โดย เหมือนฝัน สงชัย ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เบาบางไปในช่วงหนึ่งของปลายปี 2548 แต่กลับมาเกิดเหตุรุนแรงอีกครั้งในตอนต้นปี 2549 ทั้งการปล้นปืน ชรบ.และฆ่าตัดคอทหาร ชาวบ้าน รวมทั้งเหตุร้ายรายวันอีกหลายคดี สวนทางแนวโน้มที่มีการประเมินว่าปีนี้สถานการณ์จะดีขึ้น
“ผู้จัดการรายวัน” มีโอกาสสัมภาษณ์ พล.ท.องค์กร ทองประสม แม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเข้ามานั่งกุมบังเหียนแก้ไฟใต้ได้ไม่นาน และเป็นผู้หนึ่งที่ประเมินว่าไฟใต้ในปีนี้จะลดความรุนแรงลง
ถาม - รับตำแหน่งใหม่ๆ มองว่าสถานการณ์ดีขึ้น ตอนนี้เปลี่ยนความคิดแล้วหรือยัง?
พล.ท.องค์กร ทองประสม - “ไม่เปลี่ยนนะ ที่ว่าดีขึ้นคือเรารู้แนวทางในการปัญหามากขึ้น การใช้ พ.ร.ก.ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ฝ่ายตรงข้ามจึงพยายามตอบโต้เจ้าหน้าที่โดยใช้ความโหดเหี้ยม ความรุนแรงมากขึ้น”
ถาม - เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์เพิ่มความรุนแรงขึ้นหรือไม่?
พล.ท.องค์กร ทองประสม - “ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ ในการแจ้งเบาะแสของฝ่ายตรงข้าม รวมถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการลงไปทำความเข้าใจกับประชาชน ไม่ว่าระดับบนหรือระดับล่าง คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 98% เป็นคนไทยที่มีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติ ซึ่งเราต้องพยายามทำความเข้าใจกับคนในส่วนนี้ ในส่วนอีก 2% เป็นคนร้ายที่พยายามสร้างความรุนแรงขึ้น”
ถาม - มีการปรับนโยบายบ้างหรือไม่?
พล.ท.องค์กร ทองประสม - “นโยบายคงไม่เปลี่ยน แต่อาจจะปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินการ หรือแนวทางปฏิบัติ ซึ่งผมได้ลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับผู้นำศาสนา ผู้หลักผู้ใหญ่ของแต่ละจังหวัด ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี”
ถาม - กระแสสังคมบางส่วนสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงตอบโต้
พล.ท.องค์กร ทองประสม - “เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะถ้าหากเราทำผิดตัว เราไม่สามารถแก้ตัวได้เลย จริงอยู่ที่ฝ่ายตรงข้ามพยายามใช้ความรุนแรงมากขึ้น เพื่อให้เกิดการตอบโต้ แต่ตอนนี้ประชนชนส่วนใหญ่เข้าใจแล้วว่าเป็นฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบ กลุ่มแบ่งแยกดินแดน และเห็นด้วยกับการวิธีการแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่ สำหรับการใช้ความรุนแรงอาจมีบ้างในบางครั้งที่จำเป็น แต่กับคนร้ายเราคงไม่ใช้สันติวิธี ถ้ารู้ว่าเป็นโจรก็คงต้องจับกุมเพื่อนำตัวมาลงโทษตามกฎหมาย”
ถาม - เหตุฆ่าตัดคอทหารหน่วยรบพิเศษที่ จ.ยะลา เป็นความประมาทของเจ้าหน้าที่ หรือความไม่พร้อมของยุทโธปกรณ์?
พล.ท.องค์กร ทองประสม - “ไม่ใช่ความประมาทหรือใดๆ ทั้งสิ้น เจ้าหน้าที่ทุกคนได้ระมัดระวังตัวอย่างเต็มที่แล้ว ขโมยพร้อมที่จะเข้าบ้านทุกขณะ ไม่ว่าเจ้าของบ้านจะระมัดระวังแค่ไหนก็ตาม ก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้โทรแจ้งพิกัดกันตลอด แต่โชคร้ายที่จุดที่เกิดเหตุเป็นจุดบอดของสัญญาณโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งวิทยุมือถือไอคอมของเจ้าหน้าที่ชำรุด เนื่องจากถูกกระสุนปืนทำให้ขาดการติดต่อ”
ถาม - การแก้ปัญหาตะปูเรือใบที่ถูกนำมาใช้สกัดการติดตามของเจ้าหน้าที่ในการก่อเหตุเกือบทุกครั้ง
พล.ท.องค์กร ทองประสม - “ปัญหาตะปูเรือใบเราพยายามหาแนวทางแก้ไข เนื่องจากอุปกรณ์ป้องกันไม่มีขายในท้องตลาด การนำรถสายพานเข้ามาก็คิดอยู่เหมือนกัน แต่อาจทำให้สถานการณ์ดูรุนแรงมากขึ้น ยอมรับว่า เรายังตามเขาในบางจุด ซึ่งจะต้องหาวิธีแก้ต่อไป”
ถาม – วันที่ 4 มกราคม 2549 เป็นวันครบรอบ 2 ปี เหตุปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง ได้มีการสั่งการพิเศษหรือไม่?
พล.ท.องค์กร ทองประสม - “ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ เพราะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น แต่ให้เจ้าหน้าที่ทุกคนเพิ่มความสนใจและระมัดระวังสถานที่ราชการมากขึ้น เนื่องจากจะเกิดซ้ำอีกไม่ได้ แต่คนร้ายได้เปลี่ยนเป้าหมายไปที่จุดอ่อนที่ไม่มีการป้องกัน เช่นที่ อบต.หรือวัด”
ถาม - หนักใจกับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 หรือไม่?
พล.ท.องค์กร ทองประสม - “ไม่หนักใจกับตำแหน่งที่ได้รับ และรู้สึกภูมิใจที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชา และเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง จึงต้องทำงานรับใช้ชาติอย่างเต็มที่ สุดความสามารถที่มี”