ยะลา - ชาวเบตงคนหนึ่งเข้าร้องกรรมการสภาทนายความ ภาค 9 จังหวัดยะลา ถูกแก๊งต้มตุ๋นหลอกขายปืนมือสองผิดกฎหมาย แต่หลงเชื่อ เนื่องจากเห็นเอกสารต่างๆ เหมือนจะเป็นของจริง ท้ายที่สุดตรวจสอบกับทางการพบเป็นเท็จ เชื่อว่า มีอีกหลายคนที่ถูกต้มจากแก๊งนี้ที่อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย และโอกาสที่เกิดเหตุไม่สงบทำให้ชาวบ้านล้วนต้องการซื้อมาป้องกันตัว
นาย ส.อายุ 36 ปี ภูมิลำเนาอยู่ในตลาดสดเทศบาลนครยะลา (ขอปกปิดนามจริงและที่อยู่) ได้เข้าร้องขอความเป็นธรรมต่อ นายวรเกียรติ ชัยชนะ กรรมการสภาทนายความภาค 9 จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2549 เวลา 10.00 น.ว่า เมื่อปลายปี 2548 ได้มีเพื่อนๆ คนในท้องถิ่นเดียวกันมาชักชวนให้ซื้ออาวุธปืนมือสองโดยเขาอ้างว่าเป็นปืนสภาพดีเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ราคาไม่แพง ส่วนเรื่องการขออนุญาตจัดทำเอกสารตามขั้นตอนนั้น ผู้ขายจัดการทำให้เรียบร้อย พร้อมกับนำแค็ตตาล็อกปืนยี่ห้อและชนิดต่างๆ มาให้ชมส่วนใหญ่เป็นปืนพก มีทั้งออโตเมติก และรีวอลเวอร์ (ลูกโม่)
ตนจึงได้ได้ปรึกษากับภรรยาแล้วเห็นว่า ในขณะที่บ้านเมืองเกิดความไม่สงบเกือบทุกพื้นที่ ไปไหนมาไหนอันตรายอาจเกิดขึ้น ควรที่จะมีไว้ป้องกันตัวและทรัพย์สิน ประกอบกับทางราชการก็เปิดช่องให้ทุกคนมีสิทธิป้องกันตนเอง และเลือกเอา .38 มม.ลูกโม่ ยี่ห้อสมิท ราคา 39,000 บาท เมื่อตกลงแล้ว เพื่อนที่เป็นนายหน้าก็จัดการขอสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน เอกสารประกอบการ ฯลฯ ตามระเบียบในการขอ ป.1
จากนั้นไม่กี่วันก็ได้ ป.3 มา ใบอนุญาตให้ซื้อปืนได้ โดยในคำขอนั้นระบุเป็นการซื้อโอนจากผู้มีชื่อใน ใบ ป.4 อยู่แล้ว ใบ ป.4 เป็นชื่อเจ้าของปืนมีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ มีเลขกำกับตัวปืน มีนายทะเบียนประทับตราลงลายมือตำแหน่งทุกอย่างเรียบร้อย เมื่อเห็นว่าถูกต้องนายหน้าคนเดียวกันก็ได้บอก ให้ใช้วิธีส่งปืนมาทางพัสดุอีเอ็มเอสแบบพัสดุเก็บเงินปลายทาง (พกง.)
หลังจากได้ชำระเงินไปและรับปืนมาแล้ว จากการตรวจสอบสภาพปืนจัดว่าเกือบจะใหม่ ประมาณ 80-85 เปอร์เซ็นต์
จนกระทั่งวันที่ 14 ต.ค.2549 ได้รับ จม.ลงทะเบียนจากฝ่ายทะเบียนอำเภอเมืองยะลา ว่า ให้นำปืนไปตรวจสอบกับนายทะเบียนที่อำเภออีกครั้ง เมื่อตนนำปืนไป ทางเจ้าหน้าที่ที่จำชื่อได้ คือ นายวิทยา หนูนวล ปลัดอำเภออาวุโส ได้แจ้งให้ตนทราบว่า จากการตวจสอบเอกสาร ป.4 ที่ทางอำเภอเมืองส่งเอกสารเกี่ยวกับ ป.4 ที่มีจำนวนมากไปตรวจสอบ ที่มหาดไทย พบว่า ปืนกระบอกที่มีชื่อใน ป.4 นั้น ไม่ถูกต้องและสมบูรณ์ จึงถือว่าปืนกระบอกนี้ เป็นปืนเถื่อน อาจมีการรวมทะเบียน เพราะชื่อใน ป.4 ไม่ตรงกันต้นฉบับบ้าง ไม่ชื่อบ้าง และยังทราบอีกด้วยว่า ป.4 บางใบมีชื่อไม่เหมือนกันเลยทั้งๆ ที่เป็นปืนระบุเลขตัวปืนเดียวกัน
หลังปืนถูกยึดไว้แล้ว ทางเจ้าหน้าที่อำเภอได้สอบปากคำไว้ในเรื่องที่มาของปืน การซื้อการขออย่างละเอียด ใน ปค.14 จากนั้นก็ได้สำเนาบันทึกยึดไว้ให้ และให้ตนกลับไป ตนเห็นว่า ตนกำลังกำลังได้รับความเสียหาย และกำลังจะมีภัย หากมีการแจ้งข้อกล่าวหาว่าใช้เอกสารอันเป็นเท็จ โดยที่ตนไม่ได้เป็นผู้กระทำแต่แรก ส่วนผู้ที่เป็นนายหน้านั้น ก็ติดตามตัวไม่ได้ และบางรายที่ยะลาก็ถูกยิงตายไปเมื่อปี 2548 ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องไฟใต้หรือไฟปืนขายที่ใต้กันแน่
จากการติดตามของผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยอย่างไม่เป็นทางการ ของเจ้าหน้าที่อำเภอรายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เปิดเผยว่า เรื่องนี้หากตามตรวจสอบกันให้จริงจัง เชื่อว่า น่าจะเงื่อนงำกลเม็ด กลโกงในการหาเงินเข้ากระเป๋าอย่างง่ายของบุคคลสามฝ่าย
คือ 1.ร้านจำหน่ายปืนบางร้านใน กทม. 2.เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนอาวุธปืนบางกลุ่มบางคน 3.นายหน้า เชื่อว่า แก๊งนี้รู้ล่วงหน้าว่า เดือน ต.ค.2548 มติ ครม.สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีการโอนงานเกี่ยวกับการขอปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนทั้งหมดไปให้มหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบโดย ผู้แทนกรมการปกครอง ชี้แจงว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ต.ค.2547 ได้มีมติเห็นชอบการโอนภารกิจตามกฎหมาย 8 ฉบับ จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงวัฒนธรรม
โดยให้โอนกฎหมาย 6 ฉบับ ให้กระทรวงมหาดไทย ได้แก่ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2890 พระราชบัญญัติ การพนัน พุ.ศ.2478 พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2478 พระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ.2478 พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.2505 และพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2478 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบภารกิจตามกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ ให้กรมการปกครองเป็นส่วนราชการผู้รับผิดชอบการบริหาร และจัดการทั้งระบบ
ดังนั้น เชื่อว่า ก่อนการส่งมอบงานตามมติ ครม.จากฝ่ายทะเบียนปืนไปยังกรมการปกครองมหาดไทยนั้น จะต้องมีแก๊งดังกล่าวกระทำการฉ้อฉล เพราะรู้กฎหมายรู้ช่องโหว่ในเรื่องของการตรวจสอบและขั้นตอนต่างๆ อย่างดี รวมทั้งในเรื่องของการสวมทะเบียน ใบ ป.4 ซ้ำๆ กัน ออกมาจำหน่ายให้กับคนในจังหวัดภาคใต้ ที่มีความต้องการมีและใช้อาวุธปืนในอัตราสูง
สมัยที่อยู่ในอำนาจของ กองทะเบียนตำรวจนั้น การตรวจสอบแต่ละครั้งเกี่ยวกับงานสารบรรณของเอกสารค่อนข้างยุ่งยาก ไม่เหมือนกับระบบของมหาดไทยหลังรับมอบงานมา เพราะมหาดไทยมีการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์จัดทำดัชนีทางทะเบียนต่างๆ รวดเร็วในการค้นหา และภายหลังรับมอบงานมา เมื่อการตรวจเอกสารต้นฉบับ ทางทะเบียนทหาดไทย จึงพบว่า มีการซ้ำซ้อนของ ใบ ป.4 เกิดขึ้น บ้าง ป.4 ปลอมบ้าง ซึ่งหลายฝ่ายสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากต้นทางมากกว่าที่จะเป็นทางมหาดไทย
ข้อสังเกตอีกประการของใบ ป.4 บางฉบับ ที่ตัวเลขรันนิ่ง มีการเขียนข้อความเล็กๆ ต่างหากนอกเหนือข้อความในแบบฟอร์ม ใบ ป.4 อยู่บนขอบกระดาษ ว่า เพื่อความสะดวกในการติดต่อในกองทะเบียน....... กรุณาติดต่อตามรหัสนี้ จึงเชื่อว่า รหัสตามที่ว่า น่าจะเป็นโค้ดที่รู้กันในกลุ่มก่อการฉ้อฉลนี้มากกว่าจะเป็นเรื่องของการอำนวยความสะดวกให้กับผู้มีชื่อในเอกสาร เพราะบางรายก็ไม่มีข้อความข้างต้นนี้
แหล่งข่าวคนเดียวกัน เชื่อว่า หากพบความผิดปกติจากการตรวจสอบใบ ป.4 มาจากมหาดไทยจริงๆ เชื่อว่า ใน 3 จังหวัดภาคใต้ มีเหยื่อของ แก๊ง ป.4 ปลอมนี้ต้องเป็นหลักพัน ไม่เพียงแค่หลักร้อย เฉพาะอำเภอเมืองยะลาอำเภอเดียวก็ 300 รายเข้าไปแล้ว คาดว่าแก๊งฉ้อโกงประชาชนนี้มีรายได้จากการฉ้อฉล หลายสิบล้านบาทกันเลยทีเดียว และต้องทำเป็นขบวนการใหญ่
นายณฐพล วิเชียรเพริศ รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ได้รับรายงานแล้ว เป็นความจริงที่มีการตรวจพบ ป.4 ปลอม ในขั้นตอนนั้นจะต้องกระทำเช่นนี้ แต่ผู้เป็นเจ้าของปืนนั้นไม่ต้องห่วง เขาสุจริตขาดเจตนา แต่จะต้องให้ข้อมูลกับทางการว่าซื้อจากใคร ที่ไหน อย่างไร ตนรับรองว่าจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อลดขั้นตอนและขจัดเงื่อนไขเงื่อนงำต่างๆ ให้หมดไปอย่างเต็มที่
โดยเฉพาะงานบริการประชาชน เรื่องอาวุธปืนนั้น เมื่อพบว่าผิดทางปฏิบัติก็ต้องเรียกปืนมาตรวจสอบ ผลทางกฎหมายนั้นผมจะติดตามเรื่องนี้เองให้ประชาชนที่ถูกฉ้อโกงไม่ต้องกลัว ไม่มีเจตนา และเขาสุจริตผมจะดูให้ มุมกลับกันจะต้องตามนายหน้ามหาภัยเหล่านี้มารับผิดชอบให้ได้ ข่าวคืบหน้าจะนำมารายงานให้ทราบต่อไป