มัทนี จือนารา สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
หากจะเอ่ยถึงผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ มักตกเป็นเป้าของผู้ความไม่สงบอยู่เสมอ แต่กลับไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าบุคคลเหล่านี้เสียชีวิตด้วยเหตุอันใด ทั้งจากเรื่องส่วนตัวหรือสาเหตุอื่นๆ
ดังกรณี ตระกูล “เปาะอีแตดาโอะ” แห่งบ้านปุโรง อ.กรงปินัง จ.ยะลา ที่ชาวบ้านร่ำลือกันว่ามีคนจะตามเก็บพวกเขาทั้งตระกูล ด้วยเหตุผลว่า บุคคลในครอบครัวนี้ส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับภาครัฐ วันนี้ครอบครัวดังกล่าวต้องสูญสียสมาชิกไปแล้ว 3 คน ในจำนวนนั้นเป็นทั้งผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครรักษาความสงบเรียบร้อยประจำหมู่บ้าน (อส.) หรือแม้แต่ประกอบอาชีพทำสวนก็ไม่พ้นเงื้อมมือของผู้ก่อการได้เลย
“ปาตีเมาะ เปาะอีแต” ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสันติภาพ หนึ่งในสมาชิกของครอบครัวดังกล่าว ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานคอยช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบมาตั้งแต่ปี 2547 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
“ปาตีเมาะ” มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน แต่เธอได้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปแล้ว 3 คน คือ นายรอฮีมพี่ชายของเธอซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2546 ต่อมาเมื่อวันที่ 22 เมษายน ปี 2549 ต้องสูญเสียพี่ชายอีกคน คือนายซำซุดดีน ซึ่งเป็นอส. ต่อหน้าต่อตาเธอและท่ามกลางหมู่ชาวบ้านซึ่งกำลังซื้อของในตลาดหน้าบ้าน ผลในครั้งนั้นทำให้ตลาดแห่งนั้นถูกปิดเพราะความหวาดกลัวของผู้คน กระทั่งล่าสุดเธอต้องได้รับข่าวร้ายอีกครั้ง เมื่อ นายอับดุลอายีฟ ดอรอแต พี่เขยที่แสนดีของครอบครัว เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2549 ทั้งๆที่พี่เขยเป็นเพียงคนธรรมดา เป็นชาวทำสวนไม่เคยมีความขัดแย้งกับใคร กลับต้องตกเป็นเป้าของผู้ก่อการตามพี่ๆ ของเธอไปอีกคน
“ถึงวันนี้ ฉันเหลือพี่ชายอยู่คนเดียว และสังหรณ์ใจว่า อีกไม่นานพี่ชายคนนี้อาจต้องสังเวยชีวิตให้แก่ผู้ก่อการอีกคนก็เป็นได้” เธอเผยใจ
“ปาตีเมาะ” เป็นที่รู้จักดีของชาวบ้านผู้สูญเสีย เพราะเธอสละเวลาเข้ามาทำงานช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตัวเธอก็ได้รับผลกระทบนั้นเช่นกัน แต่เธอบอกว่า
“ถ้าเราไม่เข้ามาทำงานตรงนี้ คงไม่มีโอกาสเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้สูญเสีย เราจะได้บอกสภาพความจริงของชาวบ้านที่ต้องประสบกับเหตุร้ายครั้งนี้ ว่าชาวบ้านนั้นอยู่กันอย่างลำบากยังไงและได้รับความไม่เป็นธรรมอย่างไรบ้าง” เธอกล่าวถึงหลักของทำงานครั้งนี้
เธอยังเคยสะท้อนความสะเทือนใจให้กับผู้ฟังในงาน “เสียงจากชายแดนใต้” ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2549 ให้ผู้รักสันติในเวทีนั้นให้รับรู้ว่า
“ก่อนหน้าหนึ่งวันที่ต้องมาพูดฉันได้สูญเสียพี่ชายไปต่อหน้าต่อตา ขอให้พี่ชายของฉันคนนี้ เป็นคนสุดท้ายที่ต้องสูญเสียจากสถานการณ์รุนแรงนี้เถิด” เธอกล่าวด้วยเสียงสะอื้นทว่าเข้มแข็งอยู่ในทีว่า คำขอร้องของเธอแม้จะกู่ไปไกล แต่ก็ไม่อาจระงับเหตุร้ายที่ต้องเกิดขึ้นกับครอบครัวของเธอ ทั้งๆ ที่ทุกคนเห็นคนร้ายขี่รถผ่านไปมาหน้าบ้านแต่ชาวบ้านก็ไม่กล้าทำอะไรเลย
“ถึงวันนี้กะเมาะห์ไม่กลัวอะไรแล้ว เพราะถ้าเราไม่อยู่ตรงนี้ ใครล่ะ? จะต่อสู้เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม ให้สังคมได้รับทราบถึงความทุกข์ยากของบ้านเรา และถ้าเธอตายไป แต่เจ้าหน้าที่ยังสามารถชันสูตรศพ และชี้ผู้ร้ายตัวจริงได้ ประกอบกับหลักฐานที่เป็นความจริง กะเมาะห์ก็ยอม เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคม” และสะท้อนความเจ็บช้ำใจต่อว่า
ขณะที่พี่ชายคนที่เพิ่งเสียชีวิต ก็ไม่มีหน่วยงานรัฐใดเลยที่แวะมาเยี่ยม มีแต่ตำรวจ - ทหารเข้ามาดูศพ บ่งบอกถึงการเลือกปฏิบัติ เพราะตอนที่พี่ชายซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน และ อส. ต่างได้รับการดูแลเป็นอย่างดี แต่ประชาชนธรรมดาไม่ได้รับการดูแล ไม่มีการแจ้งตาย เสมือนว่าพี่ชายเป็นชีวิตที่ไร้ค่า ไม่มีเกียรติ คล้ายดั่งเป็นผักเป็นปลาเท่านั้น
ในวันนี้เธอยังคงต่อสู้ร้องขอความเป็นธรรมต่อ ด้วยการให้เจ้าหน้าที่เร่งสืบหาข้อเท็จจริง เพื่อหาพยานหลักฐานให้ชัดเจนก่อนที่จะสรุปสำนวน เพราะในสำนวนกล่าวเพียงว่าเป็นคดีส่วนตัว ทั้งที่ไม่ได้มีการสืบสวนอย่างละเอียดแต่อย่างใด ดังนั้นเธอจึงต้องติดตามความคืบหน้าการสืบสวนของตำรวจอยู่เป็นระยะ
ปัจจุบันสภาพครอบครัวของเธอ ก็ยังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อชีวิต โดยเฉพาะพี่ชายคนสุดท้ายคือ “มูซอ เปาะอีแตดาโอะ” ผู้ชายที่เหลือคนสุดท้ายของครอบครัวนี้ ซึ่งแม้ว่าเขาจะประกอบอาชีพเป็นคนสวนธรรมดา แต่การจากไปของพี่ชายสองคนก่อนหน้าได้สร้างความหวั่นเกรงให้เขาเป็นอย่างมาก
“รู้สึกกลัวมาก ๆ เพราะเราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และเมื่อไหร่เขาจะมาทำร้ายเรา ทุกวันนี้ต้องหาที่นอนกันไม่ซ้ำที่ และไม่ซ้ำบ้าน แม้จะไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่การที่พี่เขยตายก็ยิ่งทำให้กลัว” เขากล่าวด้วยน้ำเสียงหวาดหวั่นและกล่าวต่อว่า
“ถึงแม้จะมีรัฐบาลชุดใหม่ แต่สถานการณ์ก็ยังหมือนเดิม ไม่มีใครสามารถดูแลชีวิตเราได้หรอก เว้นแต่เรานี่แหละจะต้องป้องกันตัวเอง แต่ถ้าจะจับปืนยิงคน เราตัวคนเดียว คงไม่รอดอยู่แล้ว แต่พวกเขามีอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ส่วนตัวเรามีเพียงพระองค์อัลลอฮ อาวุธอย่างเดียวของเราคือ ขอดุอาอ์ต่อพระองค์อัลลอฮให้คุ้มครอง ปลอดภัย” เขาพูดพร้อมๆ กับน้ำในตาที่เริ่มเอ่อ
“คาเดร์ เปาะอีแต ดาโอะ” พ่อวัย 71 ปี ผู้สูญเสียลูกชาย 2 คน และลูกเขย 1 คน นั่งซึม เมื่อถามถึงข่าวลือว่า จะมีการตามเก็บคนที่อยู่ในตระกูลเปาะอีแตดาโอะอีก ผู้เฒ่ากล่าวว่า ทุกอย่างมอบให้กับพระเจ้าหมดแล้ว แม้เราไม่ต้องการตายด้วยการถูกยิง แต่เราก็ต้องตายด้วยสาเหตุอื่นอยู่ดี แม้ว่าจะรู้สึกกลัวแต่ก็อาศัยศรัทธาที่ยึดมั่นต่ออัลลอฮเท่านั้นเข้าข่ม จะให้ลูกๆ ทำงานอยู่แต่ที่บ้าน แล้วลูกหลานจะกินอะไร ต้นยางที่มีอยู่ก็มีไม่พอ
ไลลา เปาะอีแตดาโอะ อายุ 33 ปี ภรรยาของ“อับดุลอายีฟ” พี่เขยของ“ปาตีเมาะ” เธอต้องดูแลลูกทั้งหมด 3 คนลูกชายคนโตอายุ 16 ปี ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวต่อไปขณะนี้ เรียน กศน.และคอยดูแลสวนและเลี้ยงวัวแทนพ่อ และมีลูกสาวอีก 2 คน อายุ 12 ปี และอายุ 7 ขวบ
ไลลาบอกว่า “ทุกวันนี้อยู่ได้ก็เพื่อลูก ๆ” และบอกถึงสภาพชีวิตก่อนที่สามีจะพรากจากเธอว่า
“หลังจากที่พี่ชายทั้งสองคนเสียชีวิต มีกลุ่มวัยรุ่นมาเคาะและพังประตูอยู่บ่อยครั้ง จนต้องออกจากบ้านกลางดึก ต้องหนีมานอนบ้านแม่ พวกเราและลูกตกใจและอยู่ในความหวาดผวามาโดยตลอด อีก 2-3 คืนหลังจากนั้น ก็เปลี่ยนไปนอนที่บ้านตัวเองต่อ” เธอผู้สูญเสียสามีเล่าด้วยอาการร้องไห้สะอื้น พร้อมกับลูกสาววัย 7 ขวบนั่งเป็นเพื่อนอยู่ใกล้ๆ
“เมื่อ 6 ปีที่แล้ว สามีเคยต้องคดีเพราะถูกใส่ร้ายว่าไปฆ่าคนซึ่งเคยข่มขืนพี่สะใภ้ ผู้กระทำจึงกลัวสามีเพราะมีผู้ชายอยู่ในครอบครัวคนเดียว จึงต้องการทำร้ายสามี ทั้งๆ ที่สามีไม่ได้ต้องการเอาเรื่องอะไรและพร้อมจะทำความเข้าใจ จู่ๆ ชายคนนั้นเกิดเสียชีวิตกะทันหัน เรื่องกลับตาลปัตรเป็นว่า สามีเราเป็นคนทำร้าย ทำให้ต้องสู้คดีและยอมเสียเงินประกันตัว 740,000 บาท เพื่อความสงบสุขของครอบครัว ระหว่างนั้นสามีจึงไม่ค่อยได้อยู่บ้าน ทำให้ลูก ๆ อยู่กันอย่างไม่มีความสุข ซึมเศร้า จนกระทั่งเขาจากเราไป” เธอบรรยายถึงความยากลำบากในชีวิตและเล่าต่อว่า
ก่อนที่สามีจะเสียชีวิต บ่ายวันนั้น สามีเรียกเธอและลูก ๆ ให้ไปนั่งใกล้เธอ แต่เธอปฏิเสธไปเพราะรู้สึกเหนื่อยจากการทำงาน มีแต่ลูกเท่านั้นที่ไปนั่งเล่นหัว คอยนวดแข้งนวดขา ก่อนจะผล๊อยหลับไปทั้งหมด ก่อนจะตื่นมาตอนเย็นสามีก็ให้เธอไปดูต้นยาง เพราะเขาบอกว่า อีกนานถึงจะไปดูได้ เธอก็เลยอาสาไป ส่วนสามีก็เตรียมจะออกจากบ้านไปเก็บหญ้าเพื่อให้วัวกิน กระทั่งสามีเอ่ยขึ้นมาเหมือนเป็นลางว่า
“ผมไปแล้วนะ” ส่วนเธอก็บอกว่า “ฉันก็จะไปเหมือนกัน” กระทั่งมีคนมาบอกข่าวว่า สามีได้จากไปแล้วจริงๆ
เมื่อถามลูกสาวคนกลาง ตัวเล็กวัย 12 ปี ว่า โกรธคนทำหรือเปล่า เธอตอบอย่างฉะฉานว่า “โกรธ” และเมื่อถามต่อว่า โกรธใคร น้ำตาของเด็กสาวก็ซึมก่อนจะบ่ายหน้าไม่ตอบ
ความเครียดและความหวาดผวาของครอบครัว “เปาะอีแตดาโอะ” ที่กำลังประสบและเด็ก ๆ กำพร้าซึ่งไร้ผู้นำครอบครัวทั้งหมด 13 คน ต่างไม่รู้ว่าอนาคตอันใกล้นี้ พวกเขาจะต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัวคนใดไปอีก ซึ่งคงจะไม่มีใครจะสามารถรับประกันความปลอดภัยของครอบครัวนี้ได้ นี่จึงเป็นชะตากรรมของครอบครัวหนึ่งที่ให้ความร่วมมือกับรัฐมาโดยตลอด โดยได้รับความรุนแรงเป็นผลตอบแทน
“แท้จริงเราเป็นของอัลลอฮ์ และแท้จริงเราจะกลับไปหาพระองค์” พวกเขายึดมั่นเช่นนั้น