xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากกือลอง “ความสงบสุขที่พวกเรารอคอย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อับดุลเลาะ หวังนิ
สุเมธ ปานเพชร
สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา จัดได้ว่าเป็นพื้นที่สีแดงที่เกิดเหตุความไม่สงบอยู่บ่อยครั้ง และมีเหตุการณ์ความรุมแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว โดยชาวบ้านทั้งไทยพุทธและมุสลิมต่างก็อยู่กันอย่างหวาดผวายิ่งเป็นคนไทยพุทธที่อยู่ในพื้นที่ต่างก็รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย เพราะที่ผ่านมาเป้าหมายของคนร้ายจะมุ่งเป้าไปยังคนไทยพุทธที่อยู่ในพื้นที่

นิคมสร้างตนเองกือลอง ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่กว่า 84 เปอร์เซนต์ เป็นคนไทยพุทธที่อพยพมาจากแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อครั้งที่แหลมตะลุมพุกถูกพายุ ทำให้คนในแหลมตะลุมพุกต้องอพยพมาตั้งหลังปักฐานในพื้นที่นิคมฯแห่งนี้เมื่อ 41 ปีที่ผ่านมา พ.ศ.2508 โดยรัฐบาลจัดหาที่ทำกินให้

การเดินทางประมาณ 10 กิโลเมตร จากตัวอำเภอบันนังสตา จากถนนสาย 410 เส้นทางหลักทางเข้าเป็นทางแยกเข้าถนนสองช่องจลาจรเล็กๆระหว่างทางมีร่องรอยระเบิดอยู่ เป็นหลุมขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางทางทำให้รถต้องหยุดชะลอความเร็ว บ่งบอกได้ถึงความรุนแรงของเหตุการที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เส้นทางคดโค้งตามไหล่เขาที่ต้องตัดผ่านชุมชนชาวไทยมุสลิม จนมาเจอวัดเจริญธรรม คือจุดเริ่มต้นการเข้าสู่นิคมสร้างตนเองกือลองนิคมแห่งนี้

วิถีชีวิตของชาวบ้านในนิคม จากเดิมที่เขาใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติแต่วันนี้ ชีวิตของพวกเขาต้องเปลี่ยนไปหลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในสามจังหวัด วิถีชีวิตของชาวบ้านต้องเจอผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชายวัย 40 กว่าปีคนหนึ่งในชุมชน ที่เป็นอดีตสมาชิก อบต.ในพื้นที่ เริ่มเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในนิคมแห่งนี้ว่า ประชาชนที่อาศัยในนิคมมีความรู้สึกเดียวอันเดียวกัน ถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตของตัวเองและครอบครัว จากเหตุการณ์ที่สมาชิกในชุมชน ได้รับผลกระทบทั้งเสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแต่ปี 2547 หลายรายแล้ว โดยที่เขาเหล่านั้น ไม่เคยมีปัญหาหรือไปกระทำความผิดอะไรกับใครมาก่อนเลย

“เอาง่ายๆ 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา ชาวบ้านที่เป็นคมในกือลอง เสียชีวิต ประมาณ 7 ราย แล้ว รวมถึง สองแม่ลูกรายล่าสุดด้วย ศพแล้วศพเล่าที่คนในหมู่บ้านแห่งนี้ถูกทำร้ายด้วยฝีมือของใครไม่รู้และไม่รู้ว่าพวกมันต้องการอะไร ที่ทำได้แม้กระทั่งเด็กอายุ 3 ขวบ ที่ไม่มีทางสู้ก็ยังถูกทำร้าย” เขากล่าวถึง นางอรุณรัตน์ ณ พัทลุง และด.ญ.ปัทมาพร จันเล็กพัฒน์ ลูกสาววัย 3 ขวบ สมาชิกของชุมชนรายล่าสุดที่ถูกยิงพร้อมกับสามี

อดีตสมาชิก อบต.รายเดิม เล่าอีกว่า เมื่อก่อนกือลองเป็นชุมชนที่น่าอยู่ สมาชิกชุมชนมีอยู่ 1,000 กว่าครัวเรือน หลักจากที่สมาชิกในชุมชนบาดเจ็บและล้มตาย จากเหตุการณ์โดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ ชาวบ้านที่มีเงินได้อพยพออกไปจากนิคม หลายครับครัวแล้ว ประมาณเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุเพียงเพราะพวกเขาไม่มั่นใจความปลอดภัยในชีวิต เขาบอกว่า ไม่ใช่แค่ชาวบ้านในกือลอง คนไทยพุทธที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอบันนังสตาหลายๆ ครอบครัว ต่างก็ไม่มั่นในเหมือนกับชาวบ้านในกือลอง

“ใครที่พอจะมีเงินหน่อย ก็ขายที่ทางอพยพไปอยู่ที่อื่น ส่วนคนที่ไม่มีเงิน และไม่อยากจะทิ้งที่ดินทำกิน ที่ทำกันมากว่า 3 – 4 ช่วงอายุคน ทำได้เพียงแค่รอคอยว่า เมื่อไรเหตุการณ์จะสงบลงกลับสู่สภาพเดิมในอดีตสักที” เขาบอกถึงความหวังที่อยู่ในใจของชาวบ้านทุกคน

ตั้งแต่คนในชุมชนเสียชีวิต และบาดเจ็บ จากความไม่สงบที่เกิดขึ้น ทำทุกคนในชุมชนต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น กลุ่มผู้ก่อการพยายามสร้างความแตกแยกระหว่างชาวไทยพุทธกับชาวไทยมุสลิมเดียวนี้คนไทยพุทธและไทยมุสลิมเริ่มจะไม่มองหน้ากัน ทั้งที่สมัยก่อนเป็นเพื่อนเรียนด้วยกัน ต่างฝ่ายต่างระแวงซึ่งกันและกันไปหมดแล้ว

ชาวบ้านรายเดิม บอกว่า หากไม่มีเหตุจำเป็นจะไม่ออกจากหมู่บ้าน แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ต้องออกไป สิ่งที่ทำได้คือต้องระวังตัวให้มากที่สุด ถ้าจะออกก็จะออกไปเป็นกลุ่ม ไม่ไปไหนมาไหนคนเดียวนอกหมู่บ้าน อาวุธที่พอจะมีก็ต้องเอาติดตัวไปด้วย ในเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่มีความสามารถดูแลพวกเราพวกเราต้องระวังตัวเอง

“รถมอเตอร์ไซด์ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่มีเอาไว้ขี่ทำมาหากินในนิคมเท่านั้น ถ้าจะออกไปข้างนอกก็จะไปกับรถยนต์ ไม่มีใครกล้าจะขี่ออกไปข้างนอกชุมชน หากลองขี่ออกไปบ่อยๆ เดียวก็เป็นศพ”

เป็นเหตุผลที่ทำให้รถจักรยานยนต์ในนิคมกือลองส่วนใหญ่ต้องเป็นรถที่ไม่ได้ต่อทะเบียน เพราะไม่กล้าขับออกไป ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวกับด้านนี้ก็ไม่เข้ามาอำนวยความสะดวก

ชายกลางคนรายเดิม กล่าวอีกว่า ถ้าเหตุการณ์ยังอยู่เช่นนี้ อนาคตข้างหน้า เขาคงจะต้องอพยพลูกหลานไปอยู่ที่อื่นเหมือนกัน ด้วยเหตุผลว่า ในวันนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐยังอยู่เป็นรองฝ่ายผู้ก่อการแล้ววันใดวันหนึ่งเขาหรือสมาชิกในครอบครัวอาจจะต้องตกเป็นเหยื่อเหตุการณ์ได้

“ถ้ารัฐจะเข้ามาแก้ปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ ผมของถามว่า รัฐมีความจริงแค่ไหน ผู้ที่เข้ามาดูแลต้องมีความจริงใจและจริงจัง หากผู้ที่มีอำนาจรับผิดชอบในการแก้ปัญหา ไม่มีความจริงใจและจริงจัง อย่าหวังเลยว่า ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้จะแก้ได้ เกือบ 3 ปีแล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมไม่เห็นโอกาสเลยว่าเจ้าหน้าที่จะแก้ได้ มีแต่ทำให้เพิ่มขึ้นหรือว่าจะให้คนไทยพุทธที่อาศัยอยู่ในพื้นต้องล้มตายไปอีกเท่าไร” อดีตสมาชิกอบต.นิคมกือลองระบายความในใจ

เขายังระบายความรู้สึกต่อไปว่า ตอนนี้ชาวบ้านโดยเฉพาะชาวไทยพุทธในเขต อำเภอบันนังสตา เริ่มอ่อนแอสิ่งคือกลไกของรัฐที่ไม่สามารถดูแลความปลอดภัยพวกเขาได้และไม่เคยเข้ามาให้กำลังใจเลยว่าชาวไทยพุทธในพื้นที่อำเภอบันนังสตา จะอยู่กันยังไงตอนนี้สิ่งที่พวกหวังอยากจะให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาเป็นกำลังใจ ไม่ใช่เอาเงินมาเยียวยามาให้แล้วก็กลับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบหน่วยงานของรัฐไม่เคยเข้ามาถามสารทุกข์สุกดิบพวกเราเลย

“ตัวผมเองผมไม่เป็นห่วงเท่าไร เพราะผมอยู่ไปไม่กี่ปีก็ตายแล้ว ห่วงก็แต่ลูกหลานมัน ถ้าเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นผมก็พยายามหาที่อยู่ใหม่ให้พวกเขา เป็นห่วงพวกเขา เพราะเขายังเป็นเด็กอนาคตยังอีกไกล”

ชายวัย 56 ปี อดีตข้าราชการครูรายหนึ่ง สมาชิกในนิคมถือลอง กล่าวเสริมว่า ความรู้สึกที่ชาวบ้านทุกคนได้รับจากสิ่งที่เกิดขึ้นไม่แตกต่างกัน หากปล่อยไว้แย่แน่ๆ ชาวบ้านทุกคนมีจิตใจมีเลือดเนื้อเป็นมนุษย์ ทุกคนต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แต่ความต้องการความปลอดภัยไม่เคยได้รับการตอบสนองจากรัฐเลย

“การยิงคนบริสุทธิ์ที่ไม่รู้เรื่องในความรู้สึกของคนอยู่ที่อื่น รับรู้แล้วก็ผ่านไป แต่ชาวบ้านในนิคมไม่ใช่ ทุกคนจดจำการกระทำที่เกิดขึ้นกับคนในชุมชนได้หมด มันเป็นความคับแค้นใจลึกๆ ที่ไม่รู้จะระบายอย่างไร”

เขาถามด้วยความสงสัยว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีทั้งอำนาจในการดำเนินการ อาวุธ และกำลังคนที่กระจายอยู่แทบทุกพื้นที่ จึงไม่สามารถปราบกลุ่มที่สร้างปัญหาพวกนี้ให้หมดไปได้เสียที

ทั้งที่ผู้ใหญ่หลายๆคนในบ้านเมืองเคยบอกผ่านหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ รู้เป็นฝีมือกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ คนนั้นคนนี้ทีเป็นตัวปัญหา แต่จับตัวมาลงโทษไม่ได้ มันเกิดอะไรขึ้น มีอะไรอย่างอื่นแอบแฝงอยู่หรือไม่ ที่ทำให้ฝ่ายรัฐไม่สามารถจัดการกับกลุ่มพวกนี้ได้

“ข่าวเรื่องที่จะไปเจรจากับกลุ่มผู้ก่อการแบ่งแยกดินแดนก็เหมือนกัน ผมสงสัยว่าทำไมรัฐต้องไปตกลงต่อรองให้เกียรติผู้กระทำผิดถึงขนาดนั้น ทำไมไม่นำตัวมาลงโทษ ตามรัฐธรรมนูญไทยก็บอกว่า อันผืนแผ่นดินไทยไม่สามารถแบ่งแยกได้ พวกที่ต้องแบ่งแยกดินแดนก็คือผู้ที่กระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ จะไปยอมเจรจาทำไม หากรัฐยอมไม่เจรจา ก็ต้องไปยอมเขาต่อไปเรื่อย เมื่อเขาได้วันนี้ พรุ่งนี้เขาจะเอาอีกไม่จบไม่สิ้นเสียที”

อดีตข้าราชการครูรายเดิม บอกว่า อยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เร่งทำอะไรสักอยากให้เด็ดขาดกับพวกที่ก่อความไม่สงบให้หมดไปเสียที ชาวบ้านทุกคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันนี้ต้องการมากที่สุดคือความปลอดภัยในชีวิต หากรัฐเร่งแก้ไขในเรื่องความปลอดภัยได้ก่อน ปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าเรื่อง เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา มันจะกลับเข้ามาสู่ในทางที่ดีขึ้นเอง โดยไม่ต้องไปทำอะไรมันให้ยุ่งยาก

แม้ว่าการบอกเล่าจากปากชาวบ้านในชุมชนนิคมกือลองถึงสิ่งที่เกิดขึ้น จะเป็นเพียงความรู้สึกของกลุ่มชาวไทยพุทธกลุ่มเล็กกลุ่มในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูด รวมไปถึงความต้องการที่จะได้มา ซึ่งความปลอดภัยและสงบสุขที่พวกเขาเคยมีอดีต คงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มันเป็นสิ่งคนทั้งสามจังหวัดไม่ว่าคนไทยพุทธและมุสลิม ถามหาอยู่ตลอดเวลา

กำลังโหลดความคิดเห็น