สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ภายหลังการเอ่ย “ผมขอโทษ” จากปาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีต่อกรณีเหตุการณ์ตากใบและผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากกลไกการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเมื่อวานนี้ (2 พฤศจิกายน) นับว่าเป็นการ “ส่งสัญญาณ” ที่น่าสนใจ ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะส่งผลต่อการแก้ปัญหาภาคใต้ในระยะยาว โดยนักวิชาการ ภาคประชาชน หรือข้ามฟากไปที่นักวิชาการมาเลเซีย ต่างแสดงความคิดเห็นว่า นี่คือการเปิด “เกมรุก” ทางการเมือง เพื่อทลายความคิดต่อต้านอำนาจรัฐของฝ่ายแนวร่วม พร้อมกับเปิดพื้นที่การใช้สันติวิธีและความสมานฉันท์เป็นทางนำในการแก้ปัญหา
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาชุมชน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(มอ.ปัตตานี) วิเคราะห์ให้ฟังว่า “คำขอโทษ” ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อวานนี้ เป็น “สัญลักษณ์” ทางการเมืองในแง่ที่รัฐบาลชุดนี้ต่างจากรัฐบาลชุดที่แล้ว เกี่ยวกับแนวคิดแก้ปัญหาภาคใต้ ที่เป็นลักษณะของความประณีประนอม การสมานฉันท์ ชี้ให้เห็นความแตกต่างกับรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร
“เป็นลักษณะของการรุกทางการเมืองหลังการยึดอำนาจ จะเห็นว่าช่วงหลังจากยึดอำนาจใหม่ๆ เหตุการณ์ภาคใต้ค่อนข้างสร่างซาลง คล้ายเป็นการรอดูท่าทีว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายการแก้ปัญหาไปในทิศทางใด แต่หลังจากนั้นในช่วงปลายเดือนตุลาคมเหตุการณ์ก็กลับมารุนแรงอีกครั้ง สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองส่งผลต่อเหตุรุนแรงในภาคใต้ และการที่ พล.อ.สุรยุทธ์ ได้เอ่ยคำขอโทษ ก็นับว่าเป็นการรุกคืบอีกก้าวหนึ่ง น่าจะส่งผลต่อการแก้ปัญหาไม่น้อย” ผศ.ดร.ศรีสมภพ แสดงความคิดเห็น
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ ยังกล่าวให้ฟังเพิ่มเติมว่า นโยบายในเชิงสัญลักษณ์ ก็ควรจะเป็นนโยบายที่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง สัญลักษณ์คือท่าทีของผู้นำรัฐบาล ซึ่งสามารถสร้างความหวังได้ในระดับหนึ่ง สมัย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตรเป็นผู้นำรัฐบาลไม่เคยยอมรับความผิดพลาดของตนเองเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่ว่ากรณีกรือเซะหรือเหตุการณ์ตากใบจุดนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจ แต่สิ่งที่จะมาตัดสินและเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดคือการนำท่าทีเหล่านั้นมาปฎิบัติจริง ซึ่งต้องดูกันในระยะยาว
“หากทำไม่ได้ก็น่าเป็นห่วง ในแง่ของความคาดหวัง เมื่อประกาศออกมาแล้วก็ต้องลงมือทำ ประสบการณ์ที่เห็นชัดจากรัฐบาลชุดที่แล้วคือ การตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) แต่เมื่อตั้งเขามาทำงานแล้ว แต่ไม่นำเอารายงานที่เขาเสนอไปใช้ เป็นการทลายความคาดคาดหวังของประชาชนอย่างไม่มีชิ้นดี ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ต้องนำเอาบทเรียนนั้นมาใช้” นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี กล่าว
ด้านนายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ครูจังหวัดยะลา ออกมากระตุ้นเตือนว่ายังต้องใช้เวลาพิสูจน์การทำงานของนายกรัฐมนตรี ทั้งในแง่ของนโยบายและการปฏิบัติจริง ซึ่งไม่ทราบว่า คำขอโทษนั้นออกมาจากฐานคิดใดของ พล.อ.สุรยุทธ์ อาจมาจากปฏิภาณไหวพริบการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือมาจากความเข้าใจ
ที่ปรึกษาสมาพันธ์ครูจังหวัดยะลากล่าวต่อว่าคำขอโทษของนายกรัฐมนตรี เป็นการส่งสัญาณออกมา 2 ประการคือ 1.เป็นการเริ่มต้นการทำงานสมานฉันท์กันอย่างจริงจัง คำขอโทษจากปากนายกฯ เป็นหลักฐานชัดเจนว่า ที่ผ่านมากลไกของรัฐมีความผิดพลาด และขณะนี้รัฐบาลต้องออกมายอมรับผิดแทน เพื่อเปิดช่องทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องต่อไป
2.หากมองในเชิงยุทธวิธีทางการเมือง นี่คือการเปิดเกมรุกทางการเมือง เป็นการพยายามสลายความคิดทางการเมืองของแนวร่วมต่างๆ ความอึดอัดคับข้องใจที่เป็นบ่อเกิดของความรุนแรงต่างๆ ถูกคลี่คลายลง
“มีโต๊ะอิหม่ามที่ปัตตานีหลายคนบอกผมว่า ในทางศาสนาอิสลาม เมื่อมีการขอโทษ คนมุสลิมต้องให้อภัย ผมว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่สุด ที่เราจะใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา” นายประสิทธิ์เผย
นายมาหะหมัดอามีน ซาริคาน เลขาชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า หลังจากการเดินทางลงพบประประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี หลายๆเริ่มมีความหวังกับนายกคนใหม่ ท่านเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยตัวท่านเป็นผู้รับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นเองจากประชาชนโดยตรง ทำให้เห็นถึงสัญญาณดีในการตั้งใจต่อแก้ไขปัญหา ความจริงใจและการพยายามทำความเข้าใจปัญหา รวมไปถึงการไม่ละเลยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เหมือนรัฐบาลที่ผ่านๆมา
สิ่งหนึ่งที่ท่านได้กล่าวและสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเป็นอย่างมาก ในเรื่องของการขอโทษกับสิ่งที่ประชาชนได้รับจากการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลที่ผ่านมา ร่วมไปถึงการรับปากที่จะดำเนินการแก้ปัญหาด้วยความจริงใจและให้ความเป็นธรรมต่อทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประชาชนที่มาทุกคนเริ่มรู้สึกถึงความจริงใจที่เกิดขึ้น จะนำไปสู่ความเชื่อมันและเชื่อใจการทำหน้าที่แก้ปัญหาของท่าน เมื่อประชาชนมั่นใจและศรัทธาต่อผู้นำและรัฐบาล การแก้ปัญหาในพื้นที่ น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างน้อยๆท่านรับรู้จากปากชาวบ้านโดยตรงแล้วว่า ต้นต่อของปัญหาหลักเกิดขึ้นจากความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับ
เลขาชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดนราธิวาส กล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหาของพื้นที่ในวันนี้ ต้องเน้นที่การพัฒนาคน อย่างไปเน้นในส่วนของโครงสร้างมากเกินไป รู้สาเหตุก็ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ นำคนในพื้นที่ที่รู้ปัญหาเข้ามาเป็นคนแก้ไขปัญหา อย่างการนำ ศอ.บต.กลับมา เป็นไปได้ ไม่ใช่เพียงมหาดไทยเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว ต้องให้ทางสำนักนายกรัฐมนตรีเข้ามากำกับดูแลโดยตรง มีปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข ก็สามารถนำเข้าที่ประชุม ครม.ได้ทันที
ผมเชื่อว่าในวันนี้ฟ้าเริ่มสว่างหลังจากที่มีเฆมบังมานาน ประชาชนมีความศรัทธา และเชื่อมั่นในความตั้งใจจริงที่มีต่อการแก้ไขปัญหา ของนายกรัฐมนตรี ทุกอย่างก็น่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น หากแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ อย่างที่รัฐบาลที่ผ่านมาทำ คือเอาเงินมาแก้เหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา ขนเงินมาเท่าไรก็หมด ปัญหาก็แก้ไม่ได้
นายศิริชัย ปิติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ส่วนตัวคิดว่า จากที่เข้าร่วมประชุมเมื่อวานนี้ เป็นการเริ่มปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่น่าจะดีขึ้น เรียกความเชื่อมั่นใจและความศรัทธาจากประชาชนที่มีต่อท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้ได้มาก ทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่ความเชื่อมั่น ส่วนการดำเนินการคงต้องเปิดโอกาสให้ได้เริ่มทำงาน จึงจะสามารถบอกได้อย่างเต็มที่ว่า เป็นอย่างไร ส่วนนี้คงต้องติดตามรอดูกันอีกที อย่างน้อยๆ ทุกคนเริ่มมีความหวังกับการแก้ปัญหาของสามจังหวัดชายแดนใต้มากขึ้น
“ในเรื่องของนโยบายต่างๆ จะมีการปรับเปลี่ยน เพราะรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นนโยบายเดิมแก้ปัญหาไม่ได้ ก็ต้องใช้นโยบายใหม่เข้ามาแก้ปัญหา ในส่วนนี้ก็เช่นเดียวกัน คงบอกไม่ได้ว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป ทุกอย่างต้องติดตามต้องรอดู การทำงานของรัฐบาลอีกครั้ง” ประธานหอการค้า จ.ปัตตานีกล่าว
ด้าน นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้ประสานงานคณะทำงานเพื่อสันติภาพ บอกว่าหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอำนาจในการจัดการแก้ปัญหา อย่างกรณีคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ควรประสานงานกับทีมทนาย หรือกับครอบครัว หรือปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจจนละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่นการอุ้มฆ่า คุมขัง หรือฟ้องร้องคดีโดยไม่มีหลักฐาน ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ปรากฏอยู่จริงและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ฉะนั้นวิธีแก้ปัญหาควรจะเริ่มที่ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจสูงสุด เช่นสั่งการให้ชัดเจนถึงแนวทางการทำงานให้กับผู้ปฏิบัติหรือผู้ถูกปฏิบัติ เพื่อให้รับทราบและเข้าใจกันทั่วถึง เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติอย่างถูกต้องและไม่ละเมิดสิทธิของบุคคล และชาวบ้านก็ไม่อยู่ในความหวาดกลัวและหวาดระแวงอีกต่อไป”
นางฮามีดะห์ จาราแว ภรรยา นายอิลยาส อาหวัง อดีตนักศึกษาซึ่งถูกจับเมื่อ 2 ปีที่แล้ว กล่าวว่า สิ่งแรกที่รัฐบาลต้องทำในขณะนี้คือ “ซื้อใจ” ประชาชนให้ได้ โดยวิธีการ“ล้างไพ่”พิจารณาถอนฟ้องคนที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงตั้งแต่ยุค พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เพราะประชาชนที่อยู่ในกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้พวกเขาเข้าไปอยู่ในขบวนการหรือเป็นศัตรูไปเลย ซึ่งคนเหล่านี้รวมทั้งญาติพี่น้องคือมวลชนที่สำคัญมาก สามารถกลับมาพัฒนาสังคมบ้านเมืองได้ และพวกเขาก็ต้องการให้ครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา และถ้าทำได้ก็เป็นของขวัญชิ้นสำคัญเนื่องในวันอีด (เฉลิมฉลองของมุสลิม) เป็นการซื้อใจประชาชนได้มากทีเดียว
ด้านนักวิชาการจากประเทศมาเลเซียก็ให้ความสนใจต่อคำขอโทษของนายกรัฐมนตรีไม่น้อย รวมทั้งกรณีการรื้อฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นใหม่
ศ.ดร.นิอันวา นิมะมุด ผอ.สถาบันวิจัยแห่งชาติมาเลเซีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย บอกว่าการเริ่มต้นนโยบายการแก้ปัญหาของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ คำพูด “ผมขอโทษ” ของนายกฯ พล.อ. สุรยุทธ์ เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับคน 3 จังหวัดเพราะเป็นการแสดงความจริงใจของผู้นำประเทศ ต่อความผิดพลาดในนโยบายการแก้ปัญหาที่ผ่านมา รวมทั้งการแต่งตั้ง “นายธีระ มินทราศักดิ์” เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาซึ่งเป็นชาวมุสลิม เพราะหลังจากที่ปัตตานีอยู่ภายใต้อำนาจการบริหารการปกครองของไทย ตั้งแต่ ค.ศ.1909 นั้น นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่มีคนมุสลิมเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
“นี่คือยุทธศาสตร์อย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาภาคใต้ของรัฐบาลนี้ และถ้าจะให้สถานการณ์คลี่คลายในทางที่ดีมากกว่านี้ จะต้องนำคนที่กระทำผิดในเหตุการณ์ตากใบมาลงโทษ” นักวิชาการจากสถาบันวิจัยแหง่ชาติมาเลเซียกล่าว
เช่นเดียวกับดาโต๊ะชารีล เอสเค.อับดุลเลาะห์ กงสุลไทยกิตติมศักดิ์ ประจำเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซียให้สัมภาษณ์ว่าการฟื้นคืน ศอ.บต. ของคณะรัฐบาลชุดนี้ เชื่อว่าจะลดความรุนแรงได้ เนื่องจากการยุบ ศอ.บต. ที่ผ่านมา ประชาชนไม่มีที่พึ่ง เวลามีเรี่องไม่รู้จะไปร้องเรียนกับใคร จึงใช้ความรุนแรงเป็นทางออก ดังนั้นหลังจากนี้ เขาเชื่อว่ากลุ่มปฏิบัติการ หรือกลุ่มติดอาวุธ ทั้งหลาย จะให้ความร่วมมือกับรัฐมากขึ้น
“ผมเชื่อว่า การมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นคนมุสลิม ใน 3 จังหวัด ก็เป็นอีกทางหนึ่งเช่นเดียวกับการตั้ง ศอ.บต. ที่จะช่วยยุติความรุนแรงได้” กงสุลไทยกิตติมศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย