xs
xsm
sm
md
lg

นักธุรกิจอเมริกันร้อง รร.ดังรุกที่อุทยานหาดเจ้าไหม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะอนุกรรมการ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน (อ.ช.ก.) จังหวัดตรัง สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานยุติธรรม ลงตรวจพื้นที่บริเวณที่มีการร้องเรียนจากนายวอลเลจ เออวิน แซงเจอร์ นักธุรกิจชาวสหรัฐอเมริกา กล่าวหาโรงแรมชื่อดังก่อสร้างรุกที่อุทยานและกีดขวางทางสัญจรของชาวบ้าน
ตรัง - นักธุรกิจชาวอเมริกัน ร้องรัฐตรวจสอบโรงแรมชื่อดังสร้างอาคารบุกรุกที่อุทยานหาดเจ้าไหม กีดขวางการคมนาคมของชาวบ้านทั้งทางน้ำและทางบก ศูนย์ไกล่เกลี่ยลงตรวจสอบข้อเท็จจริง ระบุ รัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแลและแก้ปัญหา

เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (22 ม.ค.) นายนำ เพ็งพอรู้ ประธานคณะอนุกรรมการ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน (อ.ช.ก.) จังหวัดตรัง สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานยุติธรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 ที่ผ่านมา เวลา 10.00 น.ทางศูนย์ได้รับการร้องทุกข์จากนายวอลเลจ เออวิน แซงเจอร์ ชาวสหรัฐอเมริกา ว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2542 ตนเองได้มาเช่าที่ดิน น.ส.3ก. 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ จากนักธุรกิจชาวไทย ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะกระดาน หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เพื่อนำมาประกอบกิจการที่พักประเภทรีสอร์ต ให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้เช่าพักแรมกันมาเป็นระยะเวลา 7 ปีแล้ว

จนกระทั่งเมื่อปี 2548 ได้เกิดมีปัญหาพิพาทเส้นทางเข้าออก จากฝั่งทะเลตรัง เข้าสู่ที่ตั้งของรีสอร์ต ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปประมาณ 50 เมตร เนื่องจากได้มีผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวรายใหญ่ คือ โรงแรมอมารี ตรัง บีช รีสอร์ท เข้ามาทำการปลูกสร้างอาคารบริเวณด้านหน้า และยังได้นำรั้วลวดหนามมาปิดกั้นด้วย จนทำให้ตนเองและชาวบ้านรวม 5 ครัวเรือน ไม่สามารถใช้เส้นทางทางบกเข้าออกได้ดังเดิม รวมทั้งในส่วนของเส้นทางทางลำคลองธรรมชาติ ซึ่งมีขนาดกว้างประมาณ 25 เมตรนั้น ก็ไม่สามารถใช้เรือผ่านเข้าไปได้ดังเดิม ทำให้พวกตนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง

นายนำ กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุนี้ นายวอลเลจ จึงได้ขอให้ทางศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท นำผู้เกี่ยวข้องลงไปช่วยทำการตรวจสอบและแก้ปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2549 ที่ผ่านมา โดยตนเอง ได้เดินทางไปพร้อมกับ นายพรเทพ เพชรน้อย นิติกร 7 ที่ทำการปกครองจังหวัดตรัง ตัวแทนศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง นายอนันต์ พรหมเพียรพงศ์ ปลัดอำเภอกันตัง ตัวแทนนายอำเภอกันตัง นายจำลอง พุ่มไพบูลย์ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 6 เรือนจำจังหวัดตรัง ตัวแทนสำนักงานยุติธรรมจังหวัดตรัง นายนิวัฒน์ ซุ่นสั้น ตัวแทนสภาทนายความจังหวัดตรัง นายร่วม รัตน์จันทร์ และนายสมบูรณ์ เทวกุล ตัวแทนศูนย์ อ.ช.ก.ตรัง

ทั้งนี้ นายวอลเลจ และชาวบ้านหลายคนในพื้นที่ ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสภาพข้อเท็จจริง ซึ่งพบว่าบริเวณชายหาดด้านหน้าเกาะกระดานนั้น มีการก่อสร้างอาคารของโรงแรมอมารี ตรัง บีช รีสอร์ท ส่วนด้านหลังเป็นลำคลองสาธารณประโยชน์ ทั้งนี้ ในเบื้องต้น เมื่อตรวจสอบจากแผนที่และเอกสาร น.ส.3 รวมทั้งเอกสารของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม พบว่า การปลูกสร้างอาคารในแนวเขตอนุรักษ์ ด้วยวิธีการนำรถแบ็กโฮไปขุดปิดลำคลอง แล้วสร้างอาคารทับขึ้นด้านบน ทำให้เรือไม่สามารถผ่านเข้าออกลำคลอง ซึ่งมีระยะทางยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ได้ตามปกติ ยิ่งเมื่อมีฝนตกลงมาก็จะมีน้ำท่วมขัง และเอ่อล้นพื้นที่ดังกล่าวหลายวัน

นายนำ กล่าวด้วยว่า สำหรับความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย ที่ได้ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในครั้งนี้ สรุปกันว่า จะต้องมีการประชุมหาข้อยุติในโอกาสต่อไป ซึ่งคงจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าเป็นฝีมือของใครและจะต้องเข้ามารับผิดชอบมากน้อยเพียงใด แต่หากเรื่องนี้ดูว่าหนักเกินไปที่คณะเจ้าหน้าที่ชุดของตนจะรับไหว ต้องส่งต่อให้รัฐบาลเป็นผู้ลงมาดูแลโดยตรง เพราะเป็นเรื่องใหญ่และถือเป็นเรื่องระดับประเทศ ซึ่งระดับจังหวัดตรังคงไม่สามารถทำอะไรได้ จึงต้องนำรายละเอียด พร้อมภาพวิดีโอและภาพถ่าย ส่งให้กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ตรวจสอบต่อไป

นอกจากนั้น นายอนันต์ พรหมเพียรพงศ์ ปลัดอำเภอกันตัง ได้ขอระยะเวลากลับไปตรวจสอบเอกสารการขออนุญาตการก่อสร้างอาคาร และการดำเนินการขุดถมปิดปากคลองดังกล่าวว่า เป็นการกระทำของกลุ่มใดและดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แต่จากการลงพื้นที่ไปตรวจสอบเบื้องต้น ทราบว่า น่าจะเป็นการกระทำของบริษัทใหญ่ และเมื่อมีการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเรียบร้อยแล้วก็จะเรียกให้โรงแรมอมารี ตรัง บีช รีสอร์ท ได้มาชี้แจงด้วย เพื่อหาข้อมูลว่า มีการกระทำการดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร และทราบหรือไม่ว่าใครเป็นผู้กระทำ ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมของทุกๆ ฝ่าย

ด้าน นายวอลเลจ กล่าวว่า ตนมาเช่าที่บนเกาะกระดาน หมู่ 2 อำเภอกันตัง เพื่อเปิดเป็นรีสอร์ตในด้านธุรกิจการท่องเที่ยวนับตั้งแต่ปี 2542 แต่เมื่อมาถึงปี 2548 ลำคลองและเส้นทางกลับถูกปิดโดยบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง จึงทำให้น้ำในลำคลองไม่สามารถไหลลงสู่ทะเลได้

ส่วนเส้นทางที่เคยใช้มายาวนานก็ถูกตัดขาด จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะเข้ามาแก้ไขให้ใช้ได้ดังเดิม และเข้าไปตรวจสอบว่าใครเป็นผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ ถึงแม้ว่าตนจะเป็นชาวต่างชาติ แต่ก็ต้องการแสดงให้เห็นว่า คนตรัง หรือคนไทยทุกคน ถือเป็นเจ้าของในพื้นที่ทุกตารางนิ้วของประเทศ และมีสิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ โดยที่รัฐจะต้องเข้าไปดูแลอย่างจริงจัง




กำลังโหลดความคิดเห็น