xs
xsm
sm
md
lg

นำร่องสอน 2 ภาษา 3 จชต. ดึงชุมชนทำหลักสูตรสมานฉันท์โรงเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รวยริน เพ็ชรสลับแก้ว
สมศักดิ์ หุ่นงาม

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


“ซือกอเลาะของเราน่าอยู่ คุณครูบาเอ๊ะทุกคน บูเดาะก็ไม่ซุกซน กีตอทุกคนชอบมาโรงเรียน ชอบมาชอบมาโรงเรียน” เพลงโรงเรียนของเราน่าอยู่แบบ 2 ภาษา สำหรับชั้นปฐมวัยปีที่ 1 แว่วมาจากหน้าห้องประชุมโดยครูสาวจากโรงเรียนแห่งหนึ่งเป็นผู้นำเสนอพร้อมเนื้อเพลงประกอบ

สื่อการสอนหลายประเภทถูกคิดค้นขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับระบบ 2 ภาษา “ไทย-มลายูถิ่น” สีหน้าของอาจารย์แต่ละคนดูมีความสุขและสนุกกับการนำประสบการณ์ที่ใช้สอนในโรงเรียนของตนมาเล่าสู่กันฟัง ในวันอบรมประจำเดือนของอาจารย์ผู้สอนระบบ 2 ภาษาของโรงเรียนนำร่องทั้ง 12 โรงเรียนใน 3 จังหวัด นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

เสียงปรบมือพร้อมเสียงหัวเราะดังก้องห้องประชุม คุณครูคนต่อไปเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการสอนมานำเสนอ มีทั้งตุ๊กตากระดาษ ใช้ประกอบการร้องเพลง ท่าทางประกอบเพลงที่ใช้สอนแต่ละเรื่องราวแตกต่างกันไป ทั้งหมดขึ้นอยู่กับครูที่ต้องคิดค้นเครื่องมือเพื่อสื่อให้เด็กนักเรียนเข้าใจเนื้อหาในแต่ละวิชา

“อาบัส สาเหล็ม” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกียรติ อ.รามัน จ.ยะลา 1 ใน 12 โรงเรียนนำร่อง เล่าให้ฟังขณะที่ครูนำเสนอแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างสนุกสนานว่า การเรียนการสอนในแต่ละพื้นที่นั้นแตกต่างกัน โดยมีหลักสูตรเป็นตัวกำหนดแนวทาง

“แต่เวลาสอนจริงๆ จะทำให้เหมือนกันทุกโรงเรียนไม่ได้ เพราะเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานแตกต่างกัน บางโรงเรียนอยู่ในตัวเมือง เด็กจะเรียนรู้ได้เร็วกว่า ส่วนโรงเรียนที่อยู่ห่างเมืองเด็กนักเรียนจะเข้าใจค่อนข้างช้า เพราะฉะนั้นครูแต่ละคนต้องใช้วิจารณญาณในการสอน ถ้ายึดตามตัวหลักสูตร เด็กก็จะไม่เข้าใจที่ครูสอนเลย”

เขาบอกว่า หลังจากที่โรงเรียนบ้านเกียรติเปิดสอนมาเกือบเดือน เด็กนักเรียนมีพัฒนาการที่ชัดเจนมาก เด็กไม่ตื่นครู ไม่กลัวโรงเรียน เวลาเรียนเด็กๆ มีความสุข สนุกกับการสอนวิธีต่างๆ ของครู โดยครูจะไม่บังคับเด็ก ทำให้เด็กได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ บางคนอยากร้องเพลง บางคนอยากวาดรูป บางคนไม่อยากนอน บางคนไม่อยากดื่มนม เมื่อเด็กรู้สึกว่าสนุกเด็กและไม่ถูกฝืนใจให้ทำ เด็กก็พร้อมที่จะเรียนหนังสือ

“วิธีการสอนในช่วงเริ่มแรก จะใช้ภาษามาลายูถิ่นล้วนๆ เนื่องจากอยากให้เด็กมีความรู้สึกเหมือนอยู่กับคนคุ้นเคย เหมือนอยู่กับพ่อกับแม่ โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน” ผอ.โรงเรียนบ้านเกียรติอ้างข้อมูลจากงานวิจัยของต่างประเทศฉบับหนึ่งที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับการเรียน 2 ภาษา

ทั้งนี้ ข้อมูลงานวิจัยฯ พบว่า เด็กที่เรียนโดยใช้ภาษาพ่อแม่ในช่วงแรก เด็กเรียนช้าและผลการเรียนไม่ค่อยดีในช่วงเริ่มต้น แต่จะดีขึ้นระยะหลัง ส่วนเด็กที่เรียนภาษาอื่นซึ่งไม่ใช่ภาษาพ่อแม่ในช่วงแรก เด็กจะเรียนได้เร็วมากแต่จะช้าลงในระยะถัดมา ด้วยเหตุนี้ในช่วง 1 เดือนแรกจึงใช้ภาษามาลายูสอนอย่างเดียว

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ คือ ครูผู้สอนที่เป็นคนไทยพุทธจะพูดภาษามาลายูได้บางคำเท่านั้น ทางโรงเรียนจึงแก้ปัญหาด้วยการเชิญผู้ปกครองเด็กมาช่วยสอนคู่กับครูประจำชั้นโดยหมุนเวียนสลับกันไป ผลที่ตามมานอกจากจะทำให้เด็กอยากเรียนหนังสือแล้ว ยังส่งผลให้ผู้ปกครองกับโรงเรียนมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกันมากขึ้น

“และที่สำคัญชาวบ้านมีความภาคภูมิใจที่ภาษาของตัวเองจะไม่สูญหาย ชาวบ้านรู้ว่าตัวเองมีความสำคัญ ไม่เหมือนเมื่อก่อน ชาวบ้านก็คือชาวบ้านธรรมดา ไม่มีความสำคัญอะไร แต่พอเขาได้มาช่วยสอนเด็กนักเรียน เขารู้สึกว่าคุณค่าในตัวเขาเองเพิ่มมากขึ้น คนที่มาช่วยสอนก็ไม่มีค่าตอบแทนให้ เพราะเขามาด้วยใจ เพื่อลูกหลานเขาเอง ชาวบ้านไว้ใจครูมากขึ้น มีปัญหาก็มาปรึกษาครู มีเรื่องที่อะไรก็จะมาเล่าสู่กันฟัง”ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกียรติกล่าว

นอกจากนี้ทางเขตการศึกษาก็ไม่ได้ละเลยปัญหาเรื่องภาษาของครู ยังมีการอบรมภาษาให้ครูอยู่ตลอด ส่วนครูที่พูดภาษาไทยไม่ชัดในระดับปฐมวัยไม่มีปัญหาต่อการเรียนการสอน เพราะภาษาไทยจะเริ่มเน้นหนักในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยให้ครูที่มีความพร้อมทางด้านภาษาไทยเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง

“ประดิษฐ์ ระสิตานนท์” ผู้อำนวยการสำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ 12 ให้ความเห็นว่า โครงการดังกล่าวเป็นการปรับทัศนคติของของเด็ก โดยใช้หลักเรื่องของชาติพันธุ์ ให้เด็กภูมิใจในสิ่งที่เขามีอยู่และหากระบวนการเชื่อมโยงให้เด็กเข้าใจ โดยคิดว่า ทำอย่างไรให้พูดมลายูถิ่นและเชื่อมเป็นภาษาไทยได้ ซึ่งในระดับปฐมวัยจะเน้นที่การพูดและการฟัง โดยครูจะต้องจัดประสบการณ์ในการสอนว่า เมื่อไหร่ควรที่จะสอดแทรกภาษาไทย โดยดูความพร้อมของเด็กเป็นรายบุคคล

สำหรับครูผู้สอนจะเน้นที่กระบวนการ การทำสื่อต่างๆ เพลง พจนานุกรม ซึ่งทางเขตตรวจราชการฯ จะเป็นผู้ทำให้หมด แต่ถ้าครูมีความมั่นใจที่เริ่มสอนก็สามารถทำเองได้ และการปรับใช้ระบบ 2 ภาษาต้องให้มีความสอดคล้องกับพื้นที่ รวมไปถึงการลงมือปฏิบัติต้องนำวิธีทางเทคนิคมาใส่ให้เหมาะสมกับเด็ก

เขากล่าวว่า การเชื่อมโยงรูปแบบที่เหมาะสมของหลักสูตร 2 ภาษากับคนในท้องถิ่น วิถีชีวิตวัฒนธรรมจะนำไปสู่การพัฒนาหลายด้าน เด็กจะมีความสามารถที่ไม่แพ้คนอื่นๆ ทั้งในเรื่องการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น การทำงานร่วมกับผู้อื่น ทันโลกทันเหตุการณ์ และสามารถพัฒนาบ้านเกิดให้เจริญ ก้าวหน้าได้

------------------------------------------

รู้จักโครงการพัฒนาการเรียนรู้ระบบสองภาษาแบบประยุกต์ ไทย-มลายู

ปัญหาเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องที่หาอ่านได้จากข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ โดยเฉพาะในช่วง ระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งยังสร้างผลกระทบกันทั่วทั้งสังคม จึงไม่แปลกที่หลายฝ่ายพยายามหาแนวทางแก้ปัญหา

กระทรวงศึกษาธิการก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่พยายามแสวงหามาตรการแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกันเพราะใช้ภาษาต่างกัน

ทั้งนี้กระทรวงฯ พยายามหาวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการสื่อสารของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น เน้นไปที่ระบบการศึกษาของ 3 จังหวัด เนื่องจากสถานศึกษา หรือโรงเรียนเป็นแหล่งอบรมสั่งสอน ให้ความรู้ แก่เด็กๆและเยาวชน จึงควรจะสร้างความเข้าใจกับเด็กตั้งแต่เล็กๆ

อย่างไรก็ดี การจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีรูปแบบที่หลากหลาย มีการจัดในสถานศึกษาหลายประเภท ได้แก่ โรงเรียนของรัฐบาล โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันศึกษาปอเนาะ ศูนย์ฝึกอบรมจริยธรรมและศาสนาอิสลามประจำมัสยิด โรงเรียนปริยัติธรรม สำนักศาสนศึกษา สำนักเรียน และศูนย์พุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งมีผู้ได้รับบริการการศึกษาในระบบโรงเรียนทุกสังกัด จำนวน 500,000 คน และผู้รับบริการการศึกษานอกระบบโรงเรียน อีกประมาณ 500,000 คน

ด้วยรูปแบบการจัดการศึกษาที่หลากหลาย บางด้านยังคงมีความซับซ้อน กระบวนการจัดการศึกษาบางด้านขาดประสิทธิภาพ ขาดความยืดหยุ่น ขาดความเชื่อมโยง การจัดการศึกษาในโรงเรียนของรัฐไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และความต้องการของประชาชน ส่งผลให้เด็กนักเรียนบางส่วนขาดการเรียนรู้ร่วมกัน

ทั้งนี้ภายใต้แนวคิดการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้ ต้องยึดหลักการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความต้องการของท้องถิ่นและประชาชนที่มีลักษณะเฉพาะบนพื้นฐานของหลักศาสนา ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โครงการพัฒนา การเรียนรู้ระบบสองภาษาแบบประยุกต์ ไทย-มลายู ในสถานศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในโรงเรียนประถมศึกษา หลักสูตรสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับท้องถิ่น จึงเกิดขึ้น

“มันนี ผดุงทักษิณ” นักวิชาการศึกษา 8 สำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ 12 ยะลา ในฐานะเลขานุการคณะทำงานฯ กล่าวว่า โครงการนี้ทำขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้ปรับสภาพตัวเอง ให้เข้ากับที่โรงเรียนได้ เพราะเป็นภาษาที่พ่อแม่เขาใช้ที่บ้าน เนื่องจากเด็กที่เข้าเรียนใหม่ๆ ไม่คุ้นเคยกับภาษาไทยที่ใช้สอน เพราะวิถีชีวิตของเขาให้ภาษามาลายูถิ่นในการสื่อสาร เพื่อให้เด็กไม่กลัวความแตกต่างที่เขาเจอ เราจึงต้องใช้ภาษามาลายูในการเรียนการสอนด้วย

โดยเริ่มใช้งานเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 49 ในชั้นปฐมวัยปีที่ 1และปีที่ 2 ซึ่งมีโรงเรียนนำร่องทั้งหมด 12 โรงเรียน จังหวัดละ 4 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านเกียรติ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา โรงเรียนบ้านตาสา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตรฯ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา โรงเรียนบาโงยซิแน อำเภอยะหา จังหวัดยะลา

โรงเรียนบ้านรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โรงเรียนยะหริ่ง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี โรงเรียนบ้านเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โรงเรียนบ้านวังกว้าง อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี

โรงเรียนบ้านบาโงปูโละ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส โรงเรียนบ้านกูเล็ง อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส โรงเรียนบ้านโต๊ะเวาะ อำเภอสุไหงโก – ลก จังหวัดนราธิวาส โรงเรียนบ้านดุซงยอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส

ส่วนการคัดเลือกโรงเรียนนำร่องของโครงการนั้น แต่ละเขตพื้นที่การศึกษา จะเลือกโรงเรียนที่อยู่ใกล้เมือง 1 โรงเรียน อยู่ไกลเมือง 1 โรงเรียน ส่วนใหญ่นักเรียนแต่ละโรงเรียนจะเป็นมุสลิม

มันนี กล่าวว่า ที่จริงแล้วโครงการนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีโครงการทั้งหมด 17 โครงการ ใช้งบประมาณ 126 ล้านบาท

เธอกล่าวว่าโครงการพัฒนาการเรียนรู้ระบบสองภาษาแบบประยุกต์ ไทย-มลายู ในสถานศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างหลักสูตร เพราะการเปลี่ยนโครงสร้างหลักสูตรต้องใช้เวลานาน แต่จะเป็นการปรับวิธีการสอนแทน ซึ่งวิธีการสอนดังกล่าว ก็เป็นวิธีที่สอนกันอยู่ตามปกติ เพียงแต่วันนี้ การสอนดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็นนโยบาย เป็นระบบ นำมาใช้งานง่าย และจริงจังมากขึ้น

“กว่าจะออกมาเป็นแผนการสอน ก็ต้องเข้าไปสอบถามความคิดเห็นผู้ปกครองของเด็ก ซึ่งผู้ปกครองก็เห็นด้วย เพราะเด็กจะได้มีความรู้สึกว่าอยากมาเรียนหนังสือ กว่าจะมาเป็นแผนการสอนที่ใช้งานได้จริงใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เวลาสอนก็จะทำการวิจัยควบคู่กันไป เพื่อประเมินผลว่า แผนการสอนดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด แก้ปัญหาได้ในระดับไหน ถ้าหากว่าแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย ก็คงตกยกเลิกโครงการไป แล้วต้องหารือกันใหม่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป” นางมันนี กล่าว

หากแผนการสอนดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาได้ และประสบความสำเร็จ บรรลุวัตถุประสงค์ ในอนาคตจะมีการขยายเพิ่มไปยังโรงเรียนต่างๆ และจะทำการสอนทุกระดับชั้น แต่ตอนนี้เพิ่งเริ่มก็จะเปิดสอนชั้นปฐมวัยก่อน เมื่อเด็กขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ก็จะทำแผนการสอนของชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทำแบบนี้จนเด็กเรียนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

นอกจากแผนการสอนที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีการทำสื่อที่ใช้สื่อสารกับเด็กเพื่อให้เด็กเข้าใจง่ายขึ้น เช่น เพลง อัดลงแผ่นซีดี ที่มีการแปลเป็นภาษามาลายูด้วยผู้เชี่ยวชาญทางภาษา ผสมกับคำที่เป็นภาษาไทย เพื่อกระตุ้นให้เด็กมีความสุขสนุกกับการเรียนหนังสือ

สำหรับแนวทางการจัดการเรียนการสอนสองภาษาไทย-มลายูนั้น เป็นการสร้างความเข้มแข็งในการเรียนรู้ภาษาไทย โดยเน้นในระดับก่อนประถมและเชื่อมต่อชั้น ป.1 ซึ่งเน้นการฟัง การพูดภาษามลายูถิ่นและภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาษามลายูและภาษาไทย โดยจัดเวลาในกลุ่มสาระสังคมศึกษาเพิ่มเติม 1-2 ชั่วโมง ใช้เนื้อหาของอิสลามศึกษาเป็นหลักในการเรียนรู้ เป็นต้น

ทั้งนี้โครงการพัฒนาการเรียนรู้ระบบสองภาษาแบบประยุกต์ ไทย-มลายู ในสถานศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นการพัฒนาบุคลากรโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย คณะทำงานได้จัดทำพจนานุกรมภาษาไทย-มลายู เพื่อให้ครูได้เรียนรู้และใช้ภาษามลายูที่ถูกต้อง เชื่อว่าการสอนสองภาษาดังกล่าวจะช่วยให้นักเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้ภาษาไทยได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาให้ดีขึ้นด้วย ตลอดจนถึงจะทำให้มีการเรียนต่อในระดับสูง และประกอบอาชีพได้เพิ่มขึ้นอีกด้วยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น