ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
หมายเหตุ : “นารี เจริญผลพิริยะ” หนึ่งในกรรมการคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส.และประธานโครงการเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินทางไปเยี่ยมอาการ “สิรินาถ ถาวรสุข” ครูของโรงเรียนบ้านกูจิงรือปะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส หลังจากเกิดเหตุ 3 วัน และได้เป็นสื่อกลางถ่ายทอดความรู้สึกของครูเหยื่อความรุนแรง รวมถึงวิเคราะห์เหตุร้ายที่เกิดขึ้น ผ่านศูนย์ข่าวอิศรา
นารี เจริญผลพิริยะ เล่าให้ฟังว่า หลังเกิดเหตุร้าย ได้เดินทางไปเยี่ยม 1 ใน 2 ครูโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่บาดเจ็บซึ่งนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส ช่วงเวลาประมาณเที่ยง ซึ่งเมื่อไปถึงก็พบว่า มีลูกศิษย์ของครูซึ่งเป็นเด็กในหมู่บ้าน พร้อมพ่อและยายมารอเยี่ยมอยู่นานแล้ว
ครูสิรินาถ ถาวรสุข ซึ่งได้รับบาดเจ็บน้อยกว่าครูจูหลิง ถูกส่งมาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดนราธิวาส ขณะที่ครูจูหลิง ซึ่งมีอาการหนักกว่า ถูกส่งไปรักษาตัวที่สงขลา
นารี ตั้งข้อสังเกตว่า ครอบครัวของเด็กน่าจะมีความผูกพันกับครูมาก เนื่องจากในสถานการณ์เช่นนี้ไม่น่าจะมีชาวบ้านในชุมชนมาเยี่ยมเท่าไหร่ เพราะอาจตกเป็นที่สงสัยได้จากทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้ก่อการ
เธอบอกว่า ทั้ง 3 คน น่าจะมารอไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมไข้ครู เนื่องจากเจ้าหน้าที่กำลังสอบปากคำผู้เจ็บอยู่
“เด็กมารอนานมาก ก็ยังไม่ได้เยี่ยม จนท้ายที่สุดเมื่อสอบปากคำเสร็จ ครูสิรินาถให้คนออกมาบอกว่า ให้เด็กเข้าไปได้ แต่ตำรวจบอกว่า ให้เข้าเฉพาะเด็ก แต่เด็กก็ไม่เข้า ยายของเด็กที่อยู่ข้างนอกก็ร้องไห้ สุดท้ายทั้งหมดก็ต้องกลับไปโดยไม่ได้เยี่ยม”
นารี ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมต่อจากนั้น เล่าให้ฟังว่า ได้ไต่ถามอาการของครูสิรินาถ ซึ่งได้รับบาดเจ็บที่ใบหน้าด้านขวา และมีอาการเจ็บที่หน้าอก โดยเธอบอกว่า หมอเจ้าของไข้เอาใจใส่ดูแลและจัดยาให้แล้ว คาดว่า ประมาณสัปดาห์น่าจะดีขึ้น
“เธอบอกว่า เธอยังโดนน้อย แต่ครูจูหลิงเป็นหนักกว่า เพราะเขาสู้” ครูสิรินาถ บอกกับนารี
เธอบอกกับนารี ว่า รู้สึกเสียใจและสงสารเด็ก เนื่องจากที่โรงเรียนนี้คงไม่มีครูคนไหนกล้าไปสอน อีกทั้งเธอและครูคนอื่นๆ ขอย้ายออกจากพื้นที่ โดยครูสิรินาถขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการ ทำเรื่องบรรจุให้เธอไปเป็นครูที่บ้านเกิด คือ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี
เรื่องครูขอย้ายออกจากพื้นที่นั้น นารี ได้การยืนยันจากเพื่อนครูมุสลิม ซึ่งเดินทางมาเยี่ยมครูสิรินาถ ว่า โรงเรียนคงเปิดไม่ได้ เพราะครูที่โรงเรียนขอย้ายออกกันหมด
เมื่อถูกถามเรื่องคนที่ทำร้ายเธอ และครูจูหลิง เธอบอกว่า คนที่ทำร้ายมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย “แต่ผู้ชายเขาเอาผ้าคลุมหัวปิดบังใบหน้า คิดว่า กลัวครูจะจำได้หรือไม่ก็เป็นคนรู้จัก”
ก่อนกลับ ครูสิรินาถ ยังบอกกับนารี ว่า อยากให้เป็นครั้งสุดท้าย ไม่อยากให้เกิดเรื่องขึ้นอีก และถึงแม้เกิดเรื่องร้ายแรงกับตัวของครู แต่ทั้งตัวเธอและญาติพี่น้อง ไม่มีใครที่มีปัญหาหรือโกรธแค้นคนมุสลิม
นารี ซึ่งเคยเข้าไปบ้านตันหยงลิมอ เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์สังหาร 2 นาวิกโยธินจากค่ายจุฬาภรณ์ เธอยอมรับว่า เมื่อเทียบเหตุที่เกิดขึ้นกูจิงลือปะ กับตันหยงลิมอแล้ว เห็นว่า กรณีตันหยงลิมอมีความซับซ้อนของเหตุการณ์ ทั้งเวลายังทอดยาวกว่า แต่จุดเหมือนของทั้งสองกรณีนั้นคิดว่า ผู้ก่อเหตุไม่ได้มีการเตรียมการ แต่เป็นเหตุสืบเนื่อง เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วในพื้นที่ใกล้เคียง กล่าวคือ ชาวบ้านมีปฏิกิริยากับคนของรัฐเมื่อมีคนในหมู่บ้านถูกจับ ซึ่งในหมู่บ้านก็มีโรงเรียนและมีครูซึ่งเป็นคนของรัฐที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดอยู่
“รัฐน่าจะรู้ว่า พื้นที่แบบนี้มีโอกาสเกิดเหตุจับครูเป็นตัวประกัน เพราะเคยเกิดมาก่อน ทั้งเหตุเช่นนี้สามารถป้องกันได้”
นารี เห็นว่า ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐทำงานแบบแยกส่วน ทั้งไม่มีการเตรียมการรับกับสถาน การณ์วิกฤต ทั้งนี้ ถ้ารัฐเตรียมการล่วงหน้าก่อนการบุกจับ เช่น แจ้งโรงเรียนให้เตรียมรับมือ หรือให้ปิดโรงเรียน กระทั่งส่งกำลังเข้าดูแล เหตุน่าสลดใจเช่นนี้ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น
ในฐานะที่ทำงานด้านการเยียวยาผู้หญิงและเด็กที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากเหตุความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ นารี ยอมรับว่า ภาพที่ออกไปทำให้สังคมเห็นว่า ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในความรุนแรง ซึ่งในมุมสันติวิธี เธอเห็นว่า ทั้งผู้ใช้และผู้ถูกกระทำ ต่างตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งยังส่งผลให้ความรุนแรงขยายตัวออกไปในวงกว้าง
“ผู้หญิงต้องไม่ประมาท ต้องระวังไม่ให้ตกเป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือเข้าไปสนับสนุนความรุนแรง” เธอสรุป
นอกจากนั้น นารี ยังเห็นว่า สังคมก็ไม่ควรมองแบบเหมารวมว่าทั้งหมู่บ้านมีปัญหา เพราะเท่ากับว่า เราผลักให้พวกเขาไปเป็นผู้ร้าย ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่มีทางเลือก
“คนในพื้นที่ไม่มีทางเลือก รัฐไม่สามารถป้องกันเขาได้ ถ้าเขาแสดงตัวปกป้องคนของรัฐ เขาก็อาจจะอยู่ไม่ได้ ซึ่งถ้าถามว่า ทำไมชุมชนถึงไม่ปกป้องครู ก็เพราะชุมชนปกป้องตัวเองไม่ได้”
สำหรับทางออกของปัญหา นารี บอกว่า หนึ่งในรายงาน กอส.ที่เตรียมนำเสนอรัฐบาลใหม่ ก็คือ การจัดตั้งกองพันสันติเสนา เพื่อทำหน้าที่คลี่คลายสถานการณ์ดังเช่นที่เกิดขึ้นที่กูจิงลือปะ โดยหน่วยดังกล่าวต้องเข้าไปในพื้นที่ก่อนหน่วยกำลังจะเข้าไปถึง เพื่อจำกัดวงมิให้ความขัดแย้งขยายตัว หรือลุกลามบานปลาย
อย่างไรก็ดี เฉพาะเจ้าหน้าที่ยังไม่มีหน่วยงานดังกล่าว นารี จึงเห็นว่า “เป็นภาระของคนในพื้นที่ที่จะต้องคิดเรื่องป้องกันความรุนแรง โดยประการสำคัญ คือ ชุมชนต้องไม่ยอมจำนนต่อสถานการณ์” นารีสรุป