“มันถึงเวลาหรือยังที่เราจะย้อนกลับมาดูว่า แนวทางการศึกษารูปแบบนี้เป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหา ไม่ใช่วันนี้บอกว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาทำอยู่อย่างเดียว อันที่จริงแล้วเขาต้องการมากกว่านั้น... วันนี้ไม่ใช่มีแต่เรื่องการเมืองวิกฤติอย่างเดียว การศึกษาก็วิกฤติ โอกาสมันไปถึงแล้วแต่เรายังไปไม่ทัน ถามว่า คนในระดับกลางขึ้นไปที่พอจะมีกำลังส่งลูกเรียนในระดับนี้ได้ สามารถส่งลูกเข้าไปเรียนได้มี แต่ว่าที่ตรงนี้มันไม่มี มีก็แต่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติทั่วๆ ไป ซึ่งในลักษณะอย่างนี้ยังไม่มี ” ผศ.วรวิทย์ บารู ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระบุ
ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดโครงการเสวนาการศึกษาระบบโรงเรียนนานาชาติ โดยเชิญ ดาตุ๊ก ดร.ฮัดซาน ฮารูน (Datuk Dr.Hassan Harun) ผู้จัดการโรงเรียน Wadi Sofia International School จากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย และนักวิชาการศึกษาในพื้นที่ มาร่วมเสวนา
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโลกทัศน์ของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องการศึกษาระบบนานาชาติ(International) ที่สามารถควบคุมเรื่องจริยธรรมได้ในแบบของมาเลเซียอย่างครบถ้วน ทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาระบบโรงเรียนนานาชาติ และเป็นทางเลือกใหม่แก่ผู้สนใจโดยเฉพาะในพื้นที่ด้วย
ดร.ฮัดซาน กล่าวถึง Wadi Sofia International School ว่า บริหารในรูปแบบบริษัทจำกัด และเปิดดำเนินงานการเรียนการสอนได้ 4 ปี ซึ่งแม้จะเป็นโรงเรียนที่ใหม่ แต่เป้าหมายสูงสุดคือ สร้างให้โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต
Wadi Sofia International School ถือเป็นโรงเรียนนานชาติในรูปแบบของศาสนาอิสลาม ที่มีระบบการศึกษาที่เป็นสากลโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการเรียนการสอน โดยมีการระดับการศึกษา คือระดับอนุบาล เด็กอายุ 4-6 ปี โดยใช้ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษามลายู
ส่วนระดับมัธยม 1-6 ใช้หลักสูตร Special Program แบ่งเป็น Junior Transition class (JTC) สำหรับนักเรียนที่ไม่ได้มาจากโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษ และ Up Transition class (UTC) สำหรับนักเรียนที่มาจากโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษ และระดับ Pre University (16-18ปี) โดยทั้งหมดจะเป็น 2 รูปแบบควบคู่กัน คือหลักสูตรประจำชาติ กับหลักสูตรนานาชาติที่ต้องเรียนทั้งสองแบบ
“คณะอาจารย์ของเราถึงส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิมที่จบจากอังกฤษ ทำให้การเรียนการสอนของเรามั่นใจได้เลยว่าการถ่ายทอดความรู้วิทยาการ และหลักอิสลามสามารถควบคู่กันไปได้อย่างดีเยี่ยม”
ดร.ฮัดซาน อธิบายถึงความคิดเบื้องหลังที่ทำให้เกิดโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นมาว่า หลังจากที่มาเลเซียได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ ระบบการศึกษาในช่วงแรกนั้น การเรียนการสอนจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักเพราะเป็นประเทศในเครือจักรภพ
แต่หลังจากนั้นโดยพื้นฐานของประชาชนส่วนใหญ่ในมาเลเซียที่ใช้ภาษามาลายู และความเป็นชาตินิยม ทำให้การใช้ภาษาอังกฤษด้อยลง ดั้งนั้นทางรัฐบาลของมาเลเซียจึงเล็งเห็นในส่วนนี้ว่า การใช้ภาษามาลายูอย่างเดียวไม่สามารถเรียนรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาการสมัยใหม่ได้อย่างเต็มที่ จึงกำหนดการเรียนให้ใช้ภาษาอังกฤษในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ แต่จะยกเว้นวิชาภาษามาลายู
เขาบอกว่า รัฐบาลมาเลเซียประสบความสำเร็จในการวางรากฐานทางการศึกษาประเทศ เพราะทุกๆ ปี จะมีนักเรียนในทุกระดับจากทั่วโลกมาเรียนที่มาเลเซียมากถึง 30,000 คน ทำให้รัฐบาลตั้งเป้าให้ประเทศมาเลเซีย เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของภูมิภาคเหมือนประเทศออสเตรเลียที่สามารถดึงนักเรียนจากทั่วโลกได้ ซึ่งตรงจุดนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความคิดที่จะตั้งโรงเรียนนี้ขึ้นมา
“หลักสูตรของ Wadi Sofia International School ได้รับการยอมรับจาก Cambridge University และรับรองผลการสอบประกาศนียบัตรต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ของ Cambridge University ถ้าสอบได้จาก Wadi Sofia International School สามารถไปเรียนต่อที่ไหนในโลกก็ได้โดยไม่ต้องไปสอบใหม่” ผู้จัดการของ Wadi กล่าว
*** การศึกษาใต้ยังตามหลังมาเลย์
ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มอ.ปัตตานี ประเมินว่า หาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเริ่มคิดเรื่องหลักสูตรอิสลามนานาชาติ คงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4-5 ปี แต่ทั้งนี้ต้องประเมินจุดแข็งของ Wadi Sofia International School ซึ่งแม้อาจารย์ส่วนใหญ่จะจบมาจากตะวันตกทั้งหมด แต่ยังสามารถควบคุมกระบวนการซึ่งมีแนวคิดของอิสลามมิกอยู่ได้
“แต่สิ่งจำเป็นคือ กลับคืนสภาพการขวนขวายหาความรู้ของคนที่นี่ไปสู่จุดหนึ่ง ซึ่งคือการผ่อนปรนโดยสันติวิธี เท่าที่ผมมองคือ ถ้าเราเข้าใจและสามารถสานต่อได้ ต่างชาติก็เข้ามาได้ ฝรั่งก็เข้ามาได้ โรงเรียนให้ฝรั่งสอนแต่ฝรั่งเป็นมุสลิม ควรเป็นลักษณะแบบนี้ ซึ่งจะเป็นเหมือนกันหมดไม่ได้ ถ้าเป็นฝรั่งที่ฟังร็อคจะไปด้วยกันได้อย่างไร”
ผศ.วรวิทย์ กล่าวว่า ในระดับมหาวิทยาลัยที่คิดว่าพร้อมที่สุดน่าจะเป็นวิทยาลัยอิสลามยะลา เพราะโดยพื้นฐานของการศึกษาเป็นระบบนานาชาติอยู่แล้ว ทั้งความเป็นเอกชนซึ่งมีความคล่องตัวและมีศักยภาพสูง
อนึ่ง โครงการจัดตั้งสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เป็นโครงการของมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ว่าด้วยสถานการณ์แนวโน้มของความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ
(Resgionalization Internationalization) ของประชาคมโลกในยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) และสังคมสารสนเทศ (Infromation Society)
วัตถุประสงค์การจัดตั้งเพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัย และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มประเทศอาเซียน โดยครอบคลุมหลายๆ ด้าน เช่น การศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมเพื่อเสนอข้อมูลที่ถูกต้องแก่หน่วยงานรัฐ และเอกชน ด้วยความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าว จึงเป็นการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือที่จะนำไปสู่ความเป็นมิตรประเทศที่ดีในภูมิภาคแถบสมุทรรัฐฯ ด้วยกัน อันประกอบด้วยประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไนดารุสลาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป