xs
xsm
sm
md
lg

5 โรงเรียนราชประชาฯ ชายแดนใต้ ความล่าช้าท่ามกลางการรอคอย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รวยริน เพ็ชรสลับแก้ว
สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ในที่สุด โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 5 แห่งใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ล่าช้ามาเกือบ 1 ปีเต็ม ก็มีแววคืบหน้า เมื่อ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมของบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนทั้ง 5 แห่ง กว่า 200 ล้านบาท

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ทั้ง 5 แห่ง มีที่มาจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ซึ่งส่งผลให้เด็กกำพร้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ถึงแม้ตลอดช่วงที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานยื่นมือเข้าช่วยเหลือทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทว่าบางหน่วยงานที่เข้ามา ให้ความช่วยเหลือเฉพาะเงินทองและค่าใช้จ่ายต่างๆ อันเป็นการช่วยเหลือระยะสั้น เมื่อเงินหมดลงเด็กกำพร้าก็ต้องดิ้นรนดูแลตัวเองต่อไป

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ต้องการเข้ามาแก้ปัญหาระยะยาวด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา เนื่องเพราะมองว่าจะช่วยให้เด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาส ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถดูแลตัวเองได้หลังจบการศึกษาออกไป

ที่สำคัญ “การศึกษา” จะทำให้เด็กกำพร้าเหล่านี้ไม่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่กำลังลุกลามขยายตัวสู่กลุ่มเยาวชน

สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ขึ้น ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรองรับเด็กด้อยโอกาส เด็กกำพร้า เด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสอันเป็นมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี 2549 ด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กองทัพบกและมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์

กระทั่ง วันที่ 9 มิถุนายน 2549 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 5 แห่ง ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 39 ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 40 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 ตำบลวังพญา อำเภอรามัญ จังหวัดยะลา

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 ตำบลคลองขุด และตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 43 ตำบลฉาง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา

สำหรับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เป็นโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์รับนักเรียนสหศึกษา ทั้งประเภทประจำและไปกลับเปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 39-43 มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาของแต่ละพื้นที่รับผิดชอบ

ระยะแรกเริ่มรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณค่าก่อสร้างอาคารเรียนและสิ่งปลูกสร้างผ่านมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนละ 100 ล้านบาท พร้อมกับสนับสนุนงบประมาณผ่านสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นงบดำเนินการเกี่ยวกับเงินเดือน อัตรากำลังข้าราชการครู ค่าจ้างประจำอัตราลูกจ้างประจำ เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว เงินอุดหนุนค่าอาหารค่าวัสดุเครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ส่วนตัว และงบลงทุนในการจัดหาครุภัณฑ์

จากคำเปิดเผยของ นายวสันต์ ธนภิรมย์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 8 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานีเขต 1 ผู้รับผิดชอบการก่อสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 40 ทำให้ทราบว่า แนวคิดริเริ่มสร้างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ มีมาตั้งแต่ปี 2548 โดยรัฐบาลอนุมัติให้จัดตั้งโรงเรียนทั้ง 5 แห่ง ในปี 2549

สำหรับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 40 กำหนดก่อสร้างที่บ้านบางปลาหมอ หมู่ที่ 1ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เนื้อที่ 116 ไร่ ทว่า เวลาผ่านไปเกือบ 2 ปี แล้ว โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 40 คืบหน้าเฉพาะการเตรียมพื้นที่สำหรับก่อสร้างเท่านั้น ทุกอย่างหยุดนิ่งอยู่กับที่ หลังเกิดเหตุลอบวางระเบิดป้อมยามทหารที่เข้าดูแลสถานที่ก่อสร้างโรงเรียน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 เป็นเหตุให้ทหารเสียชีวิต 1 นาย

“ในส่วนของอาคารสถานที่เรียนนั้น ยังอยู่ในขั้นเตรียมพื้นที่ มีทหารช่างจากราชบุรี รับผิดชอบก่อสร้าง สาเหตุที่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง เพราะยังไม่มีงบประมาณ ถึงแม้คณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้อนุมัติงบประมาณสำหรับสร้างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 40 ให้แล้ว 100 ล้านบาท แต่สำนักงบประมาณยังไม่จัดสรรเงินมาให้ จึงดำเนินการต่อไปไม่ได้” เป็นคำชี้แจงของ นายศุปกรณ์ ทิพย์เสนา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานีเขต 1

ขณะที่การก่อสร้างโรงเรียนหยุดชะงักโดยไม่มีวี่แววว่าจะดำเนินการก่อสร้างต่อได้เมื่อไหร่ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานีเขต 1 ก็ได้เปิดรับสมัครสอบคัดเลือกบุคลากรจำนวน 6 คน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ประกอบด้วย นางสาวภัชรี ซ้ายเกลี้ยง นางสาวโนรี คงสีพุฒ นางสาววรรณพร ณ สงขลา นางสาวจิกาภรณ์ คงสุวรรณ นางสาวฆษมาภรณ์ เจะสาเมาะ และนางสาวณัฎฐาพร รัตนคำ ตอนนี้ทั้งหมดนั่งทำงานอยู่ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานีเขต1

ประเด็นน่าสนใจอยู่ตรงที่ผลการสำรวจเด็กนักเรียนจาก 159 โรงเรียน ปรากฏว่า มีนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบและด้อยโอกาสแสดงความประสงค์จะเรียนที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 40 เพียง 19 คน

ประกอบด้วย เด็กชายศุภวิชญ์ ไชยรัตน์ทอง เด็กชายอนันต์ศักดิ์ เพชรศรี เด็กหญิงกานต์ธิดา ทองอำพล เด็กหญิงพรธิตา แซ่ติ้ว โรงเรียนอนุบาลปัตตานี เด็กหญิงพิชญาภา เจริญสุข โรงเรียนเทศบาล 2 วัดตานีนรสโมสร, เด็กชายธนภัทร สาและ เด็กหญิงพรรณสุภา สาและ โรงเรียนวัดควน เด็กชายเจะอุสมาน เจะอาลี

เด็กหญิงเจะรัศมี เจะอาลี โรงเรียนบ้านตันหยงดาลอ, เด็กหญิงสุธาทิพย์ อินมี โรงเรียนบ้านบางหมู, เด็กหญิงอามีนา เจะมะ โรงเรียนบ้านยามูเฉลิม, เด็กชายอับดุลการีม ดอเล๊าะ โรงเรียนบ้านใหม่, เด็กหญิงปารียา ปิยา โรงเรียนชุมชนวัดปิยาราม, เด็กชายทวีศักดิ์ ชูเถียม เด็กหญิงนูรีดา ตาเละ เด็กหญิงซูไรดา บากา เด็กชายมูฮำมัดเอมี มีนา เด็กชายมุสลิม ยูโซะ เด็กชายอัสบูเลาะ เจะแว โรงเรียนบ้านวังไชย

ขณะนี้ ทั้งหมดยังคงเรียนอยู่ที่โรงเรียนเดิม จนกว่าจะสร้างอาคารเรียนเสร็จ จึงจะย้ายมาลงทะเบียนเรียนที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 40

ความน่าสนใจอยู่ที่ข้อสังเกตของ นายศุปกรณ์ ที่กล่าวต่อที่ประชุมคณะทำงานให้ความช่วยเหลือเยียวยาเด็กกำพร้าและสตรีหม้าย จากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2549 ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดปัตตานี...

“สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานีเขต 1 ได้ออกแนะแนวตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้เด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 40 มีเด็กกำพร้าให้ความสนใจและกรอกใบสมัครเป็นจำนวนมาก แต่พอถึงวันยื่นใบสมัครจริงๆ กลับมีเด็กมาสมัครเรียนแค่ 19 คน....

“ผมสงสัยว่าทำไมเด็กถึงได้สมัครเรียนน้อย ทั้งที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด เด็กไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายอะไรเลย เรียนฟรี อยู่ฟรี กินฟรี มีรถรับส่ง...

“จากการสอบถามเด็กถึงสาเหตุที่ไม่มาเรียนที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ผมได้คำตอบกลับมาว่า ผู้อำนวยการของโรงเรียนที่เด็กเรียนอยู่เดิม ไม่เซ็นชื่ออนุญาตให้เด็กย้าย เท่าที่ผมทราบมารัฐจ่ายค่าหัวให้กับเด็กนักเรียนทุกคน เป็นเหตุผลที่ผู้บริหารบางคนไม่ยอมเซ็นชื่อให้เด็กย้ายออกไปเรียนที่อื่น”

ทว่า เมื่อเข้าไปสอบถามจากเด็กนักเรียนโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ที่มีชื่อแสดงความประสงค์จะเข้าเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ นักเรียนแทบทุกคนบอกตรงกันว่า ไม่รู้เรื่องการสมัครเข้าเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ มีก็แต่ เด็กหญิงกานต์ธิดา ทองอำพล นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอนุบาลปัตตานี ซึ่งพ่อเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่บอกว่าไม่ได้กรอกใบสมัครประสงค์จะขอเรียนที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ด้วยตนเองแต่เป็นเรื่องของครูที่ปรึกษาดำเนินการให้

ขณะที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 40 ปัตตานี ดูจะไม่คืบหน้ามากนัก ทว่า หากหวนกลับไปดูในส่วนของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์อีก 4 แห่ง ในอีก 4 จังหวัด แทบจะไม่พบความเคลื่อนไหวใดๆ เลย

เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดนราธิวาสเขต 1 และเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดสงขลาเขต 3 บอกกับ “สถาบันข่าวอิศรา” ตรงกันว่า ยังไม่มีการดำเนินการอะไร เพราะยังไม่มีงบประมาณ

ขณะที่จังหวัดยะลา นายสุมล ธนรัตน์ หัวหน้ากลุ่มนโยบายและแผน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลาเขต 1 บอกว่า ต้นปีการศึกษา 2549 ได้ประชาสัมพันธ์ไปตามโรงเรียนต่างๆ มีเด็กสนใจที่จะเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 แค่ 20 คน เพราะยังไม่มีอาคารเรียน ผู้ปกครองเองก็ไม่พอใจ คิดว่าเข้าไปหลอกชาวบ้าน ตอนนี้ก็เลยยังไม่ทำอะไร เพราะเกรงชาวบ้านจะเข้าใจผิดว่า เข้าไปหลอกอีก

ต่างจากจังหวัดสตูล นายจักรพงศ์ ทองเพชร รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดสตูล เขต 1 ให้ข้อมูลว่า ตอนย่างเข้าปีการศึกษา 2549 ได้ประชาสัมพันธ์เรื่องรับสมัครเด็กนักเรียนด้อยโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ มีเด็กสนใจจะเข้าเรียนเกินจำนวนที่โรงเรียนเปิดรับ คาดว่าจะต้องตั้งคณะกรรมการสอบคัดเลือกเด็ก แต่การก่อสร้างอาคารเรียนกลับไม่มีความคืบหน้า ตอนนี้ทางสำนักงานเขตการศึกษา จึงยุติการดำเนินการเกี่ยวโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ไว้ก่อน

ถึงแม้ปมใหญ่ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดช่วงที่ผ่านมา จะอยู่ที่งบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน ทว่า ปัญหาของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ไม่ได้มีเพียงแค่นั้น เพราะหลังจากเกิดเหตุระเบิด ณ สถานที่ก่อสร้างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 40 ปัตตานี ส่งผลให้ผู้ปกครองบางคนหวาดกลัวว่า หากปล่อยให้บุตรหลานไปเรียนที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์แล้วจะไม่ปลอดภัย

ยิ่งอาคารเรียนไม่เป็นรูปเป็นร่าง ผู้ปกครองก็ยิ่งไม่มั่นใจที่จะส่งบุตรหลานไปเรียน เพราะไม่แน่ใจว่า จะได้เรียนจริงหรือเปล่า โรงเรียนจะสร้างเสร็จเมื่อไหร่ ที่สำคัญผู้ปกครองเห็นว่า บุตรหลานเรียนที่โรงเรียนเดิมก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ อยู่แล้ว

ถึงกระนั้น ก็ยังมีผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย ที่พร้อมจะส่งบุตรหลานเข้าเรียนที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ในจำนวนนั้น คือ นางหะติกะ กาลอ ชาวอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ผู้สูญเสียสามีจากเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 ที่มัสยิดกรือเซะ ที่วันนี้รับจ้างกรีดยางหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว และส่งเสียลูกเรียนอีก 4 คน

“ถ้าหากโรงเรียนสร้างเสร็จ ก็อยากจะให้ลูกไปเรียนที่นั่น เพราะลำพังไม่สามารถจะส่งเสียให้ลูกเรียนระดับสูงๆ ได้ แต่อยากให้เรียนแบบไป – กลับ ไม่อยากให้อยู่ประจำที่โรงเรียน เพราะลูกๆ จะได้ช่วยทำงานบ้านบ้าง”

เช่นเดียวกับ นางตีเม๊าะ โต๊ะเจะ อายุ 52 ปี ชาวอำเภอโคกโพธิ์ ผู้สูญเสียสามีเสียในวันเวลาและที่เดียวกันกับนางหะติกะ ที่ต้องทำงานเลี้ยงลูก 9 คน และส่งเสียลูกเรียนหนังสืออีก 4 คน อยากให้ลูกเรียนที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ด้วยหวังให้ลูกๆ มีโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกับคนอื่นๆ จะได้ทำงานดีๆ กลับมาเลี้ยงดูในภายภาคหน้า

เหมือนกับ นางแอเสาะ ลาเตะ อายุ 60 ปี ที่ลูกชายถูกจับกุมจากเหตุการณ์ปะทะกับเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี และถูกนำตัวไปคุมขังที่กรุงเทพมหานคร ปล่อยให้นางต้องเลี้ยงหลานในวัยเรียน ซึ่งเป็นลูกของลูกชายคนที่ถูกจับทั้งหมด 5 คน ที่ประเมินกำลังตัวเองแล้ว คงไม่สามารถส่งเสียให้หลานๆ เรียนหนังสือได้ จึงตั้งใจไว้ว่า ถ้าโรงเรียนราชประชานุเคราะห์สร้างเสร็จ ก็จะส่งหลานไปเรียน ด้วยหวังว่าอย่างน้อยหลานๆ จะได้มีโอกาสเท่าเทียมคนอื่น

ถึงแม้วันนี้โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ จะยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเห็นได้ชัดเจน แต่ตราบใดที่หน่วยงานรับผิดชอบยังคงไม่หยุดนิ่ง….ความหวังของเด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาสใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะไม่มอดดับลง
กำลังโหลดความคิดเห็น