xs
xsm
sm
md
lg

“ทีมกู้ระเบิดใต้”เผยชีวิตอยู่บนเส้นด้าย-เบี้ยเสี่ยงภัยไม่ได้รับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย.....ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

นับตั้งแต่ต้นปี 2547 จนถึงวันนี้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้กลายเป็นพื้นที่ที่มีการลอบวางระเบิดเกิดขึ้นมากที่สุดในประเทศไทยและชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดที่ปฏิบัติหน้าที่ในภาคใต้ อันประกอบด้วย หน่วยสรรพาวุธ, หน่วยปฏิบัติการพิเศษ, ตำรวจตระเวนชายแดน และทหารชุดเฉพาะกิจ ต่างก็กลายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องปฏิบัติการเก็บกู้วัตถุระเบิดมากที่สุดเช่นเดียวกัน

จากการสำรวจของ “ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ผู้จัดการรายวัน”พบว่า เจ้าหน้าที่เก็บกู้ระเบิดที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสได้ประมาณการตรงกันว่าตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมาใน จ.ปัตตานี มีเหตุการณ์ลอบวางระเบิดทั้งของจริงของปลอม ทั้งทำงานและไม่ทำงานมีมากกว่า 150 ครั้ง และเคยต้องใช้เวลาเก็บกู้นานที่สุดถึง 4 ชั่วโมง เร็วที่สุดเพียง 15 นาที, ยะลา มีมากกว่า 200 ครั้งโดยระเบิดบางลูกใช้เวลาเก็บกู้กว่า 1 ชั่วโมงเร็วสุดอยู่ที่ไม่เกิน 15 นาที และนราธิวาส กลับเป็นพื้นที่มีการลอบวางระเบิดมากที่สุดประมาณ 300 ครั้ง โดยใช้เวลาในการเก็บกู้ตั้งแต่ 15 นาทีไปจนถึงเกือบ 3 ชั่วโมง

มีตัวเลขที่น่าวิตกอย่างยิ่งคือ ในจำนวนเหตุการณ์ลอบวางระเบิดที่เกิดขึ้นเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับจำนวนเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด รวมถึงอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่นั้นแทบจะไม่น่าเชื่อว่า บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติภารกิจเอาชีวิตของตนเองไปแขวนไว้บนเส้นดายแห่งความเสี่ยงเหล่านี้ต่างต้องทำงานกันอยู่บนพื้นฐานของความขาดแคลนไปเสียเกือบทุกอย่าง

ทว่า กลับมีเสียงก้องกังวานออกจากริมฝีปากของผู้ที่ปฏิบัติงานเก็บกู้ระเบิดเหล่านี้ในทำนองเดียวกันว่า “การที่ทุกคนยังมุ่งมั่นปฏิบัติงานอยู่ต่อเนื่องก็เพราะทุกคนมีจิตใจแห่งความเสียสละเพื่อประเทศชาติและคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นสำคัญ”

ใจ”พร้อมแต่เครื่องมือไม่พร้อม

หัวหน้าชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดจาก กก.ตชด.ในพื้นที่นายหนึ่ง เปิดเผยถึงวิธีการที่คนร้ายใช้ระเบิดแสวงเครื่องแบบจุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือในการก่อความไม่สงบว่า โดยความรู้และประสบการณ์แล้วชุดเก็บกู้ระเบิดสามารถจัดการกับระเบิดที่จุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือได้ ขอเพียงแค่ให้เรามีเครื่องมือและอุปกรณที่ครบครัน โดยเฉพาะเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ที่มีประสิทธิภาพ และรัศมีการทำงานอยู่ในขอบเขตที่เอื้อต่อการปฏิบัติงานของเรา

“ยอมรับว่าก่อนหน้านี้เรายืมเครื่องตัดสัญญาณจากบริษัทเอกชนมาใช้ในหน่วย แต่ตอนนี้เอกชนได้เอาคืนไปแล้ว ทำให้ชุดเก็บกู้ระเบิดของ ตชด.ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เวลานี้ไม่มีเครื่องตัดสัญญาณ ทำให้เราต้องทำงานกันไปตามมีตามเกิด แต่ถ้าถามว่าเราพร้อมหรือไม่ ตอบได้คำเดียวว่าพร้อมตลอด เพียงแต่เครื่องมือสำหรับที่จะให้เราทำงานนั้นไม่พร้อม”

เผยชุดกู้ระเบิดถูกคนร้ายตั้งค่าหัว

พร้อมกับเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดในพื้นที่ภาคใต้ทุกคนเปรียบเหมือนกับคนที่ทำงานปิดทองหลังพระเพราะทุกคนต้องเก็บตัวและเปิดเผยใบหน้าตัวเองให้น้อยที่สุด เพราะทุกคนอยู่ในสถานการณ์ที่เปรียบเสมือนกับต้องเล่นเกมอยู่กับคนร้ายตลอดเวลา ทำให้ชุดเก็บกู้ระเบิดเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่คนร้ายต้องการขจัดออกไปให้พ้นทางของพวกมัน

“ตอนนี้ทราบว่าพวกผมทุกคนกำลังมีค่าหัวจากฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น พวกเราจึงต้องเก็บตัวและเปิดเผยตัวให้น้อยที่สุด เพราะฝ่ายตรงข้ามคิดว่าเราคือตัวขวางทางทำให้งานของเขาไม่สำเร็จผล ดังนั้น พวกเราจึงต้องระมัดระวังในการทำงานกันทุกฝีก้าว ที่สำคัญขณะนี้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานของเราก็ยังมีน้อย แต่ละหน่วยมีอัตราให้แค่ 5 คน แต่ตอนนี้บางหน่วยเหลือเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิดเพียง 3 คนเท่านั้น” 

อุปกรณ์สำคัญสุดคือ“พระเครื่อง”

ขณะที่รักษาการหัวหน้าชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดจาก กก.ตชด.ในพื้นที่ จ.ยะลา นายหนึ่ง บอกกับเราว่า แม้จะเคยใช้เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์เป็นตัวช่วย แต่ด้วยประสิทธิภาพไม่เพียงพอรองรับการทำงานจึงส่งผลให้เกิดความสูญเสียตามมา โดยเมื่อครั้งที่มีการวางระเบิดที่สำนักงานไปรษณีย์ในยะลาเราก็ใช้เครื่องตัดสัญญาณมือถือที่มีรัศมีแค่ 10 เมตร พอทำงานไปได้แค่ 5 นาทีเรายังกู้ไม่ทันเสร็จเครื่องก็หยุดตัดสัญญาณ คนร้ายที่รอจังหวะอยู่ก็กดโทรศัพท์แล้วเกิดระเบิดขึ้น ทำให้ลูกน้องของตนต้องเสียชีวิตไป 1 คน

“ตามความเป็นจริงแล้วเราจะต้องใช้เครื่องตัดสัญญาณมีรัศมี 50 เมตรเป็นอย่างต่ำและต้องตัดสัญญาณได้ 30 นาทีเป็นอย่างน้อย เพราะการกู้ระเบิดแต่ละครั้งต้องใช้เวลา ที่สำคัญคือ เครื่องตัดสัญญาณมือถือของหน่วยเราไม่มี ที่ผ่านมาต้องไปหยิบยืมเขามา พอเขาเอาคืนก็ต้องกู้กันแบบมือเปล่า ต้องเสี่ยงกันเอาเอง ตอนนี้เราใช้ใจในการทำงานเป็นหลัก ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้แทนเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือก็คือ พระเครื่องที่ห้อยคออยู่”

เครื่องมือยังด้อยประสิทธิภาพ

ด้านสารวัตร นปพ.หัวหน้าชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดใน จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด นปพ.ในนราธิวาส ยะลา และปัตตานี จะมีเครื่องตัดสัญญาณประจำชุดละ 1 เครื่อง แต่ต้องดูแลพื้นที่ในทุกอำเภอ แถมเครื่องตัดสัญญาณที่มีอยู่ก็ยังประสิทธิภาพด้อย ใช้รองรับการปฏิบัติงานได้ไม่เต็มที่ หากเกิดการสูญเสียเจ้าหน้าที่ก็จะยิ่งส่งผลเสียต่อการปฏิบัติงาน เนื่องจากบุคลากรมีน้อยอยู่แล้วและยังจะส่งผลเสียไปยังครอบครัวของผู้สูญเสียที่จะต้องขาดผู้นำ ก่อให้เกิดปัญหามากมายตามมาอีก

“ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ขณะนี้เครื่องตัดสัญญาณมือถือมีความสำคัญมากเพราะช่วยลดความเสี่ยงให้ผู้ปฏิบัติงานได้ ที่ผ่านมาเราต้องสูญเสียบุคลากรที่มีผีมือไปโดยใช่เหตุ ทุกวันนี้เราต้องทำงานกันด้วยใจ ขณะที่คนร้ายมีเทคนิคใหม่มากมาย หากเทียบการกู้ระเบิดของเรากับสากลแล้วนานาประเทศเขาออกวิ่งไปแล้ว แต่ไทยเรายังแค่หัดเดิน เพราะต่างประเทศเขาจะไม่ให้คนของเขาเข้าใกล้ระเบิด แต่เขาจะใช่หุ่นยนต์แทน เขาคำนึงถึงทรัพยากรมนุษย์ว่ามีความสำคัญมากที่สุด” 

เครียดหน่วยเหนือเมินข้อเสนอ

และกล่าวอีกว่า เครื่องมือที่จำเป็นต้องนำมาใช้กับสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ อันที่จริงเราควรจะมีการเตรียมพร้อมมาตั้งนานแล้วคือ ชุดกันระเบิดที่ต้องเพียงพอต่อเจ้าหน้าที่ แต่นี่บางหน่วยมีอยู่แค่ชุดเดียว นอกจากนี้ต้องมีถังกันระเบิดสำหรับบรรจุระเบิดเพื่อทำลายและจะเป็นการปลอดภัยต่อเจ้าหน้าที่และประชาชนมากกว่าทำลายระเบิดในที่เกิดเหตุโดยไม่มีการป้องกัน สำหรับเครื่องตัดสัญญาณมือถือที่เหมาะสมกับการนำมาใช้ปฏิบัติงานนั้นจะต้องตัดสัญญาณได้ทุกเครือข่ายและความถี่ตั้งแต่ 900-1900 เมกะเฮิร์ต อีกทั้งระยะเวลาในการตัดสัญญาณแต่ละครั้งจะต้องมีไม่ต่ำกว่า 30 นาทีขึ้นไป

“ราคาของเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือต้องอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านบาท จึงจะสามารถรองรับการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่ผ่านมาเราเคยทำเรื่องเสนอไปยังหน่วยเหนือแล้ว แต่ก็เงียบทุกครั้ง” 

อุปกรณ์ทันสมัยไว้รับระดับ“บิ๊ก”

สารวัตร นปพ.ผู้นี้ เปิดเผยด้วยว่า ตนในฐานะชั้นสัญญาบัตรไม่มีเงินค่าเสี่ยงภัย ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชาที่ปฏิบัติงานอยู่ทุกคน แม้จะมีกำหนดไว้ให้ แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้รับค่าเสี่ยงภัย ทุกคนจึงตกอยู่ภาวะเครียด เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตัวเองบ้าง สถานการณ์ตอนนี้ก็ไว้ใจไม่ได้ มันรุนแรงขึ้นทุกวัน เราต้องเตรียมพร้อมเครื่องมือไว้ตั้งแต่ตอนนี้ เพราะยังไม่มีใครรู้ว่าเหตุการณ์จะสงบเมื่อใด แต่ถึงเหตุการณ์สงบ หากเราเตรียมพร้อมไว้ก็ไม่เสียหาย

“ถามว่าตอนนี้เรามีเครื่องมือทันสมัยใช้หรือไม่ ตอบได้เลยว่ามี แต่ส่วนใหญ่เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญควบคุมและจะนำมาใช้ก็ต่อเมื่อมีผู้ใหญ่ของรัฐบาลลงมาพื้นที่เท่านั้น ปกติจะไม่เอามาใช้ เพราะผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ยังไม่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ ส่วนจะให้ผู้ควบคุมอุปกรณ์เหล่านั้นมาช่วยสนับสนุนการทำงานของเรา เขาก็ไม่มา เพราะไม่กล้าลงพื้นที่” สารวัตร นปพ.ผู้นี้ระบุ

งบอัดฉีดรัฐยังลงมาไม่ถึง

ขณะที่เจ้าหน้าที่ นปพ.ประจำชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดในนราธิวาสนายหนึ่ง เผยว่า ตนปฏิบัติงานในชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดมาตั้งแต่ปี 2531 ไม่เคยได้รับเงินค่าวิชาความรู้ และตอนนี้เงินค่าเสี่ยงภัยที่เป็นนโยบายของรัฐบาลก็ยังไม่ตกมาถึงแม้แต่บาทเดียว

“ผมทำงานมาเกือบ 20 ปีแต่ไม่เคยได้รับเงินค่าวิชา ซึ่งตามปกติเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดจะได้เงินพิเศษในการปฏิบัติงาน ส่วนเงินค่าเสี่ยงภัยที่เป็นนโยบายของรัฐบาลจนถึงขณะนี้แล้วก็ยังไม่ได้รับแม้แต่บาทเดียวเช่นกัน อย่าว่าแต่เงินเสี่ยงภัยเลยขนาดรถที่จะออกไปปฏิบัติงานก็เก่าบางครั้งต้องเติมน้ำมันเอง ข้าวก็ต้องกินในรถเพราะมีระเบิดทุกวัน”เจ้าหน้าที่ นปพ.ประจำชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดในนราธิวาสผู้นี้กล่าวกับทีมงานของเรา

นี่คือเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ระเบิดที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังรอการสนับสนุนจากรัฐบาลที่จะจัดส่งอุปกรณ์ที่ทันสมัย ค่าเสียงภัย และค่าวิชาชีพที่พวกเขายังไม่ได้รับไปให้

กำลังโหลดความคิดเห็น