xs
xsm
sm
md
lg

คพ.ชี้น้ำทะเลสาบสงขลาวิกฤตเกินธรรมชาติจะเยียวยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สงขลา – กรมควบคุมมลพิษยันผลตรวจสอบคุณภาพน้ำ ในทะเลสาบสงขลาเสื่อมโทรมลงทุกปี แถมปัญหาสะสมเกินกว่าธรรมชาติจะเยียวยาด้วยตัวเอง การแก้ไขต้องเข้าไปให้ถึงแหล่งกำเนิดน้ำเสีย ด้านสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ยกเทียบพื้นที่อ่าวที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำเหมือนกันในญี่ปุ่น เน้นทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามีส่วนร่วมฟื้นฟูและพัฒนา เผยความคืบหน้า 9 โครงการตามแผน “หุ้นส่วน...ฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา” ที่เดินหน้าไปแล้วตั้งแต่ปี 2547

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (สสท.) ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จัดการประชุมสัมมนาสรุปผลการดำเนินโครงการ “หุ้นส่วน...ฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา” ภายใต้การดำเนินงานของกรมควบคุมมลพิษ ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ปี 2547 ณ ห้องตะกั่วป่า โรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ จ.สงขลา วันที่ 27 มกราคม 2548 โดยมีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ประชาชน นักวิชาการ องค์กรภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 200 คน พร้อมมีการมอบรางวัลแก่โรงงานนำร่องดีเด่นด้วย

นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำในทะเลสาบสงขลาของกรมควบคุมมลพิษพบว่า แต่ละปีคุณภาพน้ำอยู่ในขั้นเสื่อมโทรมเรื่อยๆ แม้จะมีการฟื้นฟูและพัฒนาทุกปีอย่างต่อเนื่อง

จากการสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2547 คุณภาพน้ำดีขึ้นกว่าเดิม ทว่าโดยภาพรวมแล้วก็ยังอยู่ในระดับเสื่อมโทรม หากมองย้อนไปในอดีตถึงการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย มักมองแค่ระบบบำบัดน้ำเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปัจจุบันปัญหานี้ได้สะสมเกินว่าที่ธรรมชาติจะฟื้นฟูด้วยตัวเอง จึงจำเป็นที่ต้องมองย้อนไปถึงแหล่งกำเนิดน้ำเสียและเข้าไปแก้ไขเพื่อลดปัญหาให้มากที่สุด

สาเหตุของน้ำเสียในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากภาคอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมยาง อาหารทะเล อุตสาหกรรมพื้นบ้านที่รัฐกำลังส่งเสริมในรูปของ OTOP และการเกษตรระดับชุมชน เช่น การเลี้ยงกุ้งและสุกร เป็นต้น หากผู้ประกอบการนำแนวทางการแก้ไขถึงสาเหตุไปใช้แล้ว เชื่อว่าจะสามารถประหยัดวัตถุดิบ น้ำ และพลังงานได้ด้วย

ทั้งนี้ จะต้องมีการสำรวจพฤติกรรมการใช้น้ำ และการจัดการน้ำ โดยในรอบปีที่ผ่านมาได้รณรงค์ให้มีการใช้ระบบนำร่อง สำหรับการจัดบำบัดน้ำเสียในชุมชนและอุตสาหกรรม ซึ่งได้ผลตอบรับทำให้ประหยัดน้ำได้ร้อยละ 21 ประหยัดวัตถุดิบได้ร้อยละ 21 ประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ร้อยละ 13 และลดปริมาณการเกิดของเสียได้ร้อยละ 6

ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวเสริมว่า ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ แต่กำลังเผชิญปัญหาน้ำเสียและทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม อู่ข้าวอู่น้ำที่เสื่อมโทรมนี้เป็นเหมือนกับพื้นที่อ่าวที่เป็นแหล่งพัฒนาและเป็นอู่ข้าวอู้น้ำในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งครอบคลุม 3 จังหวัดเหมือนกันด้วยคือ จังหวัดโตเกียว โยโกฮาม่า และคานาซาว่า

การแก้ไขปัญหาจึงต้องมีแกนนำเป็นเจ้าภาพ ในการร่วมพูดคุยแก้ไขปัญหา มีการจัดการประชุมให้ทุกภาคส่วนของสังคมในพื้นที่ได้มีส่วนร่วม โดยมี 3 จังหวัดทั้งสงขลา พัทลุงและนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเชื่อมโยงกับทะเลสาบสงขลา ขับเคลื่อนการประชุมฟื้นฟูระบบนิเวศทางวิทยา และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน


ด้าน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินตามแผน “หุ้นส่วน...ฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา” ทั้ง 9 โครงการ เริ่มจากโครงการเสริมสร้างศักยภาพการจัดการมลพิษจากแหล่งกำเนินประเภทอุตสาหกรรมว่า
ปัจจุบันมีการสร้างเครือข่ายและเพิ่มศักยภาพทั้งการฝึกอบรม การเยี่ยมชมสถานประกอบการที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี และการเยี่ยมชมกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น การปลูกป่า การทำปุ๋ยหมักน้ำชีวภาพ (EM) ผ่านสมาชิกเครือข่าย “รักษ์...เลสาบ” จำนวน 270 ราย ประกอบด้วย โรงงานอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมชุมชน, หน่วยงานท้องถิ่น, องค์กรท้องถิ่น, ประชาชน เป็นต้น ด้วยเป้าหมายสูงสุดที่จะให้คนในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นสมาชิก 90% ในอนาคตอันใกล้

จากการสำรวจมีโรงงานในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา รวม 175 โรงงาน แบ่งเป็น 5 ประเภทคือ อุตสาหกรรมยาง, อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง, อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป, อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมยางแผ่นรมควัน หากมีการนำแนวทางการลดและป้องกันมลพิษ โดยเน้นเฉพาะมาตรการที่ไม่มีการลงทุน จะส่งผลให้ลดการเกิดน้ำเสียประมาณ 1,700 ลูกบาศก์เมตร/วัน ซึ่งได้มีโรงงานนำร่องในการประยุกต์ใช้ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานทั้ง 5 ประเภทไปแล้ว

โครงการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางสังคม บริเวณพื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลา ในพื้นที่ 7 ลุ่มน้ำคือ คลองอู่ตะเภาตอนบน-ล่าง, คลองรัตภูมิ, คลองพะวงและคลองบางโหนด, คาบสมุทรสทิงพระตอนบน-ล่าง และบริเวณทะเลสาบตอนล่าง ได้มีการแบ่งระดับโรงงานไว้ 5 ระดับ ผลปรากฏว่า ระดับ “ยอดเยี่ยม” ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมใดได้รับ ระดับ “ดีมาก” มีจำนวน 7 แห่ง (9%) ระดับ “ดี” มีจำนวน 3 แห่ง (4%) ระดับ “พอใช้” มีจำนวน 27 แห่ง (35%) และระดับ “ปรับปรุง” มีจำนวน 40 แห่ง (52%)

โครงการนำร่องระบบการจัดการน้ำเสียจากแหล่งกำเนิด ประเภทชุมชนขนาดเล็ก มีการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียที่คลองรี และ อ.ปากพะยูน โดยอยู่ในช่วงทดลองเดินระบบเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบบำบัดน้ำเสีย

โครงการนำร่องระบบการจัดการน้ำเสียจากฟาร์มสุกรในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามี อบต.ท่าหิน อ.สะทิงพระ จ.สงขลา เข้าร่วมโครงการ และได้จัดการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแบบก๊าซชีวภาพ ขนาด 600 ลบ.ม. รองรับนำเสียจากสุกร 2,500 ตัว จาก 7 ฟาร์มสุกรที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณวันละ 300 ลบ.ม. ใช้หุงต้มในครัวเรือนประมาณ 300 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการต่อเชื่อมท่อกับระบบให้อยู่ในชุมชนต่างๆ โดยในช่วงแรกยังคงให้บริการฟรี ก่อนที่จะมีการเก็บค่าบริการภายหลัง คาดว่าจะสามารถเดินระบบได้ภายในเดือนมีนาคมปีนี้

โครงการเสริมสร้างศักยภาพการจัดการมลพิษจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเกษตรกรด้านเทคนิคการเลี้ยง การรักษาคุณภาพน้ำ และการบำบัดที่เหมาะสม มีเกษตรกรเข้ารวมงานสัมมนา “ชาวนากุ้งรักษ์...เลสาบได้อย่างไร” เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2547 ที่จังหวัดสงขลา จำนวน 220 คน สามารถสร้างรายได้ใน 3 จังหวัดทั้งสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ได้เป็นอย่างดี

โครงการนำร่องระบบบำบัดน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดประเภทการเพราะเลี้ยงสัตว์น้ำ เริ่มจากการประเมินปริมาณมลสารจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพบว่า มีบีโอดี 362.8 ตันต่อปี และไนโตรเจนรวม 208.6 ตันต่อปี แนวทางการบำบัดน้ำทิ้งที่เหมาะสมคือ ระบบบำบัดที่ใช้ร่วมกัน เนื่องจาก 73% เป็นเกษตรกรรายย่อย โดยนำเสนอแนวทางการจัดทำระบบน้ำทิ้งในพื้นที่ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

โครงการจัดทำต้นแบบระบบการจัดการของเสียจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีชมรมผู้เลี้ยงกุ้งปากพะยูน อ.ปากพะยูน จ.พัทลุงจำนวน 11 ราย เป็นพื้นที่จัดทำต้นแบบด้วยการทำบ่อทิ้งเลน บ่อเติมอากาศ และบ่อตกตะกอน เพื่อให้สามารถนำน้ำที่ใช้แล้วมาใช้ได้อีกครั้ง

โครงการเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลสาบสงขลาในฤดูแล้ง (เมษายน) และฤดูฝน (สิงหาคม) โดยได้กำหนดสถานีเก็บตัวอย่างน้ำจำนวน 15 สถานี ในทะเลน้อย ทะเลหลวง และทะเลสาบสงขลา โดยสรุปคุณภาพน้ำในทะเลน้อยและทะเลหลวงอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนทะเลสาบสงขลามีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม มีปัญหาการปนเปื้อนของแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์ม และปริมาณแอมโมเนียในแหล่งน้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น