มัสลัน มาหะมะ
สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยอิสลามยะลา
สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
การกล่าวคำ “ขอโทษ” ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี แทนภาครัฐและรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่ประเมินสถานการณ์และวางยุทธศาสตร์แก้ปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ผิดพลาด ระหว่างการประชุมกับผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ข้าราชการ และประชาชนจากจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา จำนวนกว่า 1,500 คน เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ โรงแรม ซีเอสปัตตานี ไม่เพียงแต่ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางจากทุกภาคส่วนของสังคมในระดับประเทศเท่านั้น สื่อต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย โดยรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ต่างก็ชื่นชมในความมี “จิตใจอันสูงส่ง” ของนายกรัฐมนตรีไทย โดยชี้ว่าสิ่งนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความนอบน้อมที่สามารถนำไปสู่สันติภาพได้ พร้อมส่งสัญญาณที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยเพื่อความสันติสุขในภูมิภาค
ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมในบรรยากาศของวันดังกล่าว และร่วมสัมผัสวินาทีแห่ง “ประวัติศาสตร์ในการบริหารการปกครองของรัฐบาลไทย” ที่บุคคลระดับผู้บริหารประเทศได้แสดงจุดยืนความเป็น “สุภาพบุรุษทางการเมือง” อย่างชาญฉลาดและกล้าหาญที่สุด
หลังจาก “ประโยคทอง” (ผมขอโทษ) ซึ่งน่าจะเป็นวาทกรรมแห่งปีของผู้นำประเทศสิ้นสุดลง ห้องประชุมทั้งห้องคล้ายตกอยู่ในอาการภวังค์ น้ำตา และเสียงร่ำไห้ของผู้เข้าร่วมบางส่วนก็พรั่งพรูออกมาพร้อมกับเสียงปรบมืออย่างกึกก้อง ผู้เขียนแอบชำเลืองดูนาฬิกาข้อมือ ซึ่งตรงกับเวลา 12.02 น และเตือนตัวเองว่า จะเก็บความประทับใจในห้วงเวลาของวันนี้ (2 พ.ย.) ไว้ในความทรงจำตลอดชีวิต
ผู้เขียนเพิ่งรู้สึกถึงอานุภาพมนต์ขลังอันวิเศษของคำว่า “ขอโทษ” ในวันนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต
“ขอโทษ” เป็นคำที่น่ารัก และเป็นคำสั้นๆ ในทุกภาษาของประชาคมโลก แต่น่าจะเป็นคำที่มีการกล่าวถึงน้อยที่สุดในจำนวนคำพูดของผู้คนในชีวิตประจำวันของตนเอง ยิ่งหากมีการวิเคราะห์การใช้คำดังกล่าวในระดับสากลในอารยประเทศด้วยแล้ว จะพบว่า “ขอโทษ” อาจเป็นคำต้องห้ามสำหรับผู้นำระดับสากลเลยทีเดียว
การกล่าวคำว่า “ขอโทษ” ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี นับได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดียิ่ง ถึงแม้อาจไม่ถึงกับทำให้เชื่อว่าปัญหาที่หมักหมมมาหลายปีจะยุติลงโดยพลัน แต่เป็นการสร้างบรรยากาศแห่งสมานฉันท์ที่ทำให้ทุกฝ่ายพร้อมจะหันหน้าเข้าหากัน สามารถผ่อนคลายความตึงเครียดอันยาวนานได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่มีผลทางการเมืองการปกครองอันประสิทธิภาพสูงสุด หากเปรียบเทียบการผลาญงบประมาณอย่างมหาศาลเพียงเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในเรื่องเดียวกัน
และเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 ศาลได้ยกฟ้อง 56 ผู้ต้องหาคดีตากใบ
ทั้งสองกรณีดังกล่าวเป็นการใช้ “อารยธรรมแห่งสังคมคุณธรรม” ในการพยายามดับไฟใต้ของคณะรัฐบาลชุดนี้ แม้ว่าอาจ จะทำให้ไฟใต้ไม่มอดดับ แต่ “ไฟในใจ” ของผู้ต้องหาจำนวน 56 คน พร้อมครอบครัว ที่ได้รับความกดดันและทุกข์ใจมาเป็นเวลา 2 ปีเศษ ได้รับการเยียวยาแล้ว ถึงขนาดหนึ่งในจำนวนผู้ได้รับการยกฟ้องดังกล่าวให้สัมภาษณ์ว่า “เหมือนมีชีวิตใหม่” เลยทีเดียว
เพื่อเป็นการสรรค์สร้างบรรยากาศดีๆ เช่นนี้ให้คงอยู่ในสังคมตลอดไป ผู้เขียนใคร่นำเสนอข้อคิดเห็นดังนี้:
1.การ “ขอโทษ” และการ “ให้อภัย” มีทั้งเสแสร้ง และจริงใจ อากัปกิริยาในขณะพูด และการกระทำเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าผู้พูดนั้นกล่าวด้วยความแสแสร้ง หรือจริงใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิกิริยาจาก “ส่วนล่าง” ที่เป็นเจ้าหน้าที่ภาคปฏิบัติที่จะต้องประสานเสียงกับ “ส่วนบน” ที่สามารถพิสูจน์ความจริงใจให้ปรากฏเป็นรูปธรรม
2.การที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ยื่นมือพร้อมกล่าวว่ายินดีสวมกอดทุกคนที่เข้าร่วมประชุมในวันนั้นเพื่อกล่าวคำขอโทษพร้อมๆ กับ ยอมรับว่า ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของผู้ผิดพลาดที่ไม่สามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาใต้โดยสันติวิธี นับเป็นการเริ่มต้นการบริหารประเทศที่ประเสริฐยิ่ง เพราะนอกจากเป็นการแสดงความจริงใจที่สามารถสัมผัสได้แล้ว ยังเป็นการซื้อใจที่แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย การกล่าวคำขอโทษจึงเป็นแกนแห่งคุณธรรม สมควรที่ผู้นำและผู้รับผิดชอบในทุกระดับนำเป็นแบบอย่างและรักษาเป็นมาตรฐานในการบริหารบ้านเมืองต่อไป
3.สิ่งที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยพึงระวังและไม่ควรเผลอให้เกิดขึ้นได้อีก ก็คือ การดูแลป้องกันมิให้ผู้ปฏิบัติระดับพื้นที่วางตัว ตัดสินใจ หรือกระทำการที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชนที่ก่อให้เกิดเงื่อนไขแห่งอคติ หรือความไม่ไว้วางใจขึ้นมาได้อีก หาไม่แล้วอาจมีการจัดฉากการ “ขอโทษ” ย้อนหลังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้การ “ขอโทษ” สูญสิ้นมนต์ขลังโดยปริยายและอาจกลายเป็น “ตลกการเมือง” ที่ไม่มีใครตลกด้วยก็เป็นได้
4.สังคมมุสลิมเป็นสังคมที่ได้รับการหล่อหลอมให้รู้จักกล่าวคำ “ขอโทษ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอโทษต่อพระผู้เป็นเจ้า ท่านศาสนทูตมูฮัมมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ได้นำเสนอแบบอย่างที่ดีด้วยการกล่าวขอโทษต่ออัลลอฮฺมากกว่า 100 ครั้งต่อวัน และถือเป็นกิจวัตรของมุสลิมที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ เพื่อตอกย้ำว่า ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติของสามัญชน การกล่าวขอโทษต่ออัลลอฮฺจะไม่สมบูรณ์จนกว่าจะมีการกล่าวขอโทษต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
นอกจากการกล่าว “ขอโทษ” แล้ว การ “ให้อภัย” ถือเป็นสุดยอดแห่งคำสอนในอิสลาม และถือเป็นคุณลักษณะของมุสลิมอันประเสริฐสุด อิสลามสอนให้มุสลิมรู้จักให้อภัย ถึงแม้แก่เหล่าศัตรูในสมรภูมิสงครามยามที่พวกเขายินยอมการประนีประนอม
ด้วยเหตุดังกล่าวสังคมมุสลิมจึงสมควรเป็นธงนำในการจุดประกายวัฒนธรรมแห่ง “การขอโทษและการให้อภัย” สมดังเจตนารมณ์แห่งอิสลามที่แท้จริง
อย่างน้อยช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา มุสลิมทุกคนได้ถูกกำชับให้กล่าวคำขอพรในค่ำคืน อัลก็อดรฺ (คืนหนึ่งในเดือนรอมฎอนที่ไม่สามารถระบุเวลาที่แน่นอน การปฏิบัติศาสนกิจในคืนดังกล่าวย่อมประเสริฐกว่าการปฏิบัติศาสนกิจในเดือนอื่นๆ มากกว่า 1,000 เท่า ) ด้วยคำกล่าว ความว่า “โอ้พระเจ้าของฉัน พระองค์คือพระผู้ทรงให้การอภัยยิ่ง ทรงรักการให้อภัย ได้โปรดให้อภัยแก่ฉันด้วยเถิด” รายงานโดย ติรมีซีย์ / 3435
อัลกุรอานได้สั่งใช้ให้ท่านศาสนทูตมูฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) ยึดปฎิบัติซึ่งการให้อภัย โดยที่การสั่งใช้ในเรื่องดังกล่าวถือเป็นการสั่งใช้แก่ประชาชาติมุสลิมเช่นเดียวกันด้วยโองการความว่า "โอ้มูฮัมมัด เจ้าจงยึดถือไว้ซึ่งการอภัยและจงสั่งให้กระทำสิ่งที่ดีงาม และจงผินหลังให้แก่ผู้โฉดเขลา (ผู้ยั่วยุให้กระทำสิ่งที่มิชอบ)ทั้งหลายเถิด" (อัล-อะอฺรอฟ/199)
นอกจากนี้อัลลอฮฺได้กำชับให้ศาสนทูตมูฮัมมัด(ขอความสันติจงมีแด่ท่าน)แจ้งแก่บรรดาผู้ศรัทธาให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการให้อภัยดังปรากฏในอัลกุรอานความว่า “โอ้มูฮัมมัด เจ้าจงกล่าวแก่บรรดาผู้ศรัทธาให้พวกเขาอภัยแก่บรรดาผู้ที่ไม่หวังในวันทั้งหลายของอัลลอฮฺเพื่อพระองค์จะทรงตอบแทนแก่หมู่ชนตามที่พวกเขาได้ขวนขวายเอาไว้” (อัลญาชิยะฮฺ/14)
การขอโทษและการให้อภัยจึงเป็นอารยธรรมแห่งอารยชนอันแท้จริง.
"โอ้อัลลอฮฺ ขอได้โปรดทรงให้อภัยแก่ฉันและมวลประชาชาติด้วยเทอญ"