ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สสว.อนุมัติเงินร่วมทุน SMEs กว่า 1,200 ล้านบาท แยกเป็นกรอบปกติ 669 ล้านบาท ร่วมลงทุนผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากสึนามกว่า 560 ล้านบาท อยู่ระหว่างการวิเคราะห์โครงการอีกกว่า 750 ล้านบาท เร่งฟื้นฟูให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในอันดามันฟื้นตัวโดยเร็ว
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (22 ธ.ค.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มอบเงินร่วมทุนและบันทึกข้อตกลงให้แก่ผู้ประกอบการที่ประสบภัยสึนามิ ในพื้นที่ 3 จังหวัดอันดามัน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบการที่รับมอบเงินร่วมลงทุนมีทั้งหมด 7 ราย วงเงิน 122.2 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท นำชัยขนส่ง จำกัด จำนวน 20 ล้านบาท บริษัท กระบี่ อันดามัน บีช รีสอร์ท รีทรีท จำกัด จำนวน 25 ล้านบาท บริษัท คอเขา บีช รีสอร์ท จำกัด จำนวน 35 ล้านบาท บริษัท พิชชาพร จำกัด 2 ล้านบาท บริษัท ศูนย์สุขภาพสิเหร่ จำกัด 30 ล้านบาท บริษัท เก็จมุกดา จำกัด 2 ล้านบาท และบริษัท เดอะภูเก็ตไฟล์ ฟู๊ด จำกัด 10.2 ล้านบาท
ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับมอบบันทึกข้อตกลงร่วมลงทุนจำนวน 7 ราย วงเงิน 104.10 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท เขาหลักโฮลดิ้ง จำกัด บริษัท ลันตาไอร์แลนด์ จำกัด บริษัท เขาหลัก เบย์ ฟอร์นท์ จำกัด บริษัท ดิสคอฟเวอรี่ ทัวร์ แอนด์ ไดเวอร์ จำกัด บริษัท ทรัพย์ฟูสมุนไพร จำกัด บริษัท สบันงา สปา จำกัด และบริษัท ซี แซนด์ ซัน รีสอร์ท จำกัด
นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า ภายหลังเกิดภัยพิบัติสึนามิเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทาง สสว.ได้ตั้งศูนย์ประสานและฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ประสบภัยสึนามิ ขึ้นเมื่อวันที่ 13 ม.ค.2548 ที่ซอยบางรา หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต และศูนย์เคลื่อนที่อีก 3 จุดที่กระบี่ พังงา และระนอง เพื่อให้การช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย ทั้งการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อการฟื้นฟูกิจการ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการประสานความช่วยเหลือยังหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
ปรากฏว่า มีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิติดต่อขอความช่วยเหลือทั้งสิ้น 982 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการทางตรง ที่ทรัพย์สินได้รับความเสียหายจำนวน 812 ราย และผู้ประกอบการที่ธุรกิจได้รับความเสียหาย 170 ราย โดยต้องการความช่วยเหลือเงินกู้ทั้งสิ้น 769 ราย วงเงิน 622.4 ล้านบาท ซึ่ง สสว.ได้ประสานขอความช่วยเหลือไปยังธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินต่างๆ
จนถึงปัจจุบัน สสว.ได้ร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายแล้วทั้งสิ้น 32 โครงการ วงเงิน 567.8 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการอีกจำนวน 16 ราย วงเงินประมาณ 750 ล้านบาท โดยได้มีการประสานการสนับสนุนเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เพื่อเร่งฟื้นฟูกิจการของผู้ประสบภัย
ส่วนการอนุมัติเงินโครงการร่วมทุนตามกรอบปกตินั้น นางจิตราภรณ์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับอนุมัติไปแล้ว 52 ราย วงเงิน 669.96 ล้านบาท โดยจะอยู่ในอุตสาหกรรมหลักๆ คือ อาหารและสุมนไพร หมวดการออกแบบและแฟชั่น หมวดธุรกิจมุ่งส่งออก หมวดธุรกิจซอฟต์แวร์และไอที หมวดการท่องเที่ยว และหมวดชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น