xs
xsm
sm
md
lg

จวก กอ.สสส.จชต.แก้ไฟใต้เหลว - จนท.ทำผิดข้อตกลง-กดดันชาวบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อุปนายกสมาคมยุวมุสลิมฯจวก กอ.สสส.จชต.แก้ปัญหาใต้เหลว ทั้งที่ใช้งบมหาศาล เผยประชาชนเดือดร้อนหนักจากการปราบปราม แห่ร้องศูนย์นิติธรรมนับ 100 ราย แฉ จนท.ทำผิดข้อตกลง จับชาวบ้านก่อนแล้วให้นายอำเภอเซ็นทีหลัง ขณะที่การค้นบ้านผู้ต้องหากลับไม่ยอมให้ญาติเข้าไปดู อัดยับ “ใช้วิธีการเหมือนสมัยปราบคอมมิวนิสต์” มีแต่จะเพิ่มเงื่อนไขกดดันชาวบ้าน

นายอับดุลอาซิด ตาดิอิน อุปนายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ผู้จัดการรายวัน” ถึงบทบาทการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อต้นปี 2547 เป็นต้นมา ว่า กอ.สสส.จชต.ซึ่งมีทหารเป็นผู้นำในองค์กรนั้น ยังทำงานได้ไม่เข้าเป้า โดยตัวชี้วัด คือ ชาวบ้านจำนวนมากที่ยังคงได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งๆ ที่หน่วยงานนี้มีการใช้งบประมาณไปจำนวนมหาศาล ทั้งเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองมีการใช้งบประมาณไปเป็นจำนวนมาก แต่กลับให้งบในส่วนที่ภาคประชาชนนำไปบริหารกันเองน้อยมาก

“ข้าราชการมีการเบิกจ่ายเงินกันเยอะ เมื่อมาดูที่ชาวบ้าน พบว่า ชาวบ้านยังไม่พอใจกับการทำงานของ กอ.สสส.จชต.ยิ่งหลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยิ่งสร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านมากยิ่งขึ้น ซึ่งองค์กรเหล่านี้คงพอใจที่เหตุการณ์ยังเป็นอยู่แบบนี้เพราะเขาจะได้เอางบฯมาใช้กันได้”

นายอับดุลอาซิส กล่าวอีกว่า จากการได้ทำงานกับประชาชนรากหญ้า พบว่า ชาวบ้านยังคงได้รับผลกระทบจากการทำงานของ กอ.สสส.จชต.อีกเป็นจำนวนมาก โดยเมื่อ 1 อาทิตย์ที่ผ่านมา ทางศูนย์นิติธรรม ซึ่งตั้งขึ้นโดยกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ตั้งอยู่ที่ มอ.ปัตตานี ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน อ.บันนังสตา จ.ยะลา ว่า มีเด็กวัยรุ่นถูกเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมได้รับบาดเจ็บโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยขณะนี้ทางศูนย์ฯ กำลังให้ทนายประจำศูนย์ฯ ติดตามรายละเอียด และสืบหาข้อเท็จจริงตามที่ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน

“การจับกุมชาวบ้านของเจ้าหน้าที่ กอ.สสส.จชต.หลายครั้งเป็นการกระทำที่ผิดต่อข้อตกลง เพราะไม่ได้มีการแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ ซึ่งไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ต้องการจะแก้เผ็ดชาวบ้านหรืออย่างไร เพราะตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น 3 วันแรก ไม่สามารถเข้าเยี่ยมผู้ถูกจับกุมได้ ญาติพี่น้องหรือทนายก็เยี่ยมไม่ได้ จริงๆ แล้ว 3 วันแรกที่ถูกจับกุม คือ ช่วงวิกฤตของคนที่ถูกจับ เรากำลังปวดหัวกับเรื่องแบบนี้ เพราะได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านเป็น 100 เรื่องถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมกับเขา” นายอับดุลอาซิส กล่าว และว่า

แม้จะมีการตั้ง กอ.สสส.ระดับจังหวัด และอำเภอขึ้นมาก็ตาม แต่ในบางอำเภอทหารกลับไปจับคนร้ายก่อนแล้วมาให้ทางอำเภอเซ็นทีหลัง ซึ่งตามหลักการแล้วก่อนทำการจับกุมเจ้าหน้าที่ทหารและนายอำเภอจะต้องเซ็นร่วมกันก่อนทำการจับกุมผู้ต้องสงสัย แต่การไปจับก่อนแล้วมาให้อำเภอเซ็นทีหลังนั้น ได้สร้างความอึดอัดใจให้กับนายอำเภอบางคนเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่ตรงตามข้อตกลง

“การกระทำแบบนี้จะยิ่งสร้างเงื่อนไขให้ชาวบ้านมากยิ่งขึ้น ชาวบ้านส่วนใหญ่เขายังยอมรับกฎหมายเขาถึงต้องมาร้องเรียน แต่กระบวนการยุติธรรมทุกวันนี้มันบิดเบี้ยวตั้งแต่ต้น การออก พ.ร.ก.แค่ทำให้เหตุการณ์ทรงตัว และอาจจะเลวร้ายลงไปอีกได้ กรณีการจับครูเป็นตัวประกันสาเหตุมาจากไหน เพราะเจ้าหน้าที่ไปจับกุมชาวบ้าน โดยบอกว่ามีหลักฐานชัดเจนโดยไม่แจ้งให้ใครทราบ และเท่าที่ผ่านมามีหลายคดีที่พอถึงชั้นศาลแล้วไม่มีหลักฐานคดีก็ยุติ ครูเลยต้องรับกรรม การแก้ปัญหาต้องแก้ที่สาเหตุ อย่ามาประณามชาวบ้านเพื่อกลบเกลื่อน ทุกครั้งที่เกิดเหตุแบบนี้มีการบิดเบือนประเด็นให้สังคมสนใจแต่ปลายเหตุ โดยไม่มองต้นเหตุ แล้วใช้การโฆษณาชวนเชื่อมาบิดเบือนประเด็น”

นายอับดุลอาซิส กล่าวต่อว่า วิธีการที่เจ้าหน้าที่ กอ.สสส.จชต.ใช้กับชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เหมือนกับวิธีที่ใช้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในอดีต คนไหนที่โดนกาหัวสีแดงก็ต้องเดือดร้อน ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ ได้รับความเดือดร้อนมาก จึงมีการมาแจ้งกับศูนย์นิติธรรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เขายอมรับกฎหมาย แต่ไม่มั่นใจกระบวนการยุติธรรม เพราะเขาเห็นว่าตำรวจ อัยการ และศาล เป็นพวกเดียวกัน โดยในส่วนของศูนย์นิติธรรมนั้น หลังจากตั้งขึ้นมาจนถึงขณะนี้เริ่มมีชาวบ้านรู้จักมากขึ้น และเข้ามาร้องเรียนอยู่เป็นระยะๆ โดยศูนย์ฯนี้จะมีอยู่ทั้ง 3 จังหวัด มีทนายที่เป็นตัวแทนจากสภาทนายความเป็นผู้รับเรื่อง

“เรื่องที่ได้รับการร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่างกรณีเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ชาวบ้านมาร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ได้ไปจับกุมวัยรุ่นคนหนึ่งที่ จ.นราธิวาส โดยได้ไปขุดบริเวณหลังบ้านเพื่อจะหาหลักฐาน ญาติเขาก็จะขอไปดูและขอถ่ายรูปด้วย แต่กลับถูกทหารขู่จะยิง และห้ามไม่ให้เข้าไปยุ่ง ขุดไปขุดมาก็เจอสายไฟ บอกว่า เป็นวัสดุประกอบระเบิด แล้วบังคับให้เขายอมรับ เขากลัวเขาก็เลยยอมรับ

พอถัดมาอีก 2 วันก็มาขุดแบบเดิมอีก คราวนี้เจอระเบิดอีก 2 ลูก สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างเงื่อนไขกดดันให้ชาวบ้านไม่มีทางออก การจะค้นหรือจับกุมใครควรเรียกผู้นำชุมชน และชาวบ้านให้มาเป็นพยาน ไม่ใช่ไปค้นโดยห้ามใครเข้าไปยุ่ง อยู่ๆ พอเจอแล้วมาโยนให้ชาวบ้านรับมันเหมือนกับสมัยปราบคอมมิวนิสต์ สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลให้ชาวบ้านกลัวแต่ก็ไม่กล้าพูด ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง บางพื้นที่มีคนถูกจับในลักษณะนี้ เราถามว่าจะให้ช่วยมั้ย เขาบอกว่าไม่ต้องช่วย เพราะเขามีวิธีการของเขา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก” นายอับดุลอาซิส กล่าว

พร้อมเสนอว่า หากจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของหน่วยงานหลักที่ดูแลแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อไปควรให้พลเรือนเป็นหัวหลักในการทำงาน โดยทำงานร่วมกับทหาร และตำรวจเช่นเดิม แต่พลเรือนควรเป็นตัวหลัก เหมือนกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในอดีต เพราะทหารและตำรวจมีความถนัดในด้านการรบและการปราบปราม ก็ทุ่มกำลังไปทางด้านนั้น ยิ่งใช้กำลังปราบปรามมากเหตุการณ์ก็ยิ่งแรงขึ้น ซึ่งเมื่อประกาศใช้นโยบายรัฐบาลบอกว่าจะใช้การเมืองนำ แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับเป็นทหารที่นำ

“หากมีการปรับเปลี่ยนไปทำในลักษณะของ ศอ.บต ชาวบ้านก็จะไม่อึดอัด ค่ายทหารไม่มีใครกล้าเข้า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มาประกาศว่าจะกลับมาแก้ปัญหาภาคใต้ เป็นแค่การสร้างภาพ หากวิธีคิดยังเป็นแบบนี้ก็ยากที่เหตุการณ์จะสงบลงง่ายๆ” นายอับดุลอาซิส กล่าว

ด้าน นายอารีฟีน กาหลง ทีมงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์ภาคประชาสังคม จ.ปัตตานี กล่าวว่า ภาคประชาชนที่จัดทำโครงการต่างๆ เสนอไปยัง กอ.สสส.จชต.ได้รับงบฯล่าช้ามาก เช่น โครงการสื่อสองภาษาที่ตนเองร่วมจัดทำ ใช้งบฯ 15 ล้านบาท ต้องรอเป็นปีถึงจะได้รับ

“ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมาของ กอ.สสส.จชต.ถือว่ายังไม่เข้าเป้า การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง หรือผู้บริหารบ่อยๆ ทำให้เกิดปัญหา เกิดการสะดุด แต่ก็มีบางเรื่องที่สถานการณ์ดีขึ้น เช่น การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกรณีกรือเซะ และตากใบ ชาวบ้านเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้น แต่ในส่วนที่เป็นโครงการ ซึ่งภาคประชาสังคมเสนอไปกลับไม่ได้รับความสนใจ เพราะมีการไม่ไว้ใจชาวบ้านในเรื่องของความมั่นคง ซึ่งตามข้อเท็จจริงนั้น ในคณะทำงานของประชาชนมีทั้งเกษตรกร นักวิชาการ ข้าราชการ ตำรวจ และทหาร มีการให้ข้อมูลที่เข้าใจตรงกัน เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการนำเงินไปทำสิ่งไม่ดี เพราะมีกรรมการคอยดูแล”

นายอารีฟีน กล่าวว่า ในอนาคตความสงบจะยังเกิดขึ้นได้ยาก ตราบใดที่ประชาชนยังมีความเข้าใจที่ไม่สอดคล้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ เหตุการณ์ก็ยังคงยืดเยื้อ ซึ่งปัญหาไม่ใช่ประชาชนมองรัฐไปในทางที่ไม่ดี แต่ที่ผ่านมารัฐกลับทำให้เกิดภาพที่ไม่ดีให้ประชาชนเห็น เช่น เรื่องงบประมาณ ยอมรับว่า มีกระแสข่าวการคอร์รัปชันกันขึ้น เมื่อก่อนงบฯผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ตอนนี้ต้องมาผ่าน กอ.สสส.จชต.ที่มีอำนาจเหนือผู้ว่าฯ ทำให้หน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานมีปัญหาในการทำงาน

“อยากให้มีการไปวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนให้ดี แล้วควรมีการจัดทำข้อมูลใหม่ว่าภาคประชาชนต้องการอะไร ไม่ใช่ให้ข้างบนสั่งลงมาให้ข้างล่างทำ ความจริงประชาชนในพื้นที่มีความตื่นตัวหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการเมือง และอื่นๆ แต่กลับไม่มีโอกาสได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย” นายอารีฟีน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น