตัวสูงมากในการบริหาร แต่ผู้บริหารจะต้องมีธรรมาภิบาล 2.เกิดความคล่องตัวในการขับเคลื่อนองค์กร 3.บุคลากรทำงานหนักขึ้น แก้ปัญหาเช้าชามเย็นชามได้ 4.โครงสร้างการบริหารมีความยืดหยุ่น และ 5.ความสามารถในการแข่งขันสูง
“หากเราไม่ออกนอกระบบ ข้อเสียก็คือ เราจะมีพนักงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา มีการตัดอัตราข้าราชการออกไป และพนักงานจะมีความกดดัน เนื่องจากไม่สามารถบังคับบัญชาข้าราชการได้ และขาดโอกาสในการได้รับงบสนับสนุน ส่วนข้อดีของการไม่ออกนอกระบบ คือ การของบประมาณจากรัฐจะดีกว่า และภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบมหาวิทยาลัยจะได้รับความเกรงใจจากข้าราชำการมากกว่า การแสดงออกทางด้านวิชาการจะอิสระกว่า ไม่มีปัญหาการทุจริต และไม่เสี่ยงต่อการสร้างความแตกแยกในสังคม”
อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวอีกว่า การที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะออกหรือไม่ออกนอกระบบนั้น ขณะกำลังรอความชัดเจนในเรื่องการออก พ.ร.บ.ส่งเสริมมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ในประเด็นที่ว่ารัฐบาลจะจัดงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอ การดูแลพนักงานมหาวิทยาลัยให้เท่าเทียมกับข้าราชการ และมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐต้องได้รับการยกเว้นภาษีเทียบเท่ากับหน่วยงานราชการ
“เราจะรอความชัดเจนในเรื่อง พ.ร.บ.ส่งเสริมมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หากตัวนี้ยังไม่ชัดและไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ ก็คงจะไม่ออกนอกระบบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจะออกหรือไม่ออกนอกระบบไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่อยู่ที่การบริหารงานของผู้บริหารว่าจะมีธรรมาภิบาลหรือไม่ หากไม่มีธรรมาภิบาล ออกไปแล้วก็คงจะไม่ได้ประโยชน์ หรืออยู่ในระบบก็ไม่มีประโยชน์ ผมยืนยันว่า จะบริหารให้ มอ.ติดอันดับ 1 ใน 5 ของมหาวิทยาลัยในประเทศที่มีคุณภาพต่อไป หลังจากนี้ก็จะต้องลงไปพบกับนักศึกษาวิทยาเขตต่างๆ เนื่องจากหลายส่วนยังมีความกังวลในเรื่องนี้” รศ.ดร.บุญสม กล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งได้เดินทางมาร่วมประชุมด้วยนั้น ได้มีการยื่นแถลงการณ์คัดค้านการแปรรูปมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยระบุว่า
จากการที่ผู้บริหารพยายามผลักดันมหาวิทยาลัยของประชาชนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนที่จ่ายภาษีได้รวมกลุ่มและติดตามสถานการณ์เรื่องนี้มาโดยตลอดและมีจุดยืน ประกอบด้วย
1.นโยบายการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบโดยการเพิ่มค่าใช้จ่ายกับนักศึกษาจากเดิมที่เคยจ่าย 25% เป็น 100% ถือเป็นการขูดรีดและตักตวงผลประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการตัดโอกาส คนในชุมชนที่จะเข้ามาศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย
2.มหาวิทยาลัยนอกระบบไม่ต่างจากเส้นที่ขีดกั้นระหว่างชนชั้นโดยการแบ่งสังคมคนรวยและคนจนอย่างปฏิเสธไม่ได้
3.ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารเล็งเห็นผลประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง และเห็นประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง โดยการหยุดดำเนินการเรื่องพระราชบัญญัตินำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ
4.ในสังคมพหุวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนอกระบบราชการเป็นระบบการศึกษาที่ไม่เข้ากับ อิสลามมิค เอ็ดดูเคชั่น เพราะการศึกษาไม่ใช่สิ่งที่มีทุนแล้วได้เรียน แต่การศึกษา คือ สิ่งที่ทุกคนต้องได้เรียน อีกทั้งวิทยาเขตปัตตานีมีนักศึกษาในท้องถิ่น 80%