ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์
ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน และความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ของการเป็น “เมืองท่า” ทำให้ปัตตานีกลายเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญมาทุกยุคทุกสมัย ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ครั้งโบราณกาลที่เป็นอนุสรณ์ทางวัฒนธรรมอันหลากหลายของดินแดนแห่งนี้ ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน และหนึ่งในนั้นก็คือ “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว”
น่าแปลกตรงที่ ตำนานของ “เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” อันเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาอย่างกว้างขวางของชาวพุทธเชื้อสายจีนนั้น กลับเกี่ยวโยงกับ “มัสยิดกรือเซะ” ศาสนสถานอันล้ำค่าของชาวมลายูมุสลิมด้วย
ตำนานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่บันทึกไว้ในหนังสือ “เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ปัตตานี” จัดพิมพ์โดยมูลนิธิเทพปูชนียสถาน ระบุว่า เจ้าแม่เกิดในตระกูล “ลิ้ม” มีชื่อว่า “กอเหนี่ยว” พำนักอยู่ในมณฑลฮกเกี้ยน ประเทศจีน
“ลิ้มกอเหนี่ยว” เป็นน้องสาวของ “ลิ้มเต้าเคียน” หรือ “ลิ้มโต๊ะเคี่ยม” ตามตำนานเล่าว่าเป็นคนมีอัธยาศัยดี กตัญญูต่อบิดามารดา และมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ไม่ต่างอะไรกับ “ลิ้มเต้าเคียน” ผู้เป็นพี่ชาย ที่มีลักษณะทรนงองอาจ และมีพรรคพวกมาก
เมื่อยังเป็นเด็ก สองพี่น้องได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปะแขนงต่างๆ จนแตกฉาน ฝ่ายพี่ชายเมื่อโตขึ้นก็ได้เข้ารับราชการ สร้างผลงานปราบโจรสลัดญี่ปุ่นจนได้รับการแต่งตั้งเป็น “ขุนพลเซ็กกีกวง” คุมกองทัพเรือ
แต่ต่อมาเขาถูกใส่ร้ายว่าสบคบกับโจรสลัด จนทางการออกประกาศจับ จึงได้ตีฝ่าวงล้อมของทหารหลวง หนีออกทะเลไปยังเกาะไต้หวัน
“ลิ้มเต้าเคียน” เห็นว่าทัพหลวงยังคงติดตามโจมตี ประกอบกับถูกโจรสลัดรังควาญอยู่ตลอด จึงเดินทางต่อไปทางเกาะลูซอน (ฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน) แล้วเข้าไปยังเวียดนาม แต่บางตำนานเล่าว่า “ลิ้มเต้าเคียน” เข้าไปอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา และภายหลังจึงได้ย้ายมาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองปัตตานี
ที่ปัตตานี “ลิ้มเต้าเคียน” ได้เข้ารับอิสลาม และมีภรรยาเป็นเชื้อพระวงศ์ของเจ้าเมือง
ฝ่าย”ลิ้มกอเหนี่ยว” ผู้เป็นน้องสาว เมื่อเห็นว่าพี่ชายขาดการติดต่อ ไม่ได้ส่งข่าวคราวเป็นเวลานาน จนมารดาซึ่งอยู่ในวัยชราล้มป่วยเป็นประจำ ด้วยความกตัญญูจึงอาสาออกเดินทางไปตามพี่ชายให้กลับมาเยี่ยมบ้าน
ในวันเดินทาง “ลิ้มกอเหนี่ยว” ได้เข้าไปร่ำลามารดา และลั่นสัจจวาจาไว้ว่า “หากแม้นพี่ชายไม่ยอมกลับมาหามารดาแล้วไซร้ ตนก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่อีกต่อไป”
“ลิ้มกอเหนี่ยว” กับญาตินำเรือออกทะเลเป็นเวลาหลายเดือน กระทั่งเข้าเขตเมืองปัตตานี ก็ได้จอดทอดสมอไว้ริมฝั่ง “ลิ้มกอเหนี่ยว” เดินเข้าไปในเมืองและพูดคุยกับชาวบ้านจนได้ความว่า “ลิ้มเต้าเคียน” พี่ชายยังมีชีวิตอยู่ และได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่อยู่ที่นี่ จึงได้เข้าไปหาและชวนพี่ชายให้กลับไปยังบ้านเกิด
แต่ “ลิ้มเต้าเคียน” ไตร่ตรองดูแล้ว เห็นว่าหากกลับไปตอนนี้ จะสร้างความลำบากให้แก่ตน เนื่องจากยังติดประกาศจับของทางการ ขณะที่ความเป็นอยู่ทางนี้ก็มีความสมบูรณ์ดีอยู่ จึงตัดสินใจกล่าวกับน้องสาวว่า
“ตนหาใช่เนรคุณทอดทิ้งมารดาและน้องสาวไม่ แต่เหตุที่ทางการจีนกล่าวโทษว่าสบคบกับโจรสลัด สร้างความอัปยศจนต้องพลัดพรากมาอยู่ที่นี่ ตนอยู่ทางนี้ก็มีภารกิจมากมาย อีกทั้งได้รับปากกับเจ้าเมืองว่าจะก่อสร้างมัสยิดให้ (มัสยิดกรือเซะ) จึงไม่สามารถกลับไปในขณะนี้ได้”
“ลิ้มกอเหนี่ยว” เมื่อได้ยินดังนั้น ก็คิดว่าจะหาโอกาสอ้วนวอนพี่ชายให้กลับไปให้จงได้ จึงขอพำนักอยู่ในปัตตานีต่อ
ขณะนั้นเจ้าเมืองปัตตานีได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชรา และไม่มีบุตรสืบสันตติวงศ์ บรรดาศรีตะวันกรมการจึงปรึกษาหารือกันว่าจะเลือกบุตรของพระญาติวงศ์ใดขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน
แต่ยังไม่ทันจะได้ดำเนินการ ก็เกิดกบฏแย่งอำนาจกัน ถึงกับรบพุ่งนองเลือดระหว่างฝ่ายพระญาติของเจ้าเมืองกับฝ่ายกบฏ แต่ฝ่ายกบฏเตรียมการมาเป็นอย่างดี จึงได้เปรียบฝ่ายเจ้าเมืองที่มิทันระวังตัว “ลิ้มเต้าเคียน” เห็นดังนั้น ก็ได้พาเหล่าทหารที่ยังจงรักภักดีกับอดีตเจ้าเมือง เข้าต่อสู้กับพวกกบฏ
ฝ่าย “ลิ้มก่อเหนี่ยว” ด้วยความเป็นห่วงพี่ชาย จึงได้เข้าช่วยรบกับกบฏ จนพลาดท่าถูกฝ่ายตรงข้ามปิดล้อม นางเห็นว่าคงไม่อาจสู้กับพวกกบฏได้ ประกอบกับรู้สึกผิดที่ไม่สามารถนำพี่ชายกลับไปเมืองจีนตามที่ลั่นสัจจวาจาไว้ จึงตัดสินใจผูกคอตายที่ “ต้นมะม่วงหิมพานต์” เพื่อรักษาชื่อเสียงตระกูลลิ้ม
ด้าน “ลิ้มเต้าเคียน” เมื่อสูญเสียน้องสาวก็เสียใจมาก จึงจัดการศพตามประเพณีอย่างสมเกียรติ พร้อมกับสร้างฮวงซุ้ยขึ้นที่ “หมู่บ้านกรือเซะ” บรรดาคนจีนในสมัยนั้นทราบเรื่องราว ก็ซาบซึ้งกับความกตัญญู ซื่อสัตย์ และการรักษาคำมั่นสัญญาของ”ลิ้มกอเหนี่ยว” จึงได้นำกิ่งต้นมะม่วงหิมพานต์ที่นางใช้ผูกคอตายมาแกะสลักเป็นรูปบูชาไว้สักการะ
เล่ากันว่า “ลิ้มก่อเหนี่ยว” ได้สำแดงความศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวเรือและผู้สัญจรไปมาในแถบนั้นเสมอ จนเป็นที่เลืองลือไปทั่ว เป็นเหตุให้ประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาร่วมกันสร้างศาลให้เป็นที่ประดิษฐานรูปบูชา พร้อมกับขนานนามว่า “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว”
ปรากฏว่าเมื่อตั้งศาลแล้ว ก็มีผู้คนหลั่งไหลไปกราบไหว้กันมากมาย ใครมีเรื่องเดือดร้อนก็ไปบนบานให้เจ้าแม่ช่วย บ้างก็กราบไหว้ขอให้ทำมาค้าขายเจริญ แล้วก็บังเกิดผลตามความปรารถนาแทบทุกคน ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเลื่องลือไปยังเมืองต่างๆ
ต่อมา พระจีนคณานุรักษ์ (ตันจูล่าย ต้นสกุล “คณานุรักษ์”) เห็นว่าศาลเจ้าแม่ตั้งอยู่ที่บ้านกรือเซะ ไม่สะดวกในการประกอบพิธี จึงทำการบูรณะศาลเจ้าซูก๋ง บนถนนอาเนาะรู ในตัวเมืองปัตตานี และได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยวมาประดิษฐาน ภายหลังมีชื่อว่า “ศาลเจ้าเล่งจูเกียง” (ศาลเทพเจ้าแห่งความเมตตา) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” มากระทั่งทุกวันนี้
ความโด่งดังของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั้น ถึงขนาดที่ว่าใครที่มาเยือนปัตตานีแล้วไม่ได้ไปสักการะเจ้าแม่ฯ ถือว่ายังมาไม่ถึงปัตตานีเลยทีเดียว!
วันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายของทุกปี หรือ 15 วันหลังตรุษจีน จะมีงานสมโภชฉลองเจ้าแม่ฯ โดยอัญเชิญองค์เจ้าแม่ฯ และพระหมอซึ่งเป็นพระประธาน พร้อมด้วยพระอีกหลายองค์ที่ประดิษฐานอยู่ภายในศาล แห่ไปตามถนนรอบเมืองปัตตานี ท่ามกลางขบวนเชิดสิงโต และธงทิวหลากสีที่โบกสะบัด ขณะที่ประชาชนสองข้างทางจะพากันตั้งโต๊ะหมู่บูชา จุดธูปกราบไหว้เจ้าแม่ฯตลอดเส้นทาง
เมื่อถึงเชิงสะพานเดชานุชิต (สะพานข้ามแม่น้ำปัตตานี) จะมีพิธีลุยน้ำข้ามคลอง โดยการหาม “เกี้ยว” ที่ประทับขององค์เจ้าแม่ฯ เดินลงแม่น้ำปัตตานีแล้วข้ามไปอีกฟากหนึ่ง เพื่อระลึกถึงความยากลำบากของเจ้าแม่ฯ ที่ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาตามพี่ชายถึงเมืองปัตตานี
จากนั้นจะมีพิธีลุยไฟที่ลานหน้าศาลเจ้าฯ พร้อมด้วยมหรสพต่างๆ เช่น งิ้ว มโนราห์ และภาพยนตร์ ซึ่งในอดีตเคยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมเฉลิมฉลองจำนวนมาก เฉพาะที่มากับรถบัสท่องเที่ยว ก็มีถึง 40-50 คันต่อวัน จนต้องสร้างอัฒจันทร์ขนาดใหญ่ไว้บริเวณหน้าศาลฯ เพื่อรองรับฝูงชน
ภาพที่ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศแออัดยัดเยียดกันอยู่ที่หน้าศาลฯ เพื่อรอเข้าไปนมัสการองค์เจ้าแม่ฯด้านใน กลิ่นธูปควันเทียนที่ฟุ้งตลบอบอวลไปทั่วบริเวณ และรถบัสนักท่องเที่ยวที่จอดเรียงรายกันรอบๆ ศาลจนนับไม่ถ้วน เป็นภาพที่เจนตาเรื่อยมา
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2547 ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มลดลง ศาลเจ้าแม่ฯแทบจะร้างผู้คน และบรรยากาศแห่งความคึกคักในอดีต กลับมลายหายไปอย่างไม่น่าเชื่อ
“เดี๋ยวนี้บางวันมีคนมานมัสการเจ้าแม่ฯไม่ถึง 10 คน เพราะเขากลัวสถานการณ์กัน“ ลุงเจริญ พรศิลา เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยวมากว่า 15 ปี เอ่ยเสียงเศร้า
ลุงเจริญ บอกว่า จริงๆ แล้วเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น คนในพื้นที่จะรู้ดีว่าไม่ได้เกิดในตัวเมือง หรือใกล้บริเวณศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเลย เหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดในชนบทห่างไกลทั้งสิ้น แต่ข่าวที่ออกมาทำให้คนคิดว่าอันตรายไปหมด ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนใน 3 จังหวัด ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม สภาพการณ์ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว โดยเฉพาะการจัดการดูแลศาล ซึ่งดำเนินการในรูปของมูลนิธิ คือมูลนิธิเทพปูชนียสถาน และต้องอาศัยเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา
กรรมการมูลนิธิฯรายหนึ่ง เผยว่า ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมีรายจ่ายเดือนละไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท เป็นค่าน้ำค่าไฟ ค่าจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเงินเดือนของพนักงานดูแลศาลกว่า 20 คน
“แต่ตลอด 2 ปีมานี้ เงินบริจาคที่ได้มาไม่พอกับรายจ่ายประจำของทุกเดือน จนเราต้องดึงเงินจากกองทุนที่ทางมูลนิธิเก็บสะสมไว้มาใช้ พร้อมๆ กับพยายามลดรายจ่ายลงทุกด้าน แม้แต่ทุนช่วยเหลือด้านต่างๆ ที่หน่วยงานราชการเคยขอมา ก็ต้องปฏิเสธไปบ้าง ทั้งๆ ที่ในอดีตเราไม่เคยปฏิเสธเลย ใครขอมาก็ให้หมด”
อย่างไรก็ดี เขายังหวังว่าหากสถานการณ์ในพื้นที่นิ่งลงสักพัก และไม่เกิดเหตุการณ์ฆ่ารายวันเหมือนที่ผ่านๆ มา ประชาชนก็จะกลับมาสักการะเจ้าแม่ฯ เหมือนเดิม เพราะทุกคนยังคงเลื่อมใสศรัทธาเจ้าแม่ฯ
และนี่คือบทสรุปของความรุนแรงที่ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด!